การเพิ่มพื้นที่บันทึกภาพที่จะกล่าวถึงนี้ ไม่รวมถึงการสำรองข้อมูลออกมาเก็บในแผ่น CD หรือ DVD หรือ Handy drive เนื่องจากทุกท่านสามารถสำรองข้อมูลเอาไว้ได้นานเท่าที่ต้องการ แต่สิ่งที่จะเน้นต่อไปนี้คือเรื่องของการสำรองข้อมูลที่ยังอยู่ในระบบ เพราะเครื่องบันทึกภาพบางรุ่นที่เป็น Standalone นั้นไม่มีเครื่องไรท์แผ่น CD หรือ DVD และไม่มี USB port ในตัว การจะเอาข้อมูลออกมาได้ก็ต้องนำเครื่องไปต่อสาย LAN แล้วต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ แล้วก็ลงโปรแกรมเพื่อดึงภาพออกมาไรท์ใส่แผ่นอีกที กระบวนการเหล่านี้ อาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่ช่ำชองด้านเทคนิค แต่อาจเป็นเรื่องยุ่งยากใหญ่โตสำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เลย
มีบางกรณีที่ผู้ใช้ตั้งค่าระบบเอาไว้ให้ Rewrite หรือ อัดทับของเดิมได้ทันทีเมื่อฮาร์ดดิสก์เต็ม และหลายครั้งที่เมื่อต้องการดูภาพย้อนหลังแต่กลับพบว่าถูกอัดทับไปแล้ว บางท่านไม่เข้าใจก็จะโกรธเคืองกล้องวงจรปิดเอา หาว่าซื้อมาแล้วไม่มีประโยชน์ โดยลืมนึกไปว่าอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นเครื่องมือเท่านั้น แต่คนต่างหากที่จะนำเครื่องมือนี้มาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การทำให้ระบบสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้นานขึ้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีดังนี้
1. เพิ่มขนาดฮาร์ดดิสก์ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกติดตั้งระบบ ก็อาจจะยังพอมีเวลาทันที่จะพิจารณาเพิ่มขนาดฮาร์ดดิสก์ เช่น จากเดิมที่มากับเซ็ตที่ขายเป็นฮาร์ดดิสก์ขนาด 250GB ก็ขอเพิ่มเป็น 320GB หรือ 500GB หรือเบิ้ลเป็น 500GB 2 ลูก จะได้เป็น 1000GB หรือ 1Terabyte ไปเลย หรือในรายที่ติดตั้งระบบไปแล้วก็สามารถเพิ่มฮาร์ดดิสก์ด้วยตัวเองได้ แต่อาจต้องอาศัยความรู้ทางช่างเล็กน้อย แต่ต้องรู้ก่อนว่า ต้องการสำรองข้อมูล
ให้ได้มากสุดเป็นเวลากี่วัน แล้วจึงมาคำนวณดูว่าควรใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาดเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ
2. ถ้ายังไม่อยากเพิ่มฮาร์ดดิสก์ มีอีกวิธีหนึ่ง คือ การเปลี่ยน VDO compression format หรือรูปแบบการบันทึก โดยปกติเครื่องบันทึกภาพจะมีฟังก์ชั่นให้เลือกได้ว่าคุณต้องการบันทึกในแบบใด เช่น บันทึกเป็นแบบ frame หรือบันทึกแบบ CIF
3. ลดความเร็วการบันทึก หรือ Recording Speed ในกรณีปกติการบันทึกแบบ frame ในระบบ PAL จะต้องบันทึกด้วยอัตราเร็ว (frame rate) 25 เฟรมต่อวินาที จึงจะเห็นภาพเคลื่อนไหวราบรื่นเป็นปกติ แต่เราสามารถลดความเร็วการบันทึกเฟรมลงได้ตามสเต็ปที่ระบบกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ลดกันไปทีละครึ่ง เช่น จาก 25 ไปเป็น 12.5, 6.25 และ 3.12 เฟรมต่อวินาที ตามลำดับ เช่นเดียวกันในการบันทึกแบบ CIF ที่สามารถลดความเร็วลงได้ เริ่มต้น จาก 100 เป็น 50, 25, 12.5 เฟรมต่อวินาที ตามลำดับ (อ้างจากเครื่องบันทึกภาพแบบ 4 chanels)อย่างไรก็ตามการลดความเร็วการบันทึกนี้จะทำให้ไฟล์ภาพเหตุการณ์ลดขนาดลง แต่ผลที่ตามมาก็คือ ภาพย้อนหลังจะเป็นภาพกระตุกๆ ยิ่งลดลงมากยิ่งกระตุกมาก เพราะใน 1 วินาที ระบบได้บันทึกภาพจำนวนเฟรมน้อยลงนั่นเอง
4. อีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์บันทึกได้นานขึ้น คือการลดคุณภาพของภาพเหตุการณ์ที่บันทึก หรือ Image Quality ซึ่งจะมีให้เลือกเป็น best, high, normal, basic เราสามารถตั้งค่าคุณภาพตรงนี้ได้ ยิ่งลดมาก ก็ยิ่งช่วยลดขนาดไฟล์ภาพเหตุการณ์ลง แต่ก็จะได้ภาพเหตุการณ์ที่คุณภาพด้อยลงด้วยเช่นกัน
5. ตั้งค่า Motion Detection เครื่องบันทึกภาพรุ่นใหม่ๆ เดี๋ยวนี้มีฟังก์ชั่นนี้กันแทบทุกยี่ห้อแล้ว เป็นการตั้งค่าให้เครื่องบันทึกภาพ ทำการบันทึกเมื่อมีการเคลื่อนไหวผ่านหน้ากล้องในบริเวณที่เรากำหนด หากไม่มีการเคลื่อนไหวในบริเวณนั้นเลยระบบก็จะไม่บันทึก ซึ่งในการตั้งค่านี้สามารถเลือกเอาส่วนพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ออกไปได้ เช่น บริเวณที่จับภาพใบไม้ที่เคลื่อนไหวเพราะลมพัดตลอดเวลา ทำให้ระบบไม่มองการเคลื่อนไหวในส่วนนั้น และไม่ทำการบันทึกแม้จะมีการเคลื่อนไหวในบริเวณนั้น นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหว ยิ่งอ่อนไหวมากระบบก็จะตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวมาก กล่าวคือ หากมีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยระบบก็จะทำการบันทึกทันที ดังนั้นจะเห็นว่าวิธีนี้จะใช้ไม่ค่อยได้ผลนักกับสถานที่ติดตั้งกล้องที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
จากที่แนะนำมาทั้งหมดนี้ก็เป็นทางเลือกง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราใช้พื้นที่ฮาร์ดดิสก์ที่มีอยู่ได้นานขึ้น โดยใช้คุณสมบัติในการทำงานของเครื่องบันทึกภาพเข้ามาช่วย แต่เราก็ควรเลือกให้เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ได้ภาพเหตุการณ์ย้อนหลังที่ไม่ชัดเจน ซึ่งก็อาจไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ข้อมูลจาก
- http://www.suchinko.com อ้างอิงที่มา thaicctvclub
-http://www.satpp.com/