ภาพรวมของบริษัทก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาด COVID-19
บริษัทฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีการนำ Digital Transformation มาปรับใช้งานภายในองค์กร ทำให้เริ่มเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนของการนำดิจิทัลมาใช้ และมีแผนบริหารความเสี่ยง (Risk Management Plan) ตามมาตรฐานระบบการบริหารงานคุณภาพ (ISO9001:2015) ที่ทำให้ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้อยู่ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19)
ในยุคการแพร่ระบาด COVID-19 มีผลกระทบอะไรบ้างกับสถานการณ์นี้
ปัจจุบันหลายองค์กรกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น พนักงานติดเชื้อ หรือตกเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและความเชื่อมั่นของธุรกิจ ดังนั้น องค์กรต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูล การวางแผนการรับมือภาวะวิกฤติ และการสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน
ด้วยผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจ เราได้เตรียมพร้อมและตั้งรับต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลังนี้ เพราะไม่มีใครอาจรู้ได้ว่าเราจะสามารถหยุดสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้ได้เมื่อไหร่ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการเชิงรับอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอสำหรับการรักษาและผลักดันบริษัทไปข้างหน้า ต้องคำนึงถึงมาตรการ ‘เชิงรุก’ ที่จะช่วยบริษัทนั้นปรับตัว พัฒนา และหาโอกาสภายใต้สภาวะเช่นนี้
บริษัทได้มีการวางแผนรับมืออย่างไรบ้าง
แนวทางการรับมือกับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
- ทบทวนสถานที่และแผนการเดินทางของพนักงาน สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกคือต้องทราบว่าพนักงานอยู่ที่ไหนและมีจำนวนกี่คนที่อาจมีความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน บริษัทมีการพิจารณาการทำงานจากที่บ้าน ยกเลิก หรือเลื่อนแผนการเดินทาง การนัดหมายที่ไม่จำเป็นของพนักงาน นอกจากนี้ ต้องมีนโยบายในการจำกัดการเข้า-ออกของผู้มาติดต่อ หรือในกรณีที่พนักงานเกิดเจ็บป่วย หรือต้องกักตัว รวมทั้งมีการรายงานตัวเมื่อมีผู้ติดเชื้อ และทบทวนแนวทางปฏิบัติอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ
- อัปเดตแผนจัดการภาวะวิกฤติและความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยต้องเป็นแผนที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีเมื่อพนักงานจำนวนมากต้องทำงานจากที่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลากหลายที่เข้ามาช่วยในการทำงานนอกสถานที่ เช่น โปรแกรม G Suite หรือ Office 365 อื่นๆอีกมากมายที่บริษัทเลือกใช้งานตามความเหมาะสม
- ประเมินระบบโลจิสติกส์ โดยพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากคู่ค้า ซัพพลายเออร์ เช่น มีสินค้าที่ต้องนำเข้ามาจากประเทศที่มีความเสี่ยงหรือไม่ บริษัทมีคู่ค้าอื่น ๆ ที่ทดแทนได้หรือไม่
- ระบุความเสี่ยงที่นำไปสู่ความเสียหายของธุรกิจ พร้อมแผนรับมือหากองค์กรตกอยู่ในจุดวิกฤติสูงสุด โดยต้องระบุได้ว่า ทีมงานส่วนใดจะเข้ามารับมือ หรือ มีทักษะและความสามารถในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อมีเหตุจำเป็น
- สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่ามีข่าวและข้อมูลมากมายที่อาจสร้างความเข้าใจผิดและความสับสนในสถานการณ์แบบนี้ ฉะนั้น บริษัทฯ สร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานว่า พวกเขาจะได้รับการปกป้อง ดูแล และธุรกิจได้มีแผนรองรับภาวะวิกฤติไว้แล้ว การสื่อสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และต่อเนื่องจากทีมผู้บริหาร ที่สร้างความมั่นใจและเรียกขวัญกำลังใจจากพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ
- อย่ามองข้ามความเสี่ยงด้านอื่นๆ ถึงแม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นวิกฤติสำคัญที่ทุกคนให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ แต่บริษัทฯก็ต้องไม่มองข้ามความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย เช่น การโจรกรรมข้อมูลและความเสี่ยงจากอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นต้น
ในอนาคตมีการวางแผนอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องลูกค้า ผลิตภัณฑ์ และการดูแลลูกค้า
ใช้กระบวนการวิเคราะห์เหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น โดยพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้
จากเหตุการณ์จำลองความเสี่ยงเพื่อหาแนวทางป้องกัน ในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน ทั้งเหตุการณ์ที่ดีที่สุดไปจนถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และกำลังคน โดยอาจจำเป็นต้องวางแผนสำหรับผลกระทบในระยะยาวเผื่อสถานการณ์ยืดเยื้อไว้ด้วย เช่น ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรหากคนต้องอยู่บ้านมากขึ้น การวางแผนการนำเข้าสินค้าที่ตรงตามความต้องการ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ช่วงแก้ไขปัญหาต่อการเกิดเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น การบริหารจัดการคลังสินค้า และเพิ่มปริมาณสินค้าที่จำเป็นมากขึ้น
มีอะไรที่อยากจะแนะนำ ลูกค้า พาร์ทเนอร์ และผู้แทนจำหน่ายบ้าง
“สิ่งแรกที่ทุกองค์กรต้องทำเมื่อเกิดภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ต้องไม่ตื่นตระหนก และ activate แผนงานบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินทันที โดยการสื่อสารและตัดสินใจเด็ดขาดควรต้องมาจากผู้นำองค์กร หรือแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันความสับสนของข้อมูล และการสื่อสารที่ผิดพลาด”
สุดท้ายอยากกล่าวให้กำลังใจลูกค้า พาร์ทเนอร์ และผู้แทนจำหน่ายอย่างไรบ้าง
สุดท้ายนี้ การตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการรับมือกับวิกฤตในปัจจุบัน หลายบริษัทเอง จัดทำ BCP (Business Continuity Plan) และรอเวลาในการปฏิบัติจริงเมื่อเกิดวิกฤต แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น สิ่งสำคัญจำเป็นจะเกิดการขาดแคลน เช่น อุปกรณ์ Conference ในปัจจุบัน ที่ขาดแคลนอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบจากการปิดโรงงานในจีนช่วงก่อนหน้านี้ รวมไปถึงระยะเวลาในช่วงทำตามแผนอาจไม่ทันการ เนื่องจากอาจเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นได้อีก ดังนั้น แต่ละบริษัทจะต้องคำนึงถึง worst case ของสถานการณ์นั้นๆ ไม่ใช่เพื่อการวิตก แต่เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์
บริษัท ซีซีทีวี (ประเทศไทย) จำกัด
143 สวนสยาม ซอย 7 ถนนสวนสยาม
แขวงคันนายาว เขตคันนายาว
กรุงเทพมหานคร 10230
Tel : 02-919-6600
Fax : 02-919-6633
E-mail : info@cctv.co.th