หากติดตามข่าวช่วงวิกฤตCOVID-19 จะเห็นว่ามีเทคโนโลยีและผลงานการออกแบบมากมายที่มนุษย์สร้างหรือประยุกต์ขึ้นเพื่อการใช้งานหรือช่วยเหลือในสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) โดยเฉพาะจีน ชาติแรกที่เผชิญกับความสูญเสียก่อนใครและเร่งแก้วิกฤตอย่างเร่งด่วนจนสถานการณ์ดีขึ้น ขณะที่ทั่วโลกทยอยจมลงสู่ภาวะวิกฤตอย่างสาหัส
หนึ่งในข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาผ่านโซ Social Media มีสมุดปกขาวที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Huawei และ Deloitte ในชื่อ Combating COVID-19 with 5G : Opportunities to Improve Public Health Systems หรือชื่อภาษาไทยว่า “สู้โรคCOVID-19 ด้วย 5G : โอกาสพัฒนาระบบสาธารณสุข” ซึ่งเปิดเผยการวิเคราะห์ตัวอย่างของการควบคุมและการรักษาโรคCOVID-19 ในจีนด้วยการใช้เทคโนโลยี 5G ผสานรวม Data สู่การป้องกันการแพร่ระบาด การรักษา วิเคราะห์คาดการณ์จาก Big Data ไปจนถึงการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบสาธารณสุขของประเทศ
ในสมุดปกขาวดังกล่าวให้ข้อมูลว่า จีนค้นคว้าเกี่ยวกับความต้องการข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และนำเสนอผลการค้นคว้าเอาไว้ โดยระบุถึงฟีเจอร์หลักของเทคโนโลยี 5G ที่ได้ใช้ประโยชน์ในวิกฤตของโรคระบาดครั้งใหญ่นี้
รวมฟังก์ชันและอิมแพ็คจากการใช้งาน 5G ในวิกฤตโรคระบาดของจีน
– ใช้ 5G บูรณาการกับเทคโนโลยีอื่นๆ เสริมประสิทธิภาพการมอนิเตอร์
คุณสมบัติด้านการเชื่อมต่อความเร็วสูง ศูนย์รวมจุดเชื่อมต่อขนาดใหญ่ ค่าความหน่วงต่ำ และแบนด์วิชท์ข้อมูลขนาดใหญ่ 5G จึงสามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี Big Data, AI, และ Cloud ในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคระบาดครั้งใหญ่ อาทิ มอนิเตอร์ผู้ติดเชื้อจากอุณหภูมิร่างกายรายคนด้วย HD Thermal Camera ร่วมกับการใช้ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์
– ใช้ความเสถียรของ 5G สังเกตการณ์และให้คำปรึกษาระยะไกล (Telemedicine)
จากโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายอุปกรณ์มือถือที่มีความเสถียรสูง จีนจึงสามารถใช้ 5G เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยจากระยะไกลได้อย่างต่อเนื่อง, วินิจฉัยอาการระหว่างเคลื่อนย้ายได้ รวมทั้งสนับสนุน การถ่ายภาพความร้อน (Thermal Imaging) เพื่อตรวจหาการแพร่กระจ่ายของโรคติดต่อ ผ่านแพลตฟอร์มที่รองรับการเฝ้าระวังโรคระบาดครั้งใหญ่และแพลตฟอร์มการให้คำปรึกษา
– ใช้ 5G วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์และช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนรังสีแพทย์
Huawei ร่วมมือกับ Huazhong University of Science & Technology and Lanwon Technology พัฒนาและเปิดตัวบริการผู้ช่วย AI สำหรับวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณสำหรับโรคCOVID-19 ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) และการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์ ซึ่งสามารถรายงานผลการตรวจ (CT Quantification) ให้แก่รังสีแพทย์และอายุรแพทย์ได้อัตโนมัติ และจากจำนวนผู้ป่วยในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้ 5G ช่วยวิเคราะห์และรายงานผลจึงช่วยแก้ไขสถานการณ์การขาดแคลนรังสีแพทย์ที่สามารถวินิจฉัยโรคCOVID–19 ได้ ซึ่งช่วยลดภาระงานให้กับแพทย์ได้เป็นอย่างมาก และยังลดความกดดันจากการกักตัวผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง
– ใช้ 5G หนุนการทำงานของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในพื้นที่กักกัน
นอกเหนือจากการใช้ 5G ในด้านเทคนิคระหว่างการรักษา จีนยังใช้ 5G เสริมการทำงานของหุ่นยนต์การแพทย์ (5G Smart Medical Robots) ที่พัฒนาขึ้นสำหรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่กักกัน โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถทำกิจวัตรต่างๆ ได้ เช่น การตรวจตราชั้น (Floor Checkups) การทำความสะอาด การส่งยา ช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่กักกัน และที่สำคัญ ช่วยลดการทำงานซ้ำๆ และลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อให้แก่หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์
– ใช้ 5G เชื่อมต่อระบบสาธารณสุข เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลและรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
ระบบสาธารณสุขที่เชื่อมต่อถึงกันด้วย 5G บนฐานของเทคโนโลยีคลาวด์ ส่งผลให้ระยะเวลาตอบสนองหรือรับมือสถานการณ์ต่างๆ รวดเร็วยิ่งขึ้น, เฝ้าระวังอาการผู้ป่วยได้ดีขึ้น, รวบรวมและวิเคราะห์ Data ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประสานงานและการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าการสร้าง “แพลตฟอร์มรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะในรูปแบบดิจิทัล” ที่ขับเคลื่อนด้วย Data บนฐานเทคโนโลยีคลาวด์ เป็นโมเดลของจีนที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ นอกจากนี้ ในสมุดปกขาวยังระบุถึงความสำเร็จของการประยุกต์ใช้ 5G กับระบบสาธารณสุขว่า จะสร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการจะยกระดับการใช้งาน 5G และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ๆ นั้นดำเนินต่อไป
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://datacenternews.asia/story/china-s-cloud-companies-support-fight-against-covid-19