อุทยานวิทยาศาสตร์ -วิศวะมหิดล ผนึกความร่วมมือ 6 แนวทางพัฒนานวัตกรรม-ผู้ประกอบการไทย

Share

Loading

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกกำลังความร่วมมือของสององค์กร เดินหน้า 6 แนวทางสู่เป้าหมายพัฒนานวัตกรรม – ส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทย คาดว่าจะเริ่มพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์-สุขภาพก่อน ในโอกาสเยี่ยมชมหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการ, เมืองนวัตกรรมอาหาร, ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ณ อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) สวทช.

คุณสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการผนึกพลังเพื่อสนับสนุนผลักดันให้เกิด Healthcare Eco-System กลุ่มผู้ประกอบการที่จะร่วมกันให้การส่งเสริมนั้นมีหลายกลุ่ม โดยจะเริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ในแนวทางการสนับสนุนแบบครบวงจร (One Stop Service) เช่นเดียวกับเมืองนวัตกรรมอาหาร และแนวทางการสนับสนุนแบบระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม (Technology Readiness Levels :TRLs) โดยการบริหารจัดการงานวิจัย รวมทั้งการต่อยอดนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์  ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการในอนาคต ระหว่าง ม.มหิดล และ อวท. เช่น Open Innovation การประชาสัมพันธ์กิจกรรมของแต่ละหน่วยงานให้ผู้ประกอบการทราบ  กิจกรรมบ่มเพาะนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) เกิดจากการมุ่งมองอนาคตของประเทศไทย เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านในอัตราที่เร็วขึ้นด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีวิกฤติโควิด-19 เป็นอีกตัวเร่งให้มีการปรับตัวและเตรียมพร้อม ด้วยศักยภาพประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและเครือข่ายของทั้ง 2 องค์กร ความร่วมมือครั้งนี้ประกอบด้วย  6 แนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัพ-ผู้ประกอบการ คือ

1. การส่งเสริมเทคโนโลยีจับคู่งานวิจัย (Research – Matching Technologies)
2.มาตรฐานและงานทดสอบ (Standard & Testing)
3.การให้คำปรึกษา (Consultation Panel)
4.โปรแกรมร่วมบ่มเพาะพัฒนานวัตกรรม (Co-Acceleration Program)
5.การหาทุนแหล่งทุนและทำการตลาด (Funding and Marketing)
6.การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech ในเชิงพาณิชย์ (Deep Tech Commercialization)

ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งก้าวสู่การเป็น World-Class Engineering เดินหน้าสร้างสรรค์งานวิจัยพัฒนานวัตกรรม การเรียนการสอน และพัฒนา Reskill และ Upskill บุคคลากรอุตสาหกรรมและบ่มเพาะผู้ประกอบการในประเทศไทยให้รองรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และวิถีนิวนอร์มอล โดยมีระบบนิเวศสำหรับบ่มเพาะวิศวกรแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) อาทิ

ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART Lab) สร้างสรรค์นวัตกรรมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยี, Innogineer Studio เปรียบเสมือนเวิร์คช็อป ครบครันเครื่องมือไฮเทคที่เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีและเมคเกอร์สามารถเข้ามาทำโปรเจคต่าง ๆ บ่มเพาะสตาร์ทอัพ สร้างชิ้นงานและต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์จากความฝันสู่ความเป็นจริง ส่วน Innogineer BAY เป็นศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก

ห้องปฎิบัติการการเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Lab :BCI LAB) ตลอดจน ศูนย์ LogHealth ซึ่งดำเนินงานศึกษาวิจัยและออกแบบพัฒนาระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาล และจัดทำแผนแม่บทระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภาคสาธารณสุขของประเทศ (HealthCare Logistics Big Data) นอกจากนี้ยังมีศูนย์นวัตกรรมและฝึกอบรมการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านนิติวิศวกรรม (Digital Forensic Innovation and Training Center : DFIT), สำนักงานวิจัยนวัตกรรมและบริการวิชาการ เป็นต้น รวมทั้งห้องปฏิบัติการทันสมัย ศูนย์วิจัยที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย