Airport Security Technology (เทคโนโลยีความปลอดภัยสนามบิน)

Share

Loading

tachit-img

เตชิต ทิวาเรืองรอง
Security & Emergency Advisor
Security systems Magazine : August – September 2016

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน ช่วงเวลาที่ท่านถือนิตยสารฉบับนี้ จะอยู่ในช่วงที่เราพบความสูญเสียที่แยกราชประสงค์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเราคงไม่อาจลบล้างภาพของความโหดร้ายของกลุ่มผู้กระทำการได้ ผมใคร่ขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านตั้งอธิฐานจิต เพื่อแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ มา ณ ที่นี้อีกครั้งครับ

หลังจากนั้น เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลกไม่เลือกสถานที่ วันและเวลา แสดงให้เห็นว่าความไม่ปลอดภัยจากการลงโทษโดยธรรมชาติหรือภัยธรรมชาติและภัยจากฝีมือมนุษย์ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

Airport Security Technology1

ฉบับนี้ผู้เขียนอยากจะขอกล่าวถึงภัยที่เกิดขึ้นในวงการการบินอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าช่วงปีที่ผ่านมาภัยในแวดวงการบินเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งมีทั้งไม่เกิดความเสียหายแต่เสียเวลาและเกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะในปีนี้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่มีระเบิดสนามบินที่เป็นข่าวครึกโครมถึง 3 ครั้งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินที่กรุงบรัสเซลประเทศเบลเยี่ยม สนามบินกรุงแองการ่า ประเทศตุรกี และสนามบินเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ล้วนแล้วแต่เกิดความเสียหายต่ออาคารสถานที่ ผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงภาพลักษณ์ของแต่ละประเทศซึ่งแน่นอนว่าผู้คนจำนวนหนึ่งจะตั้งคำถามถึง “ระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบิน ที่ไม่มีประสิทธิภาพ” หรือ “เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบินไม่มีประสิทธิภาพขาดความเอาใจใส่ในเรื่องการรักษาความปลอดภัย”

การบริหารจัดการความปลอดภัยสนามบิน (Airport Security Management) มี 3 องค์ประกอบหลักที่สำคัญ คือ Procedure, Trained People และ Technology ถูกจัดว่าเป็นการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด จึงต้องนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ผ่านการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ (Certified Security Expert) เพื่อปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล (อาทิ ICAO, TSA หรือ EASA) เป็นการบริหารจัดการความปลอดภัยแบบบูรณาการ

ในวารสาร Security Systems ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม ปีพ.ศ. 2558 ผู้เขียนได้เขียนถึง Airport Security Checkpoint – จุดตรวจค้นสนามบิน (ปัจจุบัน) ผู้โดยสารขาออกไปแล้ว ซึ่งเป็นการรักษาความปลอดภัยก่อนเข้าพื้นที่ควบคุมขั้นสูงในส่วนของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งเป็นจุดตรวจค้นตัวผู้โดยสารและสัมภาระติดตัวก่อนขึ้นเครื่องที่สำคัญที่สุด

Airport Security Technology3

ในการปฏิบัติการด้านการรักษาความปลอดภัยสำหรับตัวผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่การบินและพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสนามบิน มีกระบวนการที่ชัดเจนเป็นไปตามมาตรฐานควบคุมขององค์กรการบินพลเรือนสากล (ICAO) ในขณะที่ประชากรในสนามบินอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้มารับ – ส่งไม่ได้เดินทางด้วย จะไม่ได้ถูกตรวจสอบผ่านกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากในการรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะเขตนอกพื้นที่ควบคุม ทำไมผู้เขียนถึงกล่าวเช่นนั้น ถ้าท่านลองนึกภาพของสนามบินทั่ว ๆ ไป เมื่อเราไปถึงอาคารผู้โดยสาร กระบวนการแรกก็ต้อง check-in และโหลดกระเป๋าสัมภาระ (ถ้ามี) เมื่อได้บัตรโดยสาร (boarding pass) แล้วต่อไปจะไปสู่ขั้นตอนของ Airport security checkpoint จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้า – ออกนอกประเทศ (immigration process) กรณีที่เดินทางต่างประเทศ หลังจากนั้นผู้โดยสารจะเข้าสู่พื้นที่ควบคุม ซึ่งหมายถึงว่าผู้โดยสารได้ผ่านกระบวนการด้านการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลเรียบร้อยแล้ว

Airport Security Technology6

คราวนี้เชิญท่านผู้อ่านออกมาจากพื้นที่ควบคุมของสนามบิน (ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยทราบมาว่าพื้นที่ควบคุมมีทั้งส่วนที่เรียกว่า “Air Side” และ “Land Side” ซึ่งอาจจะมีการกล่าวถึงในลำดับต่อ ๆ ไปด้วย) เพื่อมาดูว่าผู้ให้บริการสนามบินสามารถดำเนินการด้านการรักษาความปลอดภัยกับผู้ที่มารับ – ส่งได้หรือไม่ ด้วยกระบวนการอย่างไร และเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่อีกทั้งเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้บางอย่างก็อาจจะแตกต่างกันด้วย การเข้าไปในพื้นที่สนามบินทั่วไปของทั้งผู้โดยสาร ผู้มารับ – ส่ง เจ้าหน้าที่การบิน และพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ในสนามบิน ก็คงหนีไม่พ้นรถโดยสารสาธารณะ (รถบัส, รถแท็กซี่, รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน) และรถโดยสารส่วนตัวทุกประเภท เทคโนโลยีสำหรับการตรวจสอบแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือแบบที่ใช้ระบบขนส่งทางรางและแบบที่ใช้ระบบขนส่งทางถนน

เทคโนโลยีความลอดภัยสำหรับผู้เดินทางเข้าสู่สนามบินด้วยระบบขนส่งทางราง

ในบางสนามบินหรือบางประเทศถ้าผู้ให้บริการสนามบินทำความร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่งทางรางได้จะสามารถทำการ check – in และ load กระเป๋าเข้าใต้ท้องเครื่องบิน ด้วยการผ่านขั้นตอนกระบวนการของ Security Checkpoint ที่สถานีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินได้เลย แต่ถ้าไม่มีความร่วมมือดังกล่าวที่สถานีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินที่สนามบินจะต้องติดตั้งระบบ Security Checkpoint และไม่ว่าจะเป็นอย่างไหนก็มีข้อเสียคือจะต้องใช้เวลาในกระบวนการตรวจสอบนาน เนื่องจากต้องตรวจทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารหรือไม่ แต่ข้อดีก็คือทุกคนจะถูกสกรีนหรือตรวจสอบก่อนเข้าไปในบริเวณตัวอาคารผู้โดยสารของสนามบิน การ implement ระบบ Security Checkpoint ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ แต่ผู้เขียนขออนุญาตไม่กล่าวไว้ในที่นี้ เพราะอาจมีผลกระทบในด้านลบขึ้น

Airport Security Technology7

เทคโนโลยีความปลอดภัยสำหรับผู้เดินทางเข้าสู่สนามบินด้วยระบบขนส่งทางถนน

เนื่องจากยานพาหนะประเภทนี้ จะต้องใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายดังนี้
– High Speed Under Vehicle Scanner with License Plate Recognition System ระบบตรวจตราใต้ท้องรถความเร็วสูงพร้อมตรวจสอบรูปลักษณ์และป้ายทะเบียน ซึ่งการติดตั้งระบบนี้ต้องได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลฐานข้อมูลทะเบียนรถทุกประเภท และหน่วยงานกำกับดูแลรถหาย เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลรถต้องห้ามหรือต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ ต้องติดตั้งทุกช่องทางเดินรถและควรมีการปรับปรุงพื้นผิวถนนเพื่อให้ยานพาหนะทุกคันต้องชะลอความเร็วก่อนผ่านระบบนี้
– High Speed Automatic Ballard หรือ Road Blocker System ระบบยกสิ่งกีดขวางหรือป้องกันยานพาหนะความเร็วสูงอัตโนมัติ สำคัญที่สุดระบบนี้ต้อง integrate หรือทำงานร่วมกับระบบแรก เพื่อขัดขวางการเข้าสู่พื้นที่อาคารโดยสารโดยทันที และเช่นเดียวกันต้องติดตั้งทุกช่องทางเดินรถ
– มอเตอร์ไซค์ ต้องมีช่องทางเฉพาะและจัดพื้นที่จอดให้ห่างจากตัวอาคารผู้โดยสาร ที่สำคัญควรจะอนุญาตเฉพาะมอเตอร์ไซค์ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสนามบินเท่านั้น เพราะจะได้ทำประวัติรถและผู้ขับขี่ไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงบนระบบฐานข้อมูลทะเบียนรถทุกประเภทด้วย

ท่านผู้อ่านคงจะมีคำถามว่าแล้วถ้าผู้ประสงค์ร้ายไม่มาทางเข้า – ออกปกติล่ะ จะทำอย่างไร ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี Border Security หรือ Smart Fence ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีรั้ว (Physical Fence) แบบ 2 ชั้น ในการออกแบบสนามบินตั้งแต่แรกเพื่อ integrate หรือทำงานร่วมกับระบบ Border Security หรือ Smart Fence Security

ตอนนี้เราป้องกันยานพาหนะที่มุ่งประสงค์ร้ายทุกประเภทและทุกเส้นทางการเข้า – ออก ไม่ว่าจะเป็นราง ถนน หรือทางแนวรั้วเรียบร้อย ไม่สามารถเล็ดรอดผ่านมาได้แล้ว นั่นหมายถึงว่าต่อไปก็ต้องตรวจตราและป้องกันคนกับสิ่งของสัมภาระ จะต้องใช้เทคโนโลยีอะไรดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสนามบินทั่วไปถ้าสามารถจะติดตั้งระบบ Security Checkpoint ที่ทุกประตูทางเข้า – ออกอาคาร ในส่วนพื้นที่สาธาณะ (Public Area) จะดีมากเลย แต่ก็คงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะปริมาณผู้คนจำนวนมาก แต่ถ้าสนามบินไหนทำได้ก็จะถือว่ามีความปลอดภัยในพื้นที่สนามบินเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว (สนามบินขนาดเล็กหรือสนามบินสำหรับการโดยสารภายในประเทศอาจจะทำได้ครับ)

และอีกเทคโนโลยีมาแรงคือ Facial Recognition (in the crowd) ระบบตรวจสอบใบหน้าในฝูงชน ในอดีตระบบนี้จะทำได้บริเวณพื้นที่ควบคุมเท่านั้น (ตัวอย่างเช่น บริเวณที่ตั้งแถว check – in, จุด Checkpoint หรือจุดตรวจคนเข้า – ออกเมือง (Immigration) แต่ในปัจจุบันด้วยความละเอียดและคุณสมบัติอื่น ๆ ของกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาระบบการตรวจสอบใบหน้าให้ตรวจสอบได้หลายคนพร้อมกันที่ปรากฎภาพที่กล้องในช่วงเวลานั้น ๆ อีกทั้งยังสามารถทำการติดตาม (Tracking) ว่าผู้ที่ต้องสงสัยเคลื่อนที่ไปยังบริเวณใด ทั้งนี้ สนามบินต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานความมั่นคงเพื่อส่งฐานข้อมูลใบหน้าของผู้ก่อการร้ายหรือผู้ร้าย (Black Lists) ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวัง (Watch Lists) ให้ระบบดำเนินการตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าเพื่อเตรียมดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติมาตรฐานของสนามบินต่อไป

Airport Security Technology5

ไว้โอกาสหน้าถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสม ในเรื่องความปลอดภัยในสนามบินอีก ก็จะขออนุญาตนำมา update ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ อีกทั้งผู้เขียนยังมีแนวคิดเรื่องความปลอดภัยในสนามบินอื่น ๆ จะมาแชร์ให้รับทราบเมื่อมีโอกาสนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง
www.icao.org
www.tsa.gov
www.ec.europa.eu/transport/mod
www.bbc.com
www.cnn.com
www.dailymail.co.uk
www.smithsdetection.com