“หลังจากได้คลุกคลีในวงการวิจัยไป 17 ปี เริ่มเกิดคำถามที่อยู่ในจิตใจว่าเหตุใดการผลักดันงานวิจัยจึงไปไม่ค่อยจะถึงฝั่งฝัน ผลงานวิจัยของไทยมีมากมายแต่มีเพียงหยิบมือที่สามารถสร้างผลกระทบจริงได้ในวงกว้าง ประกอบกับความต้องการส่วนตัวที่อยากจะผลักดันโครงการที่มีผลกระทบสูงและมีขนาดใหญ่ตลอดจนส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้มแข็ง จึงตัดสินใจลาออกจากเนคเทคย้ายข้ามกระทรวงมาทำงานที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และในเวลาไม่นานก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะในปัจจุบัน”
ประวัติโดยสังเขป
ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม มาจากครอบครัวชนชั้นกลางและบิดามารดาไม่ได้มีการศึกษาสูงนัก ในวัยเด็กมีความชื่นชอบวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม อาศัยความมุมานะอุตสาหะจนสามารถสอบเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ เมื่อเรียนจบได้เข้าทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมีส่วนร่วมโครงการทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าระดับประเทศในขณะนั้น ระหว่างทำงาน ได้ศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโท 2 สาขา คือสาขาวิศวกรรมสำรวจและแผนที่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ช่วงระยะเวลา 10 ปี ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ได้มีโอกาสทำโครงการสำคัญที่ถือเป็นนวัตกรรมของประเทศทางด้านอินเทอร์เน็ตแอ๊พพลิเคชั่นหลายอย่าง เช่น พัฒนาระบบสารสนเทศและการเชื่อมต่อข้อมูลทรัพยากรน้ำและการเกษตร บุกเบิกการใช้งานโปรแกรมแบบเปิดรหัสทางด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ชื่อ GRASS ผลักดันและดำเนินการจัดตั้งสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทยร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (ITS Thailand) พัฒนามาตรฐานและบริการฐานข้อมูลสภาพจราจรแบบ real-time เพื่อใช้งานกับระบบนำทางในรถยนต์ ร่วมจัดตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) พร้อมให้บริการข้อมูลสภาพจราจรแก่ผู้ประกอบการอุปกรณ์นำทางในรถยนต์
ด้วยความที่เล็งเห็นว่าการเชื่อมต่อ การวิคราะห์ข้อมูลจะเป็นที่ต้องการมากในอนาคต ปี 2009 จึงตัดสินใจรับทุนรัฐบาล (ผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์) เพื่อไปศึกษาต่อในสาขา Information Sciences ที่ University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา (สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า Big Data และ Data Science) ในการไปศึกษาต่อครั้งนี้ ครอบครัวได้ให้การสนับสนุนอย่างดี โดยภรรยาตัดสินใจลาออกจากงานประจำและพาลูกสาววัย 18 เดือนติดตามไปอยู่ด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ทุนรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้เพียง 3 หมื่นกว่าบาท ในระหว่างที่พำนักในต่างประเทศก็ไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่สบายนัก แต่พวกเราก็อดทนเผชิญอุปสรรคทุกอย่างผ่านพ้น สำเร็จกลับมาได้ในระยะเวลาเพียง 4 ปี 6 เดือน
เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาได้มีโอกาสทำโครงการติดตามตำแหน่งรถโดยสารประจำทางด้วยจีพีเอส เพื่อทำนายเวลาการเข้าจอดป้ายและบริหารจัดการการเดินรถให้มีประสิทธิภาพ ร่วมกับ เขตการเดินรถที่ 8 ขสมก. โดยใช้เทคโนโลยีที่กำลัง top hit ในปัจจุบันคือ Deep Learning ในเวลานั้นมีรถประจำทางร่วมโครงการจำนวน 100 กว่าคัน รวมไปถึงรถร่วมเอกชนสาย 8 ที่เป็นข่าวโด่งดังในขณะนั้นด้วย นับว่าเป็นโครงการที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประสานงานและขับเคลื่อน
หลังจากได้คลุกคลีในวงการวิจัยไป 17 ปี เริ่มเกิดคำถามที่อยู่ในจิตใจว่าเหตุใดการผลักดันงานวิจัยจึงไปไม่ค่อยจะถึงฝั่งฝัน ผลงานวิจัยของไทยมีมากมายแต่มีเพียงหยิบมือที่สามารถสร้างผลกระทบจริงได้ในวงกว้าง ประกอบกับความต้องการส่วนตัวที่อยากจะผลักดันโครงการที่มีผลกระทบสูงและมีขนาดใหญ่ตลอดจนส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้มแข็ง จึงตัดสินใจลาออกจากเนคเทคย้ายข้ามกระทรวงมาทำงานที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และในเวลาไม่นานก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะในปัจจุบัน
ในระหว่างที่ทำงานกับดีป้า ได้มีโอกาสเรียนรู้จากภาคเอกชนไทยและร่วมผลักดันการจัดตั้งสมาคมไทยไอโอที เริ่มตั้งแต่ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 4-5 คน จนปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศที่เข้มแข็งกว่า 200 ราย มีความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น การจัดงานประชุมวิชาการInternational IoT Conference (ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนไทย) เครือข่ายวิจัยต่อยอดจากอุปกรณ์ระบุตำแหน่งความแม่นยำสูงด้วยดาวเทียม GPS/GNSS (อุปกรณ์พัฒนาโดยเอกชนไทย) นับว่าเป็นเครือข่ายสำคัญที่ร่วมกันผลักดันและยกระดับความเข้มแข็งอุตสาหกรรมไอโอทีของไทย
นอกจากนี้ที่ดีป้า ได้มีโอกาสบุกเบิกโครงการสำคัญของประเทศ เช่น 5G Testbed พบปะเจรจาการชักชวนนักลงทุนมากหน้าหลายตาทางด้านไอโอทีและเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ด้วยความที่มีโอกาสคลุกคลีทั้งระดับการวิจัย การเจรจาการลงทุน พบปะหารือเข้าใจความต้องการของภาคเอกชนทั้งไทยและเทศ โดยในปัจจุบันได้รับผิดชอบขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนวัตกรรมของประเทศ ตั้งเป้าสร้างให้เกิดเมืองอัจฉริยะใน 77 จังหวัด ภายใน 5 ปี ผ่านกระบวนการคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (ซึ่งมีท่านรองนายกรัฐมนตรีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธาน) และสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย
การดำรงตำแหน่งและความเชี่ยวชาญ
การดำรงตำแหน่ง
- นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาโครงการดิจิทัลและนวัตกรรมอาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- ผู้อำนวยการสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ความเชี่ยวชาญ
- เทคโนโลยี Cloud, Big Data, Data Analytics, Machine Learning และ AI
- การจัดการข้อมูล เช่น Data Standards, Data Clearing House และ Data Catalog
- ไอโอที 5G และการสื่อสารข้อมูล
- ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการระบุพิกัดความแม่นยำสูงด้วยดาวเทียม GPS/GNSS
- เจรจา ประสานงาน วิเคราะห์ วางแผน พัฒนาและบริหารโครงการเทคโนโลยีขนาดใหญ่