นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2563 ไตรมาสแรกของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) มีการขยายตัวที่ดีขึ้นจากปีก่อน จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสCOVID-19 ธุรกิจไอทีกลับเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เกิดการสื่อสารในยามวิกฤต ทำให้จำนวนผู้บริโภคใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าปกติ โดยกิจกรรมการสื่อสารออนไลน์ล้วนต้องอาศัยการส่งข้อมูลผ่านสายสัญญาณ (Cabling) และอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Networking) เพื่อส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ Wi-Fi (Access Point) ซึ่งเป็นสินค้าหลักของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมวางแผนปรับการบริหารสต็อกสินค้าตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า พร้อมชูแคมเปญการตลาด “คุณสั่ง เราส่ง” บริการส่งสินค้าไปยังลูกค้าของคู่ค้า (Partner) แทนคู่ค้า เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าสามารถเดินหน้าธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรม INTERLINK ROADSHOW ผ่านรูปแบบออนไลน์เพื่อกระตุ้นยอดขาย และถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการฝึกอบรมความรู้ในตัวสินค้าอย่างต่อเนื่องผ่านออนไลน์ให้แก่คู่ค้า สะท้อนให้เห็นถึงภาพแนวโน้มผลการดำเนินงานที่สดใสในช่วงไตรมาส 1/2563 ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) มีรายได้อยู่ที่ 545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นในสถานการณ์ที่มีวิกฤตไวรัสCOVID-19 ที่ทำให้ประเทศไทยต้องประกาศสถานการณ์ พรก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม แต่ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) ยังสามารถรักษายอดขายต่อเดือนไว้ได้ และมั่นใจว่าหากสถานการณ์ไวรัสCOVID-19 คลี่คลายก็จะสามารถรุกต่อไปได้ทันที
สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) บริษัทฯ ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้เช่าวงจรสื่อสารความเร็วสูง และลูกค้าเดิมที่ยังคงต่อสัญญามาโดยตลอด ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมสามารถทำกำไรและทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง และยังได้รับผลดีจากปัจจัยบวกจากการ Work From Home ซึ่งธุรกิจจำนวนมากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น Video Conference,การทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ เราพร้อมยืนหยัดที่จะดูแลลูกค้าให้สามารถใช้งานได้อย่างไม่สะดุดและมีเสถียรภาพสูงสุดในทุกกรณี เบื้องต้นบริษัทฯ พิจารณาที่จะเพิ่มขนาดช่องสัญญาณให้กับลูกค้าทุกรายมากขึ้นเป็น 2 เท่าเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานอันอาจจะเกิดสูงขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) นอกจากนี้ยังเดินหน้าลุยงาน 5G ตามแผน เร่งหารือพันธมิตรอย่างต่อเนื่องหลังโมบายโอเปอร์เรเตอร์แต่ละแห่งเข้าสู่โหมดการลงทุนหลังการประมูลคลื่นความถี่ในการให้บริการ 5G สำหรับงานภาครัฐยังคงมีการขยายตัวและมีการส่งมอบงานตามแผน ส่วนโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐที่บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลประกวดราคาบริการระบบเครือข่ายเสมือนและระบบแจ้งเตือนข้อความสั้น (SMS) เพื่อรองรับระบบสารสนเทศสำหรับผู้ใช้น้ำของการประปาส่วนภูมิภาค มูลค่าโครงการรวม 17.12 ล้านบาท มีระยะเวลาการให้บริการ 1 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายน 2563 นี้ ช่วยหนุนรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบที่บริษัทฯ ชนะการประกวดราคาโครงการที่ 1 (USO 1) ในโซนภาคภาคกลาง มูลค่า 1,868 ล้านบาท และโครงการที่ 2 (USO 2) ในโซนภาคกลางและภาคใต้ตอนบน ประกอบไปด้วย 2 สัญญา มูลค่ารวมกันกว่า 3,560 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันโครงการก่อสร้างได้ดำเนินการคืบหน้าไปมากกว่า 80% และทยอยส่งมอบงาน หลังจากนี้จะมีรายได้จากการให้บริการแก่ลูกค้าของ กสทช. ที่อยู่ในโครงการเป็นระยะต่อเนื่องอีก 5 ปี ตามสัญญา ทำให้จะมีการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง มาเสริมรายได้ของธุรกิจโทรคมนาคมอีกด้วย
สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ (Engineering) ได้ดำเนินการตามแผนปรับลดสัดส่วนรายได้ของธุรกิจวิศวกรรมจาก 20% เหลือเพียง 5% มุ่งเน้นเฉพาะงานที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น และพยายามเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ หลังบริษัทฯ ชนะงานมูลค่า 2 สัญญา ได้แก่ CC-3 งานก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสาธารณูปโภคและ CC-4 งานซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ร่วมกับ SEIMEN มูลค่า 2,100 ล้านบาท โดยที่ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าไปอย่างมาก และยังเหลือการรับรู้รายได้อีก 1,577 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์จะรับรู้รายได้ในปี 2563 จำนวน 1,214 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ตั้งเป้าสำหรับธุรกิจวิศวกรรมในปี 2563 ไว้จำนวน 1,214 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้รับการประกาศเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 3 งานด้วยกัน ได้แก่
- 1. โครงการจ้างปรับปรุงสายเคเบิ้ลใต้น้ำ (Submarine Cable) ระบบ 33 kV วงจรบ้านน้ำเค็ม – บ้านคอเขา จ.พังงา มูลค่างาน 18 ลบ. โดยลงนามสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา
- งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าสวนผึ้ง จ.ราชบุรี มูลค่างาน 141.30 ล้านบาท
- งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร มูลค่างาน 161 ล้านบาท โดยทั้ง 2 งานคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาภายในเดือนเมษายน 2563 นี้ โดยเมื่อเซ็นสัญญาแล้วจะสามารถเริ่มงานและก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 540 วัน นั่นหมายถึง จะเริ่มมีการรับรู้รายได้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปี 2565 ซึ่งสอดคล้องและยังไปเพิ่มเป้าหมายของรายได้ปี 2564 ที่ตั้งเป้าธุรกิจวิศวกรรมไว้ที่ประมาณ 810 ลบ. ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถโฟกัสงานวิศวกรรมโครงการที่สามารถสร้างกำไรที่ดีให้แก่กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ได้
บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
48 อาคารอินเตอร์ลิ้งค์ ซอยรุ่งเรือง ถนนรัชดาภิเษก 20
แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310