สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กับบทบาทของการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Smart City
หากกล่าวถึง Smart City ซึ่งถือเป็นกระแสการพัฒนาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีนโยบายการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้โมเดล ‘Thailand 4.0’ ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรม
วันนี้ Security Systems Magazine ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa) ในการบอกเล่าถึง Smart City ในประเทศไทย และบทบาทการทำงานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในนามของ depa (ดีป้า) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม หนึ่งในภารกิจสำคัญของ depa คือ การส่งเสริมและพัฒนาด้าน Smart City ของประเทศไทย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa) จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งจะก่อเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงความมั่นคงของประเทศ ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560
depa มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมและสังคม ตลอดจนการพัฒนากำลังคนดิจิทัล เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและและสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ดีป้าเล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SMEs ที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้สามารถเปลี่ยนผ่านและปรับธุรกิจเข้าสู่ยุคที่ดิจิทัล
ในส่วนของการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ depa ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ประสานงานระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้น
นอกจากนี้ยังภารกิจหลักคือการส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ที่ประกาศผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน www.depa.or.th
บทบาทด้านการส่งเสริมพัฒนา Smart City
หากกล่าวถึงบทบาทของ depa ในการส่งเสริมพัฒนา Smart City อาจกล่าวได้ว่ามีบทบาทสำคัญทั้งในส่วนของระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ กล่าวคือ…
ระดับนโยบาย
“โดยในระดับนโยบาย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการร่วมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีเลขาร่วม 3 หน่วยงาน คือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.), สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการขับเคลื่อน จัดทำแผนแม่บท จัดทำคณะกรรมการบริหารโครงการ”
ระดับปฏิบัติการ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa) มีส่วนในการผลักดันให้เกิด Ecosystem ของเมือง ได้แก่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน เมือง และสถานศึกษา
ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีกลุ่มคนหลายกลุ่มที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น Smart City เช่น บริษัทพัฒนาเมือง, กลุ่ม Intelligent CCTV Association(ICA), Thai IoT Association รวมถึงในส่วนของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเองก็ได้มีการก่อตั้งกลุ่ม Smart City Alliance Thailand ขึ้น เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกันในระดับปฏิบัติการ
ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
การสร้าง Smart City จะก่อนให้เกิดประโยชน์ 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ในส่วนของการแก้ปัญหาของเมือง ซึ่งเมืองในปัจจุบันมีเมืองมีการขยายตัวและด้วยโครงสร้างที่สลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว ทำให้ปัญหาของเมืองมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากสามารถนำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการบริหารจัดการเมืองอย่างตรงจุด ย่อมจะสามารถแก้ปัญหาของเมืองได้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
รวมไปถึงยังจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการเมืองจะเกิดการขยายตัวทั้งในแง่ของตลาด และในแง่ของการวิจัยพัฒนา
โดยในเบื้องต้นคณะกรรมการฯได้กำหนดให้ ๗ เมืองเป็นเมืองอัจฉริยะนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และ 3 จังหวัด EEC คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีบริบทในการพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป ตามร่างแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะเกิด smart city ขึ้นใน 77 พื้นที่ทั่วประเทศภายในปี 2567
โดยที่มีการแบ่งรูปแบบของการพัฒนาออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มเมืองใหม่และกลุ่มเมืองเดิม ซึ่งมีบริบทการพัฒนาที่แตกต่างกัน
กลุ่มเมืองเดิมจะเน้นการพื้นฟูและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ สุขภาพ การศึกษา รวมไปถึง ความปลอดภัยของประชาชน
กลุ่มเมืองใหม่จะมุ่งเน้นการวางผังเมือง การวางโครงสร้างพื้นฐานของเมือง สาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย แหล่งงาน พาณิชยกรรม พื้นที่พักผ่อน ให้เป็นเมืองที่ทันสมัยระดับโลก เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม การค้า การลงทุน การวิจัยพัฒนา การพัฒนานวัตกรรม