หุ่นยนต์ตรวจการณ์จะเข้ามาแทนที่ในหน้าที่เสี่ยงอันตรายได้อย่างไร?

Share

Loading

หุ่นยนต์อัจฉริยะนั้นได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านอาชญากรรมสำหรับตำรวจและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การจัดการจราจรที่ทางแยกไปจนถึงการกู้ระเบิด เห็นได้ชัดว่าพวกมันเป็นเครื่องมือต่อต้านอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยทั้งแรงงานและชีวิตได้

แม้กระทั่งทุกวันนี้ เมื่อโลกกำลังเผชิญกับโรคระบาด หุ่นยนต์ตำรวจก็ได้เข้ามารับหน้าที่ที่เสี่ยงอันตรายมากมาย เช่นในออสเตรเลียที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานในแนวหน้าต้องเผชิญกับ “การถ่มน้ำลายโจมตี” หรือในสิงคโปร์ที่เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายถูกแทงขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาระยะห่างที่ปลอดภัย และแน่นอนว่าความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสก็มีมากขึ้นสำหรับพนักงานแนวหน้าเหล่านี้

การระบาดใหญ่แสดงให้เห็นว่าวิธีการรักษาแบบเดิมนั้นไม่เพียงพอ นี่เป็นโอกาสที่จะให้กองกำลังตำรวจนำการตรวจการณ์อัจฉริยะรวมถึงหุ่นยนต์ AI มาใช้ เราจะมาดูบทบาทที่น่าสนใจของตำรวจหุ่นยนต์ทั้งก่อนและหลัง COVID-19 ระบาดในโลก

ในฐานะผู้คุมเรือนจำ

ในโปฮัง ประเทศเกาหลีใต้ เรือนจำได้ทำการทดลองใช้ผู้คุมเรือนจำหุ่นยนต์ตัวแรก หุ่นยนต์เหล่านี้ช่วยลาดตระเวนเรือนจำด้วยตนเองด้วยกล้องความลึก 3 มิติ และระบบการสื่อสารไร้สายแบบสองทาง ร่วมกับซอฟต์แวร์ที่มุ่งเน้นการระบุรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะ ตัวหุ่นยนต์สูง 5 ฟุตกับตาไซคลอปติก ทำให้ลาดตระเวนทางเดินของคุกได้แบบ 24×7

การ์ดหุ่นยนต์นั้นได้รับการพัฒนาโดย Asian Forum for Correction โดยราคาอยู่ที่ตัวละ $ 879,000 โดยบริษัทเป็นหุ้นส่วนกับสถาบันวิจัยอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมและกลุ่มผู้ผลิต SMEC

การ์ดนั้นจะทำการลาดตระเวนด้วยตัวเองโดยใช้แท็กที่ตั้งอยู่บนเพดานทางเดินเป็นตัวนำทาง แต่ก็จะมีผู้คุมหนึ่งคนคอยดูแลและอาจมีการใช้ iPad ทันทีที่อัลกอริทึมการจดจำรูปแบบพฤติกรรมรับรู้ปัญหา มันจะส่งการแจ้งเตือนไปยังตัวควบคุมทันที ซึ่งจะช่วยได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นความพยายามฆ่าตัวตาย การจู่โจม หรือการยิงกัน

ในขณะที่สถานการณ์ยังไม่ร้ายแรง กล้องและไมโครโฟนแบบสองทิศทางจะช่วยให้ศูนย์ควบคุมสามารถสื่อสารกับนักโทษที่อยู่ที่นั่นได้โดยตรง การ์ดหุ่นยนต์นั้นได้รับการออกแบบโดยไม่มีคุณสมบัติที่ทำให้สามารถโต้ตอบกับนักโทษใดๆ สิ่งนี้แสดงถึงความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่เครื่องจักรจะมีการจัดการที่หยาบกระด้าง

ดูจากเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้ว หากการ์ดหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพ พวกเขาจะประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนแรงงาน นอกจากนั้น ยังบรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของนักโทษ และลดภาระงานของผู้คุมที่เป็นมนุษย์ในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่แย่

ในฐานะตำรวจจราจร

การจราจรในสถานที่หนึ่งในกินชาซา เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้ถูกควบคุมโดยหุ่นยนต์ 5 ตัว พวกมันถูกติดตั้งกล้องและสัญญาณไฟจราจรเพื่อควบคุมการไหลของการจราจรที่แผ่ขยายไปในเมืองที่มีประชากร 9 ล้านคน กล้องที่บริเวณอกจะหมุนเพื่อตรวจจับกระแสการจราจรและส่งภาพตามเวลาจริงไปยังสถานีตำรวจ

ตำรวจจราจรหุ่นยนต์แต่ละตัวนั้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์และทำจากอลูมิเนียม ขนาดของพวกมันใหญ่จนสามารถตั้งตระหง่านเหนือถนนที่ติดขัดเพราะรถที่เบียดเสียดกัน มือของหุ่นยนต์ได้รับการออกแบบให้ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนได้ตลอดทั้งปี

ซึ่งในหมู่คนขับรถแท็กซี่นั้น จะมีคนขับรถบางคนที่ไม่เคารพตำรวจจราจร แต่ด้วยหุ่นยนต์จราจรยักษ์เหล่านี้ เรื่องก็จะต่างออกไป หุ่น 2 ตัวแรกได้ถูกนำมาใช้ในปี 2013 และอีก 3 ตัวที่ชื่อว่า Tamuke, Mwaluke และ Kisanga ได้ถูกนำมาใช้เมื่อไม่นานมานี้ที่ราคาตัวละ 27,500 เหรียญ

Isaie Therese ประธานฝ่ายเทคโนโลยีสตรีกล่าวว่า หุ่นยนต์ตัวใหม่นั้นเร็วกว่ารุ่นเก่ากว่ามาก และเธอเชื่อว่าพวกมันจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและความรุนแรง ตามรายงานระบุว่า อุบัติเหตุและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการจราจรลดลงนับตั้งแต่มีการติดตั้งหุ่นยนต์ตำรวจจราจร

ในฐานะไลฟ์การ์ด

ในประเทศกรีซ Emergency Integrated Lifesaving Lanyard (EMILY) ได้ช่วยชีวิตผู้คนจากอุบัติเหตุทางน้ำ เช่นเมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงหมด

EMILY เป็นยานไลฟ์การ์ดหุ่นยนต์ที่คิดค้นโดย Tony Mulligan และ Bob Lautrup ในปี 2010 หุ่นยนต์ได้พยายามที่จะช่วยชีวิตผู้คนที่อยู่ในน้ำ และยังช่วยในภารกิจการค้นหาและกู้คืนโดยใช้เทคโนโลยีโซนาร์

ในช่วงวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย คนหลายพันคนแล่นเรือจากตุรกีไปยังกรีซเพื่อหวังหาที่พักพิง ทว่าการแล่นผ่านทะเลอีเจียนนั้นเต็มไปด้วยอันตราย เรือหลายลำที่ล่มและหลายพันคนเสียชีวิต ไลฟ์การ์ดที่เป็นมนุษย์นั้นไม่สามารถเข้าถึงแต่ละคนเพื่อให้ความช่วยเหลือได้เนื่องจากความแออัด และหน่วยยามฝั่งของกรีกก็ได้พบกับ EMILY ที่ช่วยยกระดับมาตรการช่วยชีวิตได้

EMILY เป็นยานทุ่นลอยควบคุมระยะไกลแบบสี่ขาที่ช่วยชีวิตคนเฉลี่ยเกือบสองคนในแต่ละวัน ยานพลังงานไฟฟ้าลำนี้ทำจากไฟเบอร์กลาสน้ำหนักเบา สามารถเดินทางได้เร็วถึง 24 ไมล์ต่อชั่วโมง และสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในน้ำเชี่ยว เมื่อไปถึงสถานที่ช่วยเหลือ ผู้อพยพสามารถจับที่มือจับของยานได้ และไลฟ์การ์ดมนุษย์บนบกจะคอยควบคุม EMILY ด้วยรีโมท

นอกจากนี้ EMILY ยังสามารถลอยตัวและส่งมอบเสื้อชูชีพได้ และมันยังมีสายกู้ภัยยาว 2,000 ฟุตเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยในการดึงนักว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ยานไร้คนบังคับนั้นสามารถดัดแปลงเข้ากับกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อช่วยตรวจนับจำนวนคนในน้ำ ด้วยการใช้ EMILY ทั้ง 2 เครื่อง ยามชายฝั่งกรีซและกาชาดกรีซได้นำผู้ลี้ภัยขึ้นฝั่งได้ประมาณ 500 คน

ในฐานะสุนัขหุ่นยนต์ในช่วงการระบาด

ประเทศสิงคโปร์กำลังทดสอบสุนัขหุ่นยนต์เพื่อให้แน่ใจในระยะที่ปลอดภัยภายในสวนสาธารณะ สวน และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ สุนัขหุ่นยนต์สีเหลืองชื่อสปอต มันถูกติดตั้งเซ็นเซอร์ความปลอดภัยที่ตรวจจับวัตถุและผู้คนในเส้นทางของมัน

สปอตได้ถูกนำไปใช้ในระยะ 3 กม. ที่บริเวณที่ราบริมแม่น้ำใน Bishan-Ang Mo Kio Park เป็นเวลา 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่ศูนย์แยก Changi Exhibition Center เพื่อส่งมอบสิ่งจำเป็นต่างๆ เช่น ยาให้กับผู้ป่วย

โดยสปอตจะประกาศข้อความที่บันทึกไว้เพื่อเตือนผู้มาเยือนให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย นอกจากนี้ สุนัขหุ่นยนต์ยังมีกล้องที่พัฒนาโดย GovTech ที่มีระบบการวิเคราะห์วิดีโอเพื่อประเมินจำนวนผู้เยี่ยมชมในสวนสาธารณะ ซึ่งกล้องเหล่านี้จะไม่มีความสามารถในการจดจำบุคคลและจะไม่มีการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล

การออกแบบของสปอตช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ข้ามภูมิประเทศที่แตกต่างกันและสิ่งกีดขวางได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอัลกอริธึมที่สามารถตรวจจับวัตถุหรือบุคคลใด ๆ ที่อยู่ในรัศมีหนึ่งเมตรรอบตัวมันเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส มันจะอยู่กับเจ้าหน้าที่หนึ่งคนตลอดช่วงเวลาทดลองนี้ หากรุ่นทดลองนี้ประสบความสำเร็จ สปอตจะมีหน้าที่ที่ Bishan-Ang Mo Kio Park ในช่วงเช้าและเย็น

อนาคตของหุ่นยนต์ตำรวจจะเป็นอย่างไรในเมืองอัจฉริยะ

ลองนึกภาพเมืองอัจฉริยะที่มีการตรวจตราโดยหุ่นยนต์ ทำให้เกิดความกังวลจากการพูดกันว่าพวกมันอาจจะกลายเป็นแบบเทอร์มิเนเตอร์โมเดล หรือว่าบางอย่างใน Robocop เรานั้นยังไม่มีหลักฐานที่จะชี้ไปยังอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่ามันเป็นความท้าทายที่จะใช้เครื่องจักรอัจฉริยะในการสร้างกองกำลังตำรวจที่ลดการเลือกปฏิบัติได้

แต่ถ้าเรามองจากมุมมองทางเทคโนโลยี มันก็เป็นแค่เครื่องมือ ขึ้นอยู่กับว่าผู้คนจะใช้มันในทางที่ถูกหรือผิด เหมือนอย่างเช่นอินเทอร์เน็ตเป็นต้น

ดังที่กล่าวไปแล้ว เมืองอัจฉริยะจำเป็นต้องระมัดระวังถึงศักยภาพของระบบการตรวจตราอัจฉริยะอย่างเต็มที่ กองกำลังตำรวจควรตรวจสอบการดำเนินงานของพวกเขาเพื่อกำหนดนโยบายเพื่อการใช้หุ่นยนต์ร่วมทำหน้าที่ในแนวหน้า ตำรวจหุ่นยนต์ควรประสานงานกับหน่วยข่าวกรองของตำรวจเพื่อให้มั่นใจในข้อมูลที่รวบรวมมาเพื่อการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ หน่วยงานตำรวจควรตระหนักถึงประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์

ท้ายที่สุดเราควรเข้าใจว่า AI (สมองของหุ่นยนต์) นั้นทำแค่ในสิ่งที่เราสอนให้ทำเท่านั้น สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการผสานกันระหว่างการใช้ข้อมูลและการฝึกอบรม ดังนั้น หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ถูกต้องแล้ว เราก็จะสามารถมองเห็นได้ถึงความสามารถในการตัดสินใจของ AI จากคำกล่าวของ Neil Sahota นักประดิษฐ์หลักของ IMB และที่ปรึกษาปัญญาประดิษฐ์แห่งสหประชาชาติในบทความของเขาที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Forbes

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.smartcity.press/robot-policing-in-smart-cities/

แปลและเรียบเรียง :

ทีมงาน Security Systems Magazine