5G Investment Disruption : การลงทุน 5G ที่อาจพลิกผัน

Share

Loading

0

บทความโดย :
ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม
8 มิถุนายน 2563
https://www.facebook.com/monsaks

0

5G เป็นที่จับตาอย่างมากตั้งแต่ก่อนการระบาดของCOVID-19 แต่หลังจากนี้อาจเกิดมุมมองที่แตกต่างหรือเปลี่ยนไป

ช่วงก่อนการระบาด ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยต่างผลักดันการประมูล 5G เพราะเชื่อว่าจะเป็นคลื่นลูกใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ และต้องการแสดงภาพความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี หรืออาจจะเพื่อให้มีรายได้จากการประมูล โดยหากพูดถึงเรื่องเงินลงทุน 5G แน่นอนว่าโอเปอเรเตอร์ทุกราย เมื่อเข้าประมูลย่อมต้องดีดลูกคิดมาเรียบร้อยว่า ต้องใช้เงินเท่าไหร่ จะหาเงินมาจากแหล่งไหน และประมาณการรายได้เป็นยังไง แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นช่วงก่อนการระบาดของCOVID-19 ที่สมการและตัวแปรต่าง ๆ ยังไม่คำนึงถึงปัจจัยเรื่องโรคระบาดและ New Normal

ปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของCOVID-19 จะทำให้การลงทุน 5G พลิกผันอย่างไร ?

เงินลงทุนอาจจะไม่ได้มาจากธนาคารซึ่งเป็นแหล่งเงินตามปกติที่ทำกัน และธนาคารเองก็อาจจะไม่มีเงินพอเพราะพิษเศรษฐกิจที่มาจากการแพร่ระบาดของCOVID-19 หรือไม่มั่นใจที่จะให้กู้ อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งเริ่มมีข่าวบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สนใจมาร่วมลงทุนในโอเปอเรเตอร์ในอินเดีย

– Facebook ลงทุน 5.7 พันล้านเหรียญ ใน Jio บริษัทโทรคมนาคมอันดับหนึ่งของอินเดีย [1]
– Amazon กำลังเจรจาซื้อหุ้น Bharti Airtel Limited หรือที่รู้จักกันในชื่อ Airtel บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมอันดับสามของอินเดีย [2]
– Google กำลังเจรจาซื้อหุ้น 5% ของ Vodafone Idea Limited ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมอันดับสองของอินเดีย [3]

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้วิเคราะห์ได้ว่ามันเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่สมส่วนกัน ดังนี้

  1. บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีนั้นมีเงินทุนที่สูงมาก จึงต้องการลงทุนในธุรกิจที่เสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเอง โดยในที่นี้คือช่องทางในการที่ตัวเองจะเข้าถึงลูกค้า ซึ่งก็คือผ่านทางเครือข่ายผู้ให้บริการมือถือนั่นเอง
  2. บริษัทโอเปอเรเตอร์ จะได้แหล่งเงินทุนที่ถูกกว่าการกู้ธนาคาร
  3. บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Google, Amazon และ Facebook เก่งเรื่องการทำประโยชน์จากข้อมูล ซึ่งจะเป็นการกลบจุดอ่อนของฝั่งโอเปอเรเตอร์ได้สบาย
  4. การหารายได้จากการลงทุนเครือข่าย 5G อาจจะเปลี่ยนไปจากยุคก่อนๆ โดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้เน้นเก็บค่าบริการรายเดือนจากค่าใช้เครือข่ายอีกแล้ว แต่อาจจะได้เห็นค่าบริการที่ถูกลงมากๆ หรือการให้บริการฟรี โดยแลกกับช่องทางให้บริษัทสามารถเข้าถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกจากอุปกรณ์ที่ติดตัวเราตลอดเวลา โดยหากยังนึกภาพไม่ออก อาจจะดูจาก Facebook หรือ Google ที่ทำบริการต่างๆ ให้เราใช้ฟรี โดยแลกกับการขายโฆษณาแบบยิงตรงถึงบุคคล หรือกลุ่มคนที่มีคุณลักษณะตรงกับสินค้านั้นๆ
  5. ในอนาคต กลุ่มลูกค้าของ 5G จะไม่ใช่แค่มนุษย์อีกต่อไป แต่จะเป็นระบบ IoT และ AI ซึ่งอาจจะเป็นอะไรก็ตามที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้และเริ่มมีความฉลาดในตัวเอง เช่น ระบบเซนเซอร์ หุ่นยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น หรืออาจเป็นการประยุกต์ใช้ปลายทาง เช่น ในตลาด Smart Home, Smart Factory, Smart City, Smart Building และ Smart Transportation

5G ในเมืองไทยจะเป็นยังไงต่อ ?

โอเปอเรเตอร์ในไทยยังต้องการเงินลงทุนอีกมากในการลงทุน 5G แต่จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้ไม่อาจแน่ใจได้ว่าแหล่งเงินทุนที่วางแผนไว้นั้นจะต้องมีการนำกลับมาทบทวนหรือไม่ เพราะหากจากปัจจัยจากการแพร่ระบาดของCOVID-19 และ New Normal จะเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนการลงทุนที่วิเคราะห์ไว้แล้ว เราอาจจะได้เห็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เข้ามาร่วมลงทุนกับโอเปอเรเตอร์ในไทยแบบที่กำลังเกิดขึ้นกับอินเดียก็ได้ แต่การทำธุรกิจในเมืองไทยนั้นมีความซับซ้อนตามแบบไทยๆ ไม่รู้ว่าจะเกิดข้อตกลงที่ลงตัวหรือไม่

ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การลงทุนที่เกิดขึ้นในอินเดีย อาจจะเกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นรายต่อไปก็เป็นได้

อ้างอิง

[1] https://techcrunch.com/2020/04/21/facebook-reliance-jio/

[2] https://www.blognone.com/node/116740

[3] https://indianexpress.com/article/business/companies/report-google-considering-taking-stake-in-vodafone-idea-6432284/

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.facebook.com/monsaks/posts/3513942768619337

เรียงเรียงโดย : บรรณาธิการ Security Systems Magazine