คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือสร้าง 2 นวัตกรรม ได้แก่ หุ่นยนต์เวสตี้ (Wastie) สำหรับเก็บขยะติดเชื้อ และหุ่นยนต์ฟู้ดดี้ (Foodie) สำหรับส่งอาหารและยาภายในหอผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อและทดแทนงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในยุคที่เผชิญ COVID-19 จากผลสำเร็จในการทดสอบ คาดจะนำมาใช้ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามในเร็วๆนี้
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ AGV และเทคโนโลยีกำลังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Digital Healthcare แก่โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขไทยให้เข้มแข็งและมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะความท้าทายของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และนวัตวิถี New Normal อีกทั้งปริมาณขยะติดเชื้อจากหน้ากากและอุปกรณ์ในรพ.เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ในรพ.ทำให้ภาระงานหนักและความเสี่ยงมากขึ้นต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และโรคระบาดต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
ดังนั้นทีมวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้าง 2 นวัตกรรม คือ
1.หุ่นยนต์เวสตี้ (Wastie) สำหรับปฏิบัติงานเก็บขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลภาคสนาม
2.หุ่นยนต์ฟู้ดดี้ (Foodie) สำหรับปฏิบัติงานส่งอาหารและยาภายในหอผู้ป่วย
โดยหุ่นยนต์ทั้งสองรุ่น ใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีอัตโนมัติ AGV (Automated Guide Vehicle) รองรับงานหนักและงานเสี่ยงอันตรายด้วยระบบการทำงานขนส่งในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้ AGV เข้าสู่งานบริการสาธารณสุข จะเสริมสร้างศักยภาพในการลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเป็นผู้นำบริการเฮลท์แคร์และอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ (New S-Curve) ยกระดับพัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เพื่อคุณภาพและความก้าวหน้าของบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน พร้อมไปกับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของบุคลากรที่ดีขึ้น ตลอดจนพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลได้ทำงานที่ใช้ทักษะทางความคิดสูงขึ้นสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ลดการนำเข้าเทคโนโลยี AGV และซอฟท์แวร์ปีละกว่า 200 ล้านบาท
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :