อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อาจเป็นเพียงเส้นทางสัญจรผ่านมาแล้วผ่านไปของคนต่างถิ่นในช่วงที่ผ่านมา แต่นับจากเกิดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ศักยภาพของ ‘บ้านฉาง’ ได้ถูกจับตามองจากเมกะโปรเจ็กต์ 2 โครงการยักษ์ในพื้นที่คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และ โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก
ด้วยศักยภาพของ 2 เมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าว จะทำให้อนาคตของ อำเภอบ้านฉาง กลายเป็นทำเลทองแห่งใหม่ระดับภูมิภาค โดยจะมีทั้งศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางการขนส่ง ศูนย์กลางการบิน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ นำมาสู่ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่งในพื้นที่ ได้แก่ เทศบาลเมืองบ้านฉาง, เทศบาลตำบลสำนักท้อน, เทศบาลตำบลบ้านฉาง, เทศบาลตำบลพลา และ องค์การบริหารส่วนตำบลสำนักท้อน ได้ผนึกกำลังจัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานงานข้อมูล EEC’ ถือเป็นโมเดลแห่งการผนึกกำลังระดับชุมชนครั้งแรก ที่มีการเปิดศูนย์ในรูปแบบดังกล่าว ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานท้องถิ่นที่มองไปยังเป้าหมายเดียวกัน
คุณทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์
รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
รวมข้อเท็จจริงในอีอีซี
นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานข้อมูลมูล EEC และการเสวนา “EEC กับการส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นภาครัฐและภาคเอกชน” ว่า บ้านฉางเป็นพื้นที่หนึ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรับทราบข้อมูลความคืบหน้าผ่านศูนย์ดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยศูนย์ข้อมูลแห่งนี้จะเป็นการคัดกรองข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้องให้กับชาวบ้าน ไม่ใช่ข้อมูลที่สร้างความสับสนโดยปราศจากข้อเท็จจริง
คุณสุชิน พูนหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง
รู้ทุกเรื่องที่อยากรู้
นายสุชิน พูนหิรัญ นายกเทศมนตรี ตำบลบ้านฉาง กล่าวเสริมว่า ตำบลบ้านฉางมีการพัฒนามากมายจากโครงการ EEC แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลความคืบหน้าและไม่รู้ว่าจะประสานงานที่ไหน เราจึงตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา นำข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับ EEC โดยเฉพาะข้อมูลในจังหวัดระยองมารวมอยู่ในนี้ มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ ชาวบ้านสามารถเข้ามาศึกษาได้ตลอดเวลา ถือเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับ EEC ระดับชุมชนที่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องมหานครการบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง ซึ่งที่ผ่านมาคนบ้านฉางยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเชื่อว่า EEC เป็นการนำความเจริญเข้ามาในพื้นที่จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
กำจัดความสับสนด้านข้อมูล
ขณะที่ในเวทีเสวนา “EEC กับการส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นภาครัฐและภาคเอกชน” ที่มีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 แห่งมาแสดงความคิดเห็น ได้สะท้อนมุมมองต่อศูนย์ดังกล่าวว่าจะเป็นศูนย์กลางแก้ปัญหาความสับสนของชาวบ้านเกี่ยวกับข้อมูล EEC อย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเรื่องการเวนคืนพื้นที่ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาก็เข้ามาพูดอย่างหนึ่ง ผู้บริหารอีอีซีพูดอย่างหนึ่ง จนชาวบ้านไม่รู้ว่าข้อมูลอันไหนจริง อันไหนไม่จริง ทำให้เกิดความสับสนนำไปสู่การสื่อสารแบบผิดพลาด ต่อจากนี้เมื่อมีศูนย์ประสานงานข้อมูล EEC เกิดขึ้น ชาวบ้านมีข้อสงสัยเรื่องใดเกี่ยวกับ EEC สามารถเข้ามาสอบถามเจ้าหน้าที่หรือสืบค้นข้อมูลได้ทันที
บ้านฉาง ไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป
ในเวทีเสวนายังได้นำเสนอมุมมองต่อความเจริญที่จะเข้ามาในอนาคตว่า ที่ผ่านมา บ้านฉาง เป็นเพียงเมืองที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่มีคนต่างถิ่นเข้ามาท่องเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอย ส่วนใหญ่จะเดินทางไปในพื้นที่อื่นเช่น พัทยา บางแสน แต่เมื่อการขยายสนามบินอู่ตะเภาแล้วเสร็จ เชื่อว่าบ้านฉางจะเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจแวะมาพักก่อนขึ้นเครื่องกลับภูมิลำเนา ทั้งการพักค้างคืนการจับจ่ายใช้สอยซื้อของฝากของที่ระลึก เพราะฉะนั้นเชื่อว่าในอนาคตจะมีโรงแรม ภัตตาคาร ร้านของที่ระลึก เกิดขึ้นจำนวนมาก
ราคาที่ดินพุ่งสูงกว่าเท่าตัว
หนึ่งในผู้เสวนายังได้สะท้อนถึงความเจริญที่เกิดขึ้นทำให้ราคาที่ดินในบ้านฉางวันนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เช่น ที่ดินริมถนนสุขุมวิท ราคาขึ้นมาไร่ละ 10 ล้านบาท จากเมื่อก่อนราคา 2-3 ล้านบาท ที่ดินติดทะเลเมื่อก่อนขายกัน 5-7 ล้านบาท เดี๋ยวนี้ 20 ล้านบาท ขั้นต่ำ 12-15 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า นับจากนี้บ้านฉางจะไม่ใช่แค่เมืองเล็กๆ แต่สามารถพัฒนาให้เกิดโอกาสการค้าขาย เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่พักผ่อน ศูนย์กลางการขนส่ง และศูนย์กลางการบิน ที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการ EEC อย่างแท้จริง
ปิดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการ EEC จะนำความเจริญเข้ามาในพื้นที่บ้านฉาง แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขหลายเรื่อง ซึ่งบนเวทีเสวนาได้หยิบยกมานำเสนอหลากหลายประเด็น อาทิ
- เสนอให้พัฒนากองทุนสนามบินและระบบภาษีสู่ท้องถิ่น
- การจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าของประชาชนในสนามบินแบบปลอดภาษี
- การพัฒนาสนามกีฬาและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการขึ้นลงของเครื่องบิน
- การพัฒนาสถานพยาบาลและศูนย์สุขภาพ
- การพัฒนาทางเข้า – ออกสนามบินอู่ตะเภา เชื่อมโยงระบบคมนาคม
- การพัฒนาที่ดินและเร่งรัดเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่ดิน
- การพัฒนาพื้นที่สีเขียวและ บ้านฉาง Smart City
- การพัฒนาประชาชนบ้านฉางให้เป็น Smart People
คุณอภิชาต ทองอยู่
ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC
ยกระดับทาบ ‘โตเกียว’
นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC กล่าวว่า ในอนาคตบ้านฉางจะไม่ใช่อำเภอเล็กๆ อีกต่อไป แต่จะเป็นเมืองสำคัญเหมือนกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก อาทิ โตเกียว นิวยอร์ก หรือ ลอสแองเจลิส เป็นมหานครการบินแห่งใหม่ของเอเชีย โดยพื้นที่อู่ตะเภา 6,500 ไร่ ครึ่งหนึ่งอยู่สัตหีบ ครึ่งหนึ่งอยู่ระยอง เพราะฉะนั้นการเจริญเติบโตจะขยายตัวจากสนามบินออกไป ซึ่งการเดินทางยุคใหม่ การบินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บินหนึ่งชั่วโมงสามารถติดต่อค้าขายกับคน 300 ล้านคน บินสองชั่วโมงติดต่อค้าขายได้เกือบพันล้านคน ยิ่งบินหลายชั่วโมงก็ยิ่งเพิ่มปริมาณการค้าขายได้มากเป็นทวีคูณ ถือเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญที่สุด นี่คือการเชื่อมพื้นที่เข้ากับโลก และเชื่อมโลกเข้ากับพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุดใหม่
ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ลองหลับตาแล้วนึกภาพฮ่องกงในยุคเจริญเติบโต บ้านฉางก็จะเป็นเหมือนฮ่องกงในตอนนั้น หรือเป็นเหมือนโตเกียว ดังคำพูดของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่บอกว่า “เมืองที่มีคนมากจะมีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก เพราะมีการผลิต การบริโภค การซื้อขายแลกเปลี่ยน” เราจึงต้องเตรียมตัวรับความเจริญเติบโตที่จะเข้ามาในอนาคต ซึ่งการเปิดศูนย์ประสานงานข้อมูล EEC ถือเป็นศูนย์ของภาคประชาชนแห่งแรกที่เสนอให้มาเชื่อมต่อกับ EEC และเป็นศูนย์ที่เปิดให้คนในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยกันว่าเขาต้องการอะไรและอยากให้พัฒนาอะไร
ขอขอบคุณแหล่งที่มา
https://www.salika.co/2019/09/22/eec-data-center-in-ban-chang/