สวัสดีเพื่อนสมาชิกนิตยสาร Security Systems ที่เคารพ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หรือ Work from home
ก่อนเข้าเนื้อหาผู้เขียนขอนำเสนอให้เห็นภาพการจราจรทางอากาศเปรียบเทียบกัน ในช่วงกลางเดือนเมษายน ปีที่แล้ว (2562) กับปีนี้ (2563) จำนวนเที่ยวบินลดลงจาก 15,523 เที่ยว เหลือ 3,908 เที่ยวเท่านั้น มองในแง่ดีก็คือทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง
ตอนนี้เรามาทำความรู้จักเขตหรือโซนของสนามบินกัน ต่อจากฉบับที่แล้วกัน เนื่องจากระเบียบปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยของแต่ละเขตหรือโซน จะมีเข้มข้นและรายละเอียดที่ความแตกต่างกันพอสมควร
Airside หรือ เขตการบิน
พื้นที่ภายในสนามบินที่เครื่องบินใช้สำหรับการขึ้น-ลง ขับเคลื่อน และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง รวมตลอดถึงอาคารหรือส่วนของอาคารที่ยื่นออกไปสู่พื้นที่นั้น มีการควบคุมและจำกัดการเข้า-ออก (restricted area) องค์ประกอบสำคัญในเขตการบินได้แก่
- ทางวิ่ง ทางขับ (Runways & Taxiways) พื้นที่สนามบินที่จัดเตรียมไว้สำหรับการขึ้นลงของเครื่องบินโดยเฉพาะ ทางวิ่งมีลักษณะเหมือนถนน แต่ต้องแข็งแรงทนทานกว่า เนื่องจากต้องรองรับเครื่องบินซึ่งมีน้ำหนักพิกัดมาก พื้นผิวทางวิ่งอาจเป็นคอนกรีตหรือแอสฟัลติกคอนกรีตก็ได้ แต่ที่สำคัญต้องมีผิวเรียบ และมีความลาดเอียงที่เหมาะสมกับการให้เครื่องบินขึ้นลงได้อย่างสะดวกและปลอดภัยความยาวของทางวิ่งขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์ของท่าอากาศยาน และความต้องการใช้ทางวิ่งของเครื่องบินแต่ละแบบ ถ้าเครื่องบินมีน้ำหนักพิกัดมาก (น้ำหนักรวมเมื่อบรรทุกเต็ม) ก็จะต้องใช้ทางวิ่งยาว สำหรับจำนวนของทางวิ่งที่ท่าอากาศยานแต่ละแห่งนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ ทิศทางลมและปริมาณการจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศยานนั้นๆ ท่าอากาศยานขนาดใหญ่มักมีทางวิ่งมากกว่าหนึ่งทางวิ่ง เช่น ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมีทางวิ่งสองทางวิ่ง แต่ละทางวิ่งมีความยาวประมาณ ๓,๗๐๐ เมตร และสามารถรองรับเครื่องบินได้ทุกแบบเนื่องจากทางวิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของเครื่องบินขณะขึ้นลง ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ให้นักบินสังเกตเห็นทางวิ่งได้ทั้งกลางวันและกลางคืน คือเวลากลางวันจะสังเกตได้จากเครื่องหมาย ซึ่งอาจเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร ส่วนเวลากลางคืนจะมีไฟนำร่องเป็นเครื่องหมายนำร่อง เพื่อนำเครื่องบินสู่ทางวิ่ง นอกจากนั้นยังต้องมีเครื่องช่วยเดินอากาศเพื่อใช้ในเวลาที่สภาพอากาศไม่ดีอีกด้วยทางขับ (TAXIWAY) คือ พื้นที่บนสนามบินที่จัดเตรียมไว้สำหรับให้เครื่องบินขับเคลื่อนระหว่างลานจอดอากาศยานกับทางวิ่ง หรือกล่าวได้ว่าทางขับเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างลานจอดอากาศยานกับทางวิ่ง คุณลักษณะของทางขับเหมือนกับทางวิ่ง คือต้องมีพื้นผิวเรียบ และรองรับน้ำหนักเครื่องบินได้อย่างดี ทั้งยังต้องมีความกว้างที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อเครื่องบิน
- ลานจอดอากาศยาน (Aprons) พื้นที่ที่จัดไว้สำหรับเป็นที่จอดเครื่องบิน ซึ่งต้องมีความกว้างและมีขนาดพอให้เครื่องบินจอด และเข้าออกได้อย่างปลอดภัย นอกจากนั้น ต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับรถบริการที่จะเข้าไปให้บริการด้านต่างๆ ในลานจอดอากาศยานขณะที่เครื่องบินจอดอีกด้วย ลานจอดอากาศยานอาจอยู่ชิดกับตัวอาคารผู้โดยสาร หรืออยู่ห่างออกไปจากตัวอาคารผู้โดยสารก็ได้ ขึ้นอยู่กับการให้บริการผู้โดยสารในการขึ้นลงเครื่องบิน ลานจอดอากาศยานที่อยู่ชิดกับตัวอาคารจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าสะพานเทียบเครื่องบิน ยื่นออกไปจากอาคารผู้โดยสาร เพื่อให้เครื่องบินจอดเทียบกับสะพานเทียบเครื่องบิน
- ทางเข้า-ออกเครื่องบิน (Gate) ผู้โดยสารสามารถเดินเข้า-ออกเครื่องบินโดยผ่านสะพานนี้ ผู้โดยสารมักจะนิยมเรียกว่า “งวง” เนื่องจากมีลักษณะเหมือนงวงช้างส่วนลานจอดอากาศยานที่อยู่ห่างจากตัวอาคารผู้โดยสารจะต้องมีระบบขนส่งผู้โดยสารระหว่างตัวอาคารและเครื่องบินทางออกขึ้นเครื่องบิน/ทางเข้าจากเครื่องบิน(GATE) คือ จุดที่ผู้โดยสารออกจากอาคารผู้โดยสารเพื่อไปขึ้นเครื่องบิน หรือจุดที่ผู้โดยสารเข้าสู่ตัวอาคาร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างตัวอาคารผู้โดยสารกับเครื่องบิน
- ศูนย์ควบคุมการบิน (Air [& Ground Navigation] Traffic Control Aids) การควบคุมจราจรทางอากาศจากภาคพื้นดินโดยควบคุมทิศทางของเครื่องบินทั้งในขณะแล่นอยู่บนพื้นดิน, บินขึ้น, ลงจอดและบินอยู่ในอากาศและให้บริการในน่านฟ้า หรือ Airspace ของแต่ละประเทศ เป็นงานที่ยึดถือระเบียบปฏิบัติตามมาตราฐานที่ ICAO กาหนดไว้
Landside หรือ เขตนอกการบิน
พื้นที่และอาคารภายในท่าอากาศยาน หรือสนามบินที่ไม่ได้อยู่ในเขตการบิน ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้ที่มิได้เดินทางสามารถเข้าออกได้โดยไม่มีการควบคุมองค์ประกอบสำคัญในเขตนี้ได้แก่
- อาคารผู้โดยสาร อาคารหลักที่ท่าอากาศยานจัดไว้สำหรับให้ผู้โดยสารขาเข้าและผู้โดยสารขาออกทำพิธีการต่างๆ สำหรับการเดินทาง ตลอดจนพักรอก่อนออกเดินทาง ดังนั้น อาคารผู้โดยสารจึงเป็นอาคารที่สำคัญ เพราะเป็นอาคารสำหรับให้บริการแก่ผู้โดยสารโดยตรง และถึงแม้ว่าท่าอากาศยานแห่งหนึ่งๆ จะต้องมีองค์ประกอบและสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง แต่อาคารผู้โดยสารจะเป็นอาคารที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดจากภายนอกท่าอากาศยานและเป็นเสมือนภาพรวม หรือตัวแทนที่จะแสดงให้เห็นว่าท่าอากาศยานมีขนาดใหญ่ โอ่อ่า และมีความทันสมัยเพียงใด
- ระบบการจราจรภายในท่าอากาศ-ยาน ซึ่งรวมทั้งที่จอดรถ ระบบขนส่งมวลชนทางราง
- เป็นต้น องค์ประกอบเหล่านี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอกท่าอากาศยาน เช่น ถ้าหากเราอยู่บนถนนวิภาวดี-รังสิตช่วงดอนเมือง ก็จะเห็นอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานกรุงเทพ ถนนภายในท่าอากาศยานลานจอดรถยนต์ แต่จะไม่สามารถเห็นองค์ประกอบของเขตการบิน (ถ้ามองจากภายนอก)
Airport Support : ส่วนสนับสนุนสนามบิน
- อาคารคลังสินค้า Cargo กิจการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นกิจการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะมีผลต่ออุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ อาคารคลังสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้กิจการด้านนี้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากอาคารคลังสินค้าเป็นสถานที่เชื่อมต่อระหว่างการขนส่งสินค้าทางอากาศกับภาคพื้นดิน ดังนั้น อาคารจึงต้องมีสถานที่ที่เพียงพอและมีการบริการด้านพิธีการต่างๆ รวมทั้งมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย
- โดยทั่วไปพื้นที่ของอาคารคลังสินค้าด้านหน้าจะมีพื้นที่ให้รถขนสินค้าจอดได้ สำหรับในอาคารเป็นสำนักงานเพื่อดำเนินพิธีการรับส่งสินค้าและส่วนที่เป็นคลังสินค้า (WAREHOUSE) ซึ่งส่วนนี้จะมีลักษณะเป็นอาคารโล่งๆ เพราะต้องมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับจัดวาง หรือเก็บสินค้าให้ได้จำนวนมากที่สุด โดยจะแบ่งออกเป็นพื้นที่สำหรับสินค้านำเข้าและส่งออก พื้นที่สำหรับสินค้าที่อาจเน่าเสียได้ง่าย เป็นต้น ภายในคลังสินค้ามีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับสำรองพื้นที่ การขนส่ง การให้ข้อมูล การออกเอกสารเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก ตลอดจนการติดตั้งเครื่องมืออัตโนมัติสำหรับใช้ในระบบจัดเก็บและขนถ่ายสินค้าภายในคลัง เป็นต้น
- อาคารบำรุงรักษาเครื่องบิน (Aircraft Maintenance)
- อาคารจัดเตรียมอาหาร (Catering)
- สถานีดับเพลิงและกู้ภัย (Fire Fighting and Rescue Station) ความปลอดภัยของเครื่องบินและผู้โดยสารนับว่าเป็นภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งของการให้บริการของท่าอากาศยาน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ จึงได้กำหนดให้ท่าอากาศยานต้องมีการช่วยเหลือผู้โดยสารและกู้ภัยเครื่องบินกรณีที่มีอุบัติเหตุขณะขึ้นลงที่ท่าอากาศยาน ดังนั้นท่าอากาศยานจึงต้องสร้างสถานีดับเพลิงและกู้ภัยเพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วไปที่ตั้งของสถานีจะอยู่ในเขตการบิน ในตำแหน่งที่สามารถให้ความช่วยเหลือเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
วิกฤติโลก COVID-19 ยังมองไม่จุดสิ้นสุด ดังนั้นเพื่อนสมาชิกทุกท่านคงต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนขอภาวนาให้ผ่านพ้นไปได้โดยเร็วและสามารถหาวิธีควบคุมหรือผลิตวัคซีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเถิด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://sites.google.com/site/snambin1111/xngkh-prakxb-khxng-snam-bin
https://elements.envato.com/top-view-of-the-airport-vector-illustration-2C6RNP