ถอดบทเรียน Digital Tracing แอปพลิเคชั่นช่วยแยกกลุ่มเสี่ยงติดCOVID-19 ได้ผลดีกว่าวิธีปกติถึง 50%

Share

Loading

โครงการ “สนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19)” โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยข้อมูลว่า ทีมวิจัยจาก University of Oxford ได้ศึกษาโอกาสของการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสCOVID-19 จากการเก็บข้อมูลผู้แพร่เชื้อและผู้ได้รับเชื้อไวรัส จำนวน 40 คู่ พบว่าค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน หรือ R0 ที่เกิดขึ้นจากการแพร่เชื้อจากผู้ไม่แสดงอาการสูงถึง 0.9 จึงศึกษาความจำเป็นของการใช้ “Digital Tracing” หรือระบบติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยทันที

จากผลการศึกษาพบว่า ในระยะเวลา 3 วันที่ติดตามเพื่อกักและโอกาสการควบคุมโรคแบบธรรมดา สำเร็จน้อยกว่าการใช้ระบบ Digital Tracing ช่วยถึง 50 % การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสืบหาผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด (Contact Tracing) จึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก

ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีการใช้อยู่เพียงแค่ 2 แอพพลิเคชั่น คือ Pan-European Privacy Preserving Proximity Tracing (PEPP – PT) ของกลุ่มประเทศยุโรป และ Trace Together ของประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ เทคโนโลยีทั้ง 2 รูปแบบแตกต่างในรายละเอียดแต่ใช้หลักการเดียวกัน คือ

1.ใช้สัญญาณบลูทูธ (Bluetooth) บนโทรศัพท์มือถือในการตรวจหาว่าใครอยู่ในรัศมี 2–10 เมตร ในระยะเวลาที่กำหนด

2.ทำการบันทึกรหัสประจำตัวของคนที่อยู่ใกล้ ไม่บันทึกชื่อจริง ไม่เก็บตำแหน่งบุคคล และทำการบันทึกข้อมูลไว้ที่โทรศัพท์มือถือของแต่ละคน

3.เมื่อระบบส่วนกลางพบว่ามีผู้ป่วย เจ้าหน้าที่จะติดต่อไปที่ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องส่งข้อมูลในมือถือของตนไปยังส่วนกลาง โดยผู้ป่วยต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูล

ทีมวิจัยจาก สกสว. วิเคราะห์ว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น Digital Tracing น่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโรคนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกคน เพราะหลังจากประเทศสิงคโปร์ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 มีผู้ใช้ไปแล้ว 1 ล้านคน ซึ่งตามหลักการแล้วต้องมีผู้ใช้ 60% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 4 ล้านคน จึงจะมีประสิทธิภาพในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ

ขณะเดียวกัน ความร่วมมือของภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งอาจไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัยและไว้วางใจยอมใช้งาน และผู้ใช้ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลผู้ป่วย หากไม่มีข้อมูลเหล่านี้แล้วก็จะทำให้การติดตามผู้ป่วยเป็นไปได้ยากมาก ทั้งนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคลอาจต้องยืดหยุ่นกับสถานการณ์ดังกล่าว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://siamrath.co.th/n/149382