ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้สั่งการให้ปรับแผนการดำเนินงานและงบประมาณ ประจำปี 2563 พร้อมส่งมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Manpower Fund)
“มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลถือเป็นมาตรการช่วยเหลือลำดับที่สาม ถัดจากมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และมาตรการช่วยเหลือ SMEs โรงงาน โรงแรม ธุรกิจบริการธุรกิจขนาดเล็ก ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย เกษตรกร และชุมชน โดยมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคน ทำให้เกิดการเรียนรู้งานใหม่ New Skill Upskill และ Reskill ทักษะด้านดิจิทัล เป็นส่วนช่วยในการเปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่ อีกทั้งสร้างงาน และเยียวยาเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อCOVID-19 ผ่านการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยการส่งเสริมกำลังคนและบุคลากรดิจิทัล การส่งเสริมทักษะด้าน Cyber Security แก่ SMEs และคนรุ่นใหม่ รวมถึงการส่งเสริมทักษะด้านData Analytic”
ทั้งนี้การส่งเสริมกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลนั้น depa ได้ตั้งเป้าพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลไม่น้อยกว่า 700 รายทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่บุคลากรทางการศึกษาอาทิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมถึงพนักงาน แรงงานลูกจ้างในอุตสาหกรรม และกลุ่มธุรกิจSMEs ซึ่งประกาศรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 5 โครงการ ภายใต้กลุ่มหลักสูตรห้องเรียนโค้ดดิ้ง Programming Cloud Service และ Digital Content โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2563 ส่วนการส่งเสริมทักษะด้าน Cyber Security แก่ SMEs และคนรุ่นใหม่ ดีป้า ได้ประกาศรับข้อเสนอโครงการเสริมทักษะด้าน Cyber Security จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา เรียนรู้ป้องกันรับมือภัยออนไลน์ เกมเมอร์สร้างความตระหนักรู้ หล่อหลอมเกมเมอร์น้ำดี โปรแกรมเมอร์ต่อยอดทักษะเข้าสู่สาย White Hacker และ SMEs พัฒนาทักษะเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ โดยตั้งเป้าพัฒนาทักษะแก่กลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 1,250 ราย ซึ่งเปิดรับข้อเสนอโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563
ขณะที่การส่งเสริมพัฒนาทักษะด้าน Data Analytic เพื่อสร้างกำลังคนดิจิทัลต่อยอดการใช้ข้อมูลจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนทำงาน นักศึกษาที่กำลังจะจบ – จบใหม่ ไม่น้อยกว่า 400 คนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเฉพาะทางของรัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน และองค์การเอกชน โดยลักษณะโครงการจะให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรดิจิทัล รองรับความต้องการของประเทศในหลักสูตรระดับ Digital Professional สาขาการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และ Upskill ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเปิดรับข้อเสนอโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2563
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะช่วยเสริมศักยภาพและยกระดับทักษะด้านดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรตามสาขาที่ประเทศกำลังขาดแคลนรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากCOVID-19 ซึ่งทาง depa พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัลในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าต่อทันทีหลังผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ทั้งนี้ ดีป้า วางแผนนำเสนอมาตรการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน กระตุ้นการลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายหลังผ่านพ้นวิกฤติCOVID-19
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.depa.or.th/thaifightcovid