เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยกับการจารกรรมลายนิ้วมือ

Share

Loading

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับลายนิ้วมือถือเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์หลาย ๆ ด้าน รวมถึงในด้านของการรักษาความปลอดภัยเพื่อใช้ในการคัดแยกบุคคลที่จะเข้าถึงข้องมูล หรือเข้าถึงพื้นที่หวงห้าม

โดยการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือเป็นสาขาหนึ่งในวิชาการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (personal identification) และจากการศึกษาค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลาช้านาน ได้พบว่าลักษณะเส้นสายบนลายนิ้วมือที่ปรากฎนั้นสามารถนำไปใช้ในการตรวจพิสูจน์บุคคลได้อย่างแม่นยำ โดยผลสรุปทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า มนุษยชาติจำนวน 600 ล้านคน ในระยะเวลา 300 ปี จะมีโอกาสที่ลายนิ้วมือซ้ำกันเพียง 1 คู่เท่านั้น และในส่วนของทารกเมื่ออยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลา 7 เดือนก็จะมีลายนิ้วมือเป็นของตัวเอง โดยเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลายนิ้วมือก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือแม้ว่าจะประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายกับลายนิ้วมือ แต่ร่างกายก็สามารถจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้กัลคืนมาเหมือนเดิมได้ ดังนั้นธรรมชาติของลายนิ้วมือจึงเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้เป็นบรรทัดฐานในการยืนยันอัตลักษณ์บุคคลของหน่วยงานทั่วโลก

101553132996

ความจริง 2 ประการเกี่ยวกับลายนิ้วมือ
1.ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ของแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกัน (Uniqueness) ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีลักษณะเฉพาะพิเศษที่แตกต่างกัน
2.ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ของแต่ละบุคคลนั้นไม่เปลี่ยนแปลง (Permanence) หรือแม้แต่ตายแล้วถ้ามีการรักษาสภาพศพให้ดี ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก็จะคงสภาพไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น การใช้ลายนิ้วมือ ลายฝ่ามือ ลายฝ่าเท้า ในการตรวจพิสูจน์บุคคลจึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ด้วยเหตุนี้เองทำให้เทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยได้นำเอาคุณลักษณะเฉพาะของลายนิ้วมือมาใช้ในด้านการรักษาความปลอดภัย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก อีกทั้งยังได้พัฒนารูปแบบในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างมากมายในระบบนิรภัยต่าง

ดังนั้นการจารกรรมลายนิ้วมือจึงเป็นภัยอย่างหนึ่งที่ควรจะเฝ้าระวังอย่างไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะหากมีการคัดลอกหรือจารกรรมลายนิ้วมือของเราไป ก็อาจจะทำให้เหล่ามิจฉาชีพก้าวผ่านการสกัดกั้นของระบบรักษาความปลอดภัยและก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อันเป็นช่วงเวลาของการลงประชามติของประเทศไทยที่ผ่านมา ก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำอันสุ่มเสียงต่อความปลอดภัย เพราะมีคนจำนวนมากได้ถ่ายภาพนิ้วหัวแม่มือของตนเองแล้วเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ จนกลายเป็นประเด็นซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถงในแวดวงวิชาการด้านระบบรักษาความปลอดภัยว่าสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลเสียได้หรือไม่

สแกนนิ้ว (2)

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เปิดเผยว่า “จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีผู้ไม่หวังดีสามารถจารกรรมข้อมูลของประชาชนที่ไปดำเนินการลงคะแนนประชามติในกลุ่มที่มีการโชว์รูปถ่ายนิ้วซึ่งมีการปั๊มหมึกได้ โดยจากกรณีดังกล่าวขอให้ประชาชนอย่างเป็นกังวล เนื่องจากในการโจรกรรมลายนิ้วมือได้จะต้องดำเนินการโดยการถ่ายรูปผ่านกล้องที่มีความละเอียดสูง และต้องซูมถ่ายเข้าไปให้เห็นเฉพาะในบริเวณหัวแม่มือที่มีการปั้มหมึกเท่านั้น ฉะนั้นประชาชนที่ถ่ายรูปโชว์นิ้วที่ปั๊มหมึกแบบครึ่งตัว หรือให้เห็นหน้าเจ้าของนิ้วด้วย จึงไม่น่าจะมีความละเอียดเพียงพ่อที่จะเป็นการจารกรรมรายนิ้วมือได้ ซึ่งปัจจุบันนี้การค้นหาลายนิ้วมือโดยภาพนั้น ยังให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับการค้นหารายนิ้วมือจากการจับสิ่งของต่าง ๆ เช่น แก้วหรือกระจก เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศไทยเองยังพบว่า การเข้าถึงข้อมูลที่อาศัยลายนิ้วมือยังมีไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งที่จะเห็นได้ เช่น การแตะนิ้วเช็คชื่อเข้างาน หรือปลดล็อกหน้าจอโทรศัพท์เท่านั้น” นายฉัตรชัย กล่าว

ดังนั้นท่านผู้อ่านจึงสบายใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรจะนิ่งนอนใจ และหากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีการจารกรรมลายนิ้วมือ เราจะนำกลับมาอัพเดทให้ท่านผู้อ่านรับทราบอย่างแน่นอน

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.prachachat.net
www.hitop.co.th
www.secnia.go.th
www.khaosod.co.th
www.thaimobilecenter.com
www.สแกนนิ้ว.com