7 วิถีเกษตรนวัตกรรม สร้างอาชีพคนคืนถิ่น

Share

Loading

การระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดกันว่าคนไทยกว่า 7 ล้านคน ถูกเลิกจ้างงาน แล้วจะเบนหน้าย้ายกลับถิ่นฐาน หวังหาลู่ทางสร้างอาชีพใหม่ด้านเกษตร

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร ได้ระดมสมองนักวิชาการ กูรูด้านเกษตรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ 7 นวัตกรรมด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศไทย

นวัตกรรมทั้ง 7 สาขา มีอะไรบ้างที่ผู้ถูกเลิกจ้างงานจะได้ใช้ยึดเป็นแนวทางทำกิน และ NIA พร้อมจะสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ การประชาสัมพันธ์ และการทำตลาด ให้กับสตาร์ตอัพด้านการเกษตร

1.เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร …เป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพมาตอบสนองเรื่องอาหารปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน…มี 4 แนวทางที่สำคัญ คือ การใช้ประโยชน์ไมโครไบโอมของจุลินทรีย์ดิน เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิต ควบคุมศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ดัดแปลงยีนให้ได้พืชที่มีคุณลักษณะตามต้องการ และวิเคราะห์ข้อมูลทางชีวภาพขนาดใหญ่

2.เกษตรดิจิทัล…เป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นำมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการใช้บล็อกเชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยด้านผลผลิต และนำมาใช้ในการตรวจสอบความผิดปกติ และข้อมูลย้อนหลังด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น การใช้เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลระดับน้ำในนาข้าว โดยเกษตรกรสามารถดูข้อมูลจากที่บ้านได้ผ่านมือถือ

3.การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่…โดย เฉพาะการทำเกษตรแนวตั้ง เหมาะสำหรับการทำเกษตรในเขตเมือง รวมไปถึงฟาร์มเลี้ยงแมลงแบบปิด ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก เนื่องจากแมลงกำลังจะกลายเป็นโปรตีนทดแทนของเนื้อสัตว์ในอนาคต

อย่าง YNsec สตาร์ตอัพชาวฝรั่งเศสที่มีระบบการเลี้ยงแมลงขนาดใหญ่ด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชม. ด้วยกำลังผลิต 20,000–25,000 ตันต่อปี

4.เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ…ช่วยประหยัดแรงงาน โดยใช้หุ่นยนต์มาช่วยดูขั้นตอนต่างๆ อย่างสตาร์ตอัพอิสราเอล “อารักกา” เปิดตัวหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ใช้ในการผสมเกสรในโรงเรือน โดยมี AI คอยบอกได้ว่าดอกไม้มีความพร้อมสำหรับการผสมเกสรดอกไม้เมื่ออุณหภูมิและระดับความชื้นเหมาะสม หรือสตาร์ตอัพไทยเทวดา คอร์ป ที่นำโดรนไปใช้ในการปลูกข้าวได้อย่างแม่นยำจนเพิ่มผลผลิตได้ถึงสองเท่า

5.บริการทางธุรกิจเกษตร…ระบบการจองอุปกรณ์การเกษตร ระบบการประมูลสินค้าเกษตร ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการตลาด และระบบเชื่อมโยงผลผลิตกับโรงงานอุตสาหกรรมหรือร้านอาหาร

6.การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง…การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเก็บรักษาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การติดตาม ตรวจสอบคุณภาพผลผลิตอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และไม่ทำลายผลผลิต เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศด้วยโอโซน การใช้สารเคลือบผิวเพื่อยืดอายุ และรักษาคุณภาพผลผลิตให้ได้นานขึ้น

7.ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี…การแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอนไซม์ หรืออื่นๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.thairath.co.th/news/local/1889169