หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ซีเมนส์ (Siemens) แบรนด์ดังจากเมืองเบียร์ที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมไฟฟ้า ออกมาเผยว่า โลกกำลังมุ่งสู่ 5 เมกะเทรนด์ ดังนี้
- เทรนด์การเติบโตของมหานคร (Urbanization)
- เทรนด์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization)
- เทรนด์โลกาภิวัตน์ (Globalization)
- เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงด้านจำนวนประชากร (Demographic Change)
- เทรนด์ที่คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพราะปัญหาโลกร้อน (Climate Change)
โดย 2 ใน 5 เมกะเทรนด์ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อภาคธุรกิจรวดเร็วที่สุด คือ เทรนด์การเติบโตของมหานคร (Urbanization) และ เทรนด์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ซึ่งสามารถแยกย่อยได้อีกหลายมิติ
เทรนด์การเติบโตของมหานคร เมื่อตึกคุยกันได้ (Building can talk)
จากการวิเคราะห์คาดการณ์ของกลุ่มธุรกิจ ซีเมนส์ อินดัสเทรียล ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจสมาร์ทอินฟราสตรัคเจอร์ ธุรกิจดิจิทัลอินดัสทรี และธุรกิจลาร์จไดร์ฟแอปพลิเคชันส์ สุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีอีโอ ซีเมนส์ อินดัสเทรียล กล่าวว่า
“การเติบโตของมหานครซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ ได้เกิดมิติแยกย่อยขึ้นหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ มิติของอาคารพูดได้ (Building can talk) และความเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนในเมือง (Urban life transformation)”
จากนั้น สุวรรณียกตัวอย่างมิติของอาคารพูดได้ 3 ด้าน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
- ในด้านการบริหารอาคาร
อาคารจะสามารถให้ข้อมูลได้ว่า ควรบริหารอาคารอย่างไรจึงมีประสิทธิภาพสูงสุด และยังสามารถตรวจพบแนวโน้มที่อาจเกิดปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการบริหารอาคารลดลง แต่การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น - ในด้านการบริหารจัดการไฟฟ้า
การบริหารจัดการไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นแบบกระจายจากศูนย์กลาง (Decentralized Energy) คือ อาคารจะสามารถผลิตพลังงานได้เองจากพลังงานทดแทน และผู้บริโภคก็จะกลายเป็น Prosumer คือเป็นทั้งผู้ผลิตไฟและผู้ใช้ไฟฟ้า - ในด้านระบบสาธารณูปโภค
การบริหารงานบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าควบคุมจากระยะไกลผ่านมือถือได้ หรือการบันทึกข้อมูลลงมิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meter) ก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแบบอัตโนมัติได้เช่นกัน
“อาคารในอนาคตจะเชื่อมโยงและกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบพลังงานไฟฟ้า ทำให้อาคารเสมือนมีชีวิต เพราะสามารถเข้าใจผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ โต้ตอบเป็น เรียนรู้และปรับตัวได้ เช่น การใช้ Building Information Modelling (BIM) การใช้เทคโนโลยี Digital Twins ตั้งแต่ช่วงก่อสร้าง ช่วยให้เจ้าของอาคารสามารถเห็นภาพจำลองดิจิทัลของอาคารล่วงหน้าในทุกมิติ ทำให้การออกแบบเสมือนจริงมากที่สุด และส่งผลให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” สุวรรณีกล่าว
โดยในมิติของ Building can Talk สิ่งที่ผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานสามารถทำได้คือ คิดและวางแผนตั้งแต่การออกแบบตึก ระบบไฟฟ้า สาธารณูปโภค การบริหารดูแลตึกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาจอาศัยระบบ Simulator ช่วยสร้างภาพตัวอย่างตึกขึ้นมาประกอบการออกแบบ เช่น ด้านไหนของตึกที่โดนแดด อุณหภูมิตึกในช่วงบ่ายจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร คนจะเดินทิศทางไหน อย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งเทรนด์การเติบโตของมหานครและการใช้ชีวิตในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งอาจเกิดได้อีกในอนาคต
กรณีศึกษา : 3 ความล้ำหน้าแห่งอนาคต
-
Aspern Smart City Research (ASCR) ศูนย์วิจัยในประเทศออสเตรีย ต้นแบบโครงการเมืองอัจฉริยะ
Source : www.ascr.at/en/smart-building
Aspern เป็นเมืองอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งในยุโรป มีการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานจากผู้ใช้งานจริงทุกวันจำนวน 111 ครัวเรือน และมีจำนวนข้อมูลเข้าระบบวันละ 1.5 ล้านดาต้าเซ็ต
ซีเมนส์เข้าไปเป็นเทคโนโลยีพาร์ทเนอร์กับ Aspern โดยออกแบบสถานีไฟฟ้า อาคาร ระบบไฟ สมาร์ทมิเตอร์ และเซ็นเซอร์กว่าร้อยจุดในเมือง ให้สามารถส่งข้อมูลเข้าสู่ศูนย์ Data Analysis เพื่อการวิเคราะห์ หาคำตอบ และวางแผนเพื่อตอบโจทย์การบริหารจัดการพลังงานในอนาคต
ใน Aspern เป็นเมืองอัจฉริยะที่มี 111 อาคาร ซึ่งผ่านการออกแบบให้เชื่อมต่อข้อมูลกันผ่านคลาวด์ MindSphere เพื่อประมวลผลข้อมูลการใช้พลังงาน การผลิตและกักเก็บพลังงาน ตลอดจนการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะให้แก่เมืองอื่นๆ ต่อไป
ASCR Smart Grid
-
SAT ฟาร์มปลาอัจฉริยะ เพื่อความมั่นคงทางอาหารในสิงคโปร์
ภูมิประเทศของ สิงคโปร์ ที่มีลักษณะเป็นเกาะและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการเพาะปลูกและการดำรงชีวิต เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ต้องเร่งสร้าง ความมั่นคงทางอาหาร โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาภาคเกษตรกรรม
ดังที่มีการสร้าง Singapore Aquaculture Technologies (SAT) ฟาร์มปลาอัจฉริยะแห่งแรกในสิงคโปร์ ที่นำ AI และ MindSphere IoT แพลตฟอร์มจากอุตสาหกรรม 4.0 เข้ามาประยุกต์ใช้
Singapore’s Modern Farms Series: Singapore Aquaculture Technologies (SAT) | Source : www.sfa.gov.sg
ปลาในฟาร์มแห่งนี้จะถูกเลี้ยงในระบบปิดและมีกล้องวิดีโอคอยตรวจจับความเคลื่อนไหว ปริมาณออกซิเจนในน้ำ หากค่าลดลง ระบบจะเพิ่มออกซิเจนให้อัตโนมัติ ทั้งยังสามารถให้อาหารตามความต้องการของปลาได้อย่างแม่นยำ ทำให้ไม่มีอาหารปลาเหลือทิ้ง และไม่กระทบต้นทุน 65% ของค่าดำเนินการฟาร์มในส่วนที่เป็นค่าอาหาร
มูลค่าฟาร์มปลา SAT กว่า 90 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตปลาได้ 350 ตันต่อปี โดยทางสิงคโปร์ตั้งเป้าไว้ที่ 30/30 คือ ต้องการที่จะผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศ 30% ภายในปี 2030
-
VinFast โรงงานผลิตรถยนต์ที่เข้าสู่ Industry 4.0 เต็มขั้น
VinFast เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของชาวเวียดนาม ในเวียดนาม ซึ่งใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภารกิจที่นี่ ซีเมนส์เป็นผู้ออกแบบอาคาร ระบบบริหารจัดการ ระบบไฟฟ้า และควบคุมการทำงานของโรงงานผ่านซอฟต์แวร์บริษัท ให้เห็นภาพจำลองแบบ Simulator ก่อนสร้างของจริง
ด้วยความสามารถด้านการประสานเทคโนโลยีหลากรูปแบบ ทำให้โรงงาน VinFast แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วและสามารถผลิตรถยนต์ออกมาจำหน่ายได้ภายในเวลา 21 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วกว่าการสร้างโรงงานปกติถึงครึ่งหนึ่ง และในช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมา สุวรรณีเล่าว่า VinFast ได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะโรงงานใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด
VinFast เป็นรถที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย ฝีมือการออกแบบของชาวอิตาลี และมียอดส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก
“วันนี้ผลิตไฟได้เยอะแล้ว เปิดเครื่องซักผ้ากันดีกว่า”
ในอนาคต เราอาจจะได้ยินประโยคข้างต้นบ่อยขึ้น เพราะแนวโน้มของโลกมุ่งไปที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นลำดับแรก ไม่ว่าจะเป็นตามบ้าน อาคาร สถานที่ต่างๆ และเมื่อผลิตไฟได้มากขึ้น ผู้ผลิตที่สามารถบริหารจัดการหรือควบคุมการใช้พลังงานในแต่ละวันได้ ก็จะสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินให้แก่ผู้อื่นหรือภาคส่วนที่ต้องการใช้ต่อไป
IDA Energy Platform รวมพลังเพื่อโรงงานอัจฉริยะในประเทศไทย
Source : www.nstda.or.th
เนื่องจากซีเมนส์ได้ร่วมลงนาม MOU กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาครัฐ และภาคเอกชน แบบพหุภาคีออนไลน์ผ่านระบบ Webex เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ในการพัฒนา IDA Energy Platform เพื่อช่วยยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย โดยซีเมนส์นำเทคโนโลยี Mindsphere Cloud Platform และ IoT Gateway มาร่วมเก็บข้อมูลการใช้พลังงาน เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับที่เป็น Industrial Big Data ต่อไป
“การนำเทคโนโลยีและระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ กลายเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมของเรายังพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก เมื่อเกิดวิกฤตที่คนไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงเกิดผลกระทบสูง” สุวรรณีตั้งข้อสังเกต
CNC Shopfloor Management Software หนึ่งในซอฟต์แวร์สำหรับภาคอุตสาหกรรมของ Siemens Industrial
และอธิบายต่อว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่โควิด-19 เร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วน
“การเริ่มทำ Industry 4.0 assessment คือสิ่งจำเป็นที่อยากให้ผู้ประกอบการเริ่มตรวจสอบว่า โรงงานของคุณอยู่ในขั้นไหนของการพัฒนาสู่ Industry 4.0 แล้วเริ่มต้นจากตรงนั้น”
โดยหัวข้อที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- กระบวนการ (Process) – ในโรงงานมีกระบวนการผลิตอย่างไร
- เทคโนโลยี (Technology) – ในโรงงานนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บ้างหรือไม่
- โครงสร้างบริษัท (Organization) สอดคล้องกับการทำงานของเทคโนโลยีหรือไม่ รวมถึงทักษะของบุคลากรเป็นอย่างไร บริษัทมีแผน reskill ให้บุคลากรหรือไม่
“วิกฤตจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน นี่คือโอกาสที่เราจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเรา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต และเทคโนโลยีก็คือคำตอบของธุรกิจในวันนี้” สุวรรณีกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา :
Market-specific Solutions, Siemens
Singapore’s Modern Farms Series: Singapore Aquaculture Technologies
MindSphere – The Internet of Things (IoT) Solution
Digitalization for manufacturing using machine tools
VINFAST TO INAUGURATE ITS AUTOMOBILE FACTORY IN JUNE 2019
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.salika.co/2020/07/03/digitalization-aspern-sat-vinfast-case-studies/