GPS Tracking ความสำเร็จและการต่อยอดสู่ Smart Transportation

Share

Loading

รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา Smart City
และ Intelligent Transportation System

ปัจจุบันมีรถที่ติดตั้งระบบ GPS Tracking ตามโครงการของกรมการขนส่งประมาณ 300,000 คัน ครอบคลุมในส่วนของรถบรรทุกขนส่งสินค้า และรถโดยสารประจำทางขนส่งมวลชน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว โดยผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่มา 2 ครั้ง และช่วงเทศกาลสงกรานต์มา 2 ครั้ง

ความสำเร็จที่ผ่านมา

จากสถิติของข้อมูลรถประมาณ 300,000 คัน ในการกระทำความผิดโดยขับรถใช้ความเร็วเกินกว่า 90 กม./ชม. ต่อเนื่องเกิน 2 นาที ซึ่งในระบบจะถือว่าเป็นการกระทำความผิด 1 ครั้ง

“เมื่อเราใช้ข้อมูลเปรียบเทียบสถิติจาก 12 เดือนที่ผ่านมา โดยคือเริ่มจากมกราคม – ธันวาคม พ.ศ. 2560 ในกลุ่มรถบรรทุกมีค่าเฉลี่ยของการทำความผิดต่อคัน/เดือน ประมาณ 16 ครั้ง และลดลงไปเหลือไม่ถึง 8 ครั้งต่อคัน/เดือน”

“กลุ่มรถโดยสารประจำทางเป็นกลุ่มที่มีการกระทำความผิดเฉลี่ยสูงกว่ารถบรรทุก คือเฉลี่ยอยู่ประมาณ 40-50ครั้งต่อคัน/เดือน และลดลงเหลือไม่ถึง 20 ครั้งต่อคัน/เดือน”

ด้วยเหตุนี้สถิติในเชิงข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่า ระบบ GPS Tracking ของกรมขนส่งทางบกที่ใช้กำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้การกระทำความผิดในเชิงความเร็วลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งสองกลุ่มเป้าหมาย

“สำหรับสถิติในเชิงพื้นที่ เมื่อได้ทำการเปรียบเทียบความเร็วในช่วง 3 เดือนแรก กับ 3 เดือนสุดท้าย ก็พบว่ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั่วประเทศ ในกลุ่มรถที่กำกับดูแลมีการใช้ความเร็วลดลง สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองว่าการปรับใช้ในระดับพื้นที่ ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกเป็นวงกว้างทั่วประเทศ”

มุ่งสู่ความสำเร็จในก้าวต่อไป

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในขั้นต่อไปคือการพยายามยกระดับการใช้งานให้เป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ระบบจะเป็นการ Monitor หมายความว่าเมื่อมีการกระทำความผิดใช้ความเร็วเกินกำหนด ก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรแจ้งไปที่เจ้าของรถ หรือโทรไปที่คนขับรถ แต่ในขั้นนี้เราจะพัฒนาให้ไปถึงจุดที่การแจ้งเตือนเป็นระบบอัตโนมัติ”

นอกจากนี้การแจ้งเตือนยังไม่เจาะจงเฉพาะในเรื่องของความเร็วเท่านั้น แต่จะมีการแจ้งเตือนในขณะที่ขับรถเข้าใกล้จุดเสี่ยงหรือจุดอันตรายต่าง ๆ เพื่อที่จะให้คนขับรถเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

Big data analytics

“เมื่อมีฐานข้อมูลซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลปริมาณมหาศาลในระดับประเทศ โดยเป็นข้อมูลด้านการคมนาคมในรูปแบบ Real Time ที่ในปัจจุบันได้มีการใช้ analytics ในเรื่องของความปลอดภัยไปแล้ว เช่น จุดไหนเป็นจุดที่มีการใช้ความเร็วซ้ำกันบ่อย ๆ จุดไหนที่ชั่วโมงระยะเวลาการทำงานเกินที่ระเบียบกำหนดไว้บ่อย ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในเชิงนโยบายในการออกมาตรการต่าง ๆ”

นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จาก Big data analytics ในด้านอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น การให้ข้อมูลสำหรับผู้โดยสาร ชี้พิกัดตำแหน่งของรถ “ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีโครงการที่จะดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของกรมการขนส่งทางบกคือ Smart Terminal ซึ่งจะทำให้สถานีรถโดยสารของเรากลายเป็น Smart Terminal ทำให้ผู้โดยสารรู้ว่ารถที่กำลังจะเดินทางไปอยู่ที่ไหน อีกกี่นาทีรถจะเข้าสถานี เหมือนเวลาเราไปสนามบิน ซึ่งเราจะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้”

“สถานีขนส่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมการขนส่งทางบก 80 กว่าสถานีทั่วประเทศจะได้รับการพัฒนา โดยที่ผู้ประกอบการเดินรถประจำทางไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ใช้เครื่องมือ GPS ที่เชื่อมระบบเข้ามา” นี้คือการใช้ข้อมูลมาสร้างประโยชน์ ที่ช่วยในหลาย ๆ ด้านทั้งในแง่ของการให้บริการประชาชน และในแง่ของการกำกับดูแล ในกรณีที่รถประจำทางไม่เข้าสถานี ซึ่งถือเป็นช่องว่างที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพในการดูแลความพร้อมของรถและคนขับรถ

นอกจากนี้ยังมีสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในด้านอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อน เช่น การวางแผนเส้นทางการขนส่งสินค้า รถบรรทุกสินค้าที่วิ่งอยู่มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เส้นทางใดเป็นเส้นเลือดหลักของการขนส่งระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการกำหนดนโยบายด้าน logistics “จะเห็นภาพได้เลยว่า ถนนสายข้าวมีการลำเลียงมาอย่างไร ถนนสายน้ำตาลมีการลำเลียงมาอย่างไร เป็นข้อมูลปัจจุบัน ซึ่งหากประเมิลมูลค่าแล้วถือว่ามีมูลค่ามหาศาล”

Smart Transportation6

รวมไปถึงการนำข้อมูลไปใช้เพื่อประเมินสภาพการจราจรระดับประเทศ จะเห็นได้ว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้จัดทำแผ่นที่โดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกันนี้ ในการประเมินและเสนอแนะให้ประชาชนได้วางแผนการเดินทาง หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น และจากฐานข้อมูลชุดนี้ตำรวจท้องถิ่นก็สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อที่จะให้บริการประชาชนได้ด้วย สิ่งเหล่านี้คือมิติในการนำฐานข้อมูลชุดเดียวกันไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย

“แต่เป้าหมายสุดท้ายของเรา คือการเปิด Open Data เพื่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาในเรื่องอื่น ๆ ทั้งในแง่ของการวิจัยพัฒนา ทั้งในแง่ของการใช้งานข้ามหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐกับภาครัฐ รวมไปถึงในภาคของเอกชนและประชนด้วย”

ความร่วมมือคือความยั่งยืน

“กล่าวได้ว่าตอนนี้รากฐานโครงสร้างได้ถูกวางเอาไว้หมดแล้วโดยกรมการขนส่งทางบก ผมมองว่าลำดับต่อไปคือการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันในการหาแนวทางที่จะทำให้ระบบมีความสมบูรณ์และยั่งยืน เพราะว่าลำพังในด้านของเทคโนโลยีอย่างเดียว หรือการบริหารจัดการของกรมการขนส่งเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นสิ่งที่เราทำสำเร็จแล้วในขั้นแรก แต่ตอนนี้เรามาถึงขั้นที่สอง เราต้องมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน

“เราต้องร่วมกันทำสงครามในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ต้องใช้คำว่าสงครามเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนสร้างความสูญเสียให้แก่ประเทศของเราเป็นอย่างมาก”

Smart Transportation ปฏิรูปโครงสร้างระบบการขนส่งทางถนนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ