นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.และกรมท่าอากาศยานร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการศึกษาและการให้บริการผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมในระบบ 5G เพื่อสร้างความมั่นใจของประชาชนในการใช้บริการสนามบิน ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID -19 ด้วยการนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ดำเนินการป้องกันและทำงานในเชิงรุก
โดย Huawei จะเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ 5G นำร่องให้สนามบินจังหวัดกระบี่ใช้ฟรี ภายใต้งบประมาณ 6-10 ล้านบาท ในการเป็นสนามบินต้นแบบในยุค New Normal คาดภายใน 1 เดือนนับจากนี้ Huawei จะสามารถนำเข้าอุปกรณ์ 5G มาจากประเทศจีนได้ ขณะที่ผู้ให้บริการ 5G ของประเทศไทยจะมีหน้าที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ 5G เพื่อให้ให้อุปกรณ์ของ Huawei ใช้งานได้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายด้านเน็ตเวิร์กนั้น กรมท่าอากาศยานจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง
ทั้งนี้ เมื่อกรมท่าอากาศยาน เห็นต้นแบบของสนามบินดังกล่าวแล้วก็จะดำเนินการตั้งงบประมาณในการปรับรูปแบบสนามบินแห่งแรก และสนามบินที่เหลืออีก 28 แห่ง จากทั้งหมดที่มีอยู่ 29 แห่ง สำหรับอุปกรณ์ Huawei ที่จะนำเข้ามาให้บริการฟรีนั้น ตั้งแต่หุ่นยนต์เพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของประชาชน ในการบริหารจัดการให้มีการเว้นระยะห่างในสนามบิน , อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ เพื่อลดการสัมผัสแทนการใช้คนวัดไข้ และอุปกรณ์ในการฉายรังสียูวี กับสัมภาระเพื่อฆ่าเชื้อ
“การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาคบริการโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมการบินซึ่งถือเป็นประตูสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกโดยนำเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นบริการในกิจการโทรคมนาคมที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนำมาช่วยส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวเมื่อมาถึงประเทศไทย”
พร้อมกันนี้ วานนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) มีวาระแจ้งเพื่อทราบต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.เรื่องอำนาจการแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ของบมจ.อสมท. ตามที่มีหนังสือจากกรรมการบริษัท ของ อสมท. ที่ลาออกไปแล้ว แจ้งว่าอำนาจการตัดสินใจเรื่องส่วนแบ่งเงินเยียวยานั้นไม่ใช่อำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. แต่อย่างใด ดังนั้นที่ประชุม กสทช.เห็นชอบให้ กสทช. ส่งหนังสือกลับไปยัง อสมท. ว่าอำนาจดังกล่าว เป็นของใครกันแน่ จากนั้นค่อยส่งหนังสือมายัง กสทช.อีกครั้งหนึ่ง
ส่วนมติที่ประชุมเกี่ยวกับการอนุมัติเงินเยียวยานั้น กสทช. ได้ทำหนังสือแจ้งมติไปยัง อสมท. และ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด เรียบร้อยแล้ว หากไม่พอใจมติที่ประชุมให้ดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองภายใน 90 วัน ได้ ส่วนเรื่องเงินเยียวยา หาก อสมท. ตกลงจะรับเงินไปก่อนค่อยฟ้องร้องต่อศาลก็ทำได้ เหมือนกรณีการจ่ายค่าปรับการปกครองค่าเยียวยาของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่นำเงินมาจ่ายก่อนก็สามารถไปฟ้องศาลปกครองได้เช่นกัน
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :