AI จะช่วยสถาบันการเงินหยุด ‘การฟอกเงิน’ ได้ ประเด็นที่ธนาคารไทย 91% เห็นพ้องต้องกัน

Share

Loading

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีขั้นสูงที่พูดถึงทีไร คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง ‘หุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนาจนเฉลียวฉลาดพอๆ กับมนุษย์’ ซึ่งในความเป็นจริง เทคโนโลยี AI อยู่ใกล้ตัวเรา (เช่น สมาร์ทโฟนที่คุณใช้อ่านบทความนี้อยู่) ทั้งยังมีการประยุกต์ใช้ในทุกอุตสาหกรรม และยังช่วยตรวจจับความผิดพลาดหรือป้องกันการฉ้อโกงได้ เช่น อุตสาหกรรมการเงิน ที่ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มหุ้น หรือพัฒนาจนสามารถใช้ป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน (Money Laundering) ได้

ผลสำรวจล่าสุดเรื่อง Integrated AML Compliance Survey ของ FICO องค์กรที่บุกเบิกการใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนายและวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงการตัดสินใจด้านการดำเนินงานให้ดีขึ้น เผยข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ธนาคารไทย’ ว่า

แม้ธนาคารไทยร้อยละ 91 เชื่อว่า AI จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แต่ธนาคารหลายแห่งก็ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิธีใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้

ข้อมูลสำคัญจากการสำรวจเกี่ยวกับการใช้ AI ช่วยป้องกัน ‘การฟอกเงิน’

  • ร้อยละ 91 ของธนาคารไทยเชื่อว่า AI จะหยุดการฟอกเงินได้มากขึ้น
  • ร้อยละ 95 ของธนาคารไทยยังคงเชื่อมั่นในการใช้ระบบ Rules-based แบบเก่าเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย AML (Anti-Money Laundering)
  • ร้อยละ 82 ของธนาคารระบุว่า ลำบากอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้
  • ร้อยละ 100 ของธนาคารไทย ระบุว่า จะลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางการเงินในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า
  • ร้อยละ 41 ของธนาคารไทยมีแผนจะเพิ่มการลงทุนด้านนี้อย่างมีนัยสำคัญในปี 2564

ในทางกลับกัน เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี Rules-based แบบเก่าที่ใช้กันมานาน ธนาคารไทยร้อยละ 95 ระบุว่า ยังคงเชื่อมั่นในความสามารถของระบบ AML แม้ธนาคารร้อยละ 82 ระบุว่าประสบกับความยากลำบากอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว

แม้ธนาคารส่วนใหญ่ยังยึดการใช้งานระบบเดิม แต่ Timothy Choon ผู้อำนวยการฝ่ายอาชญากรรมทางการเงินประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ FICO เผยว่า

“แต่เริ่มมีธนาคารบางแห่งเปิดรับเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI แล้ว และตระหนักได้ว่า ระบบแบบ Rules-based ที่ใช้มานานนับทศวรรษนั้น ไม่สามารถตามทันกลโกงรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนได้ โดยธนาคารข้ามชาติขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มที่จะใช้โซลูชัน AML ของบริษัทชั้นนำในโลกของเวนเดอร์ (Vendor) มากกว่า ขณะที่ธนาคารในประเทศเลือกที่จะใช้ระบบภายใน (in-house) มากกว่า”

ความท้าทายสำคัญที่วิเคราะห์ได้จากผลสำรวจระดับภูมิภาค แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะใช้โซลูชัน AML แบบเดิมหรือแบบใหม่ ได้แก่

  • ความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงประเภทใหม่ๆ ในช่องทางและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • ความสามารถในการจัดหาโซลูชันการปฏิบัติตามกฎแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ
  • ความสะดวกรวดเร็วในเปลี่ยนแปลงตามกฎระเบียบใหม่ๆ

ป้องกันไม่แน่นหนา อาชญากรรมทางการเงินก็ยังเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

หนึ่งในดัชนีชี้นำที่ผลักดันให้เปลี่ยนกลยุทธ์การจัดการอาชญากรรมทางการเงินจากผลสำรวจ Integrated AML Compliance Survey คือ ประสบการณ์ของลูกค้า โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 ใน 5 จัดอันดับให้เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ

ขณะที่ร้อยละ 17 ของธนาคารในเอเชียแปซิฟิก ยกให้เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งอยู่เบื้องหลังการดำเนินกลยุทธ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ ปัจจัยพิจารณาเพิ่มเติมที่อยู่ในอันดับ 2 และ 3 จากการจัดอันดับของธนาคาร ได้แก่ ความเสียหายต่อชื่อเสียง และ ความสูญเสียทางการเงินโดยตรง

ในด้านความหมายของ การฟอกเงิน ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุไว้ว่า เป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาเปลี่ยนสภาพให้เป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาอย่างถูกต้อง หรือเรียกได้ว่า กระบวนการทำ เงินสกปรก ให้เปลี่ยนสภาพเป็น เงินสะอาด หรือ การเปลี่ยนสภาพเงิน หรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย ให้ดูเสมือนว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ การฟอกเงินมีหลายรูปแบบ แต่แยกเป็น 2 ประเด็นหลักได้ว่า ทำผ่านสถาบันการเงินหรือผ่านช่องทางอื่น

  • ผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงิน
    • เปลี่ยนเงินสดจากเงินปลีกเป็นธนบัตรใหญ่ เรียกว่า ‘เงินสกปรก’
    • การแบ่งกันนำเงินสดไปฝากในจำนวนเงินที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ธนาคารต้องรายงาน
    • การสมคบกับธนาคาร หรือพนักงานของธนาคาร
    • การลักลอบขนเงินไปฝากในประเทศที่ไม่ตรวจสอบเข้มงวด
    • การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อปกปิดร่องรอย
  • ผ่านธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
    • การฟอกเงินในสถานพนัน ซึ่งหลายประเทศถูกกฎหมาย
    • การซื้อทองคำแท่ง แล้วค่อยๆ นำออกไปขาย
    • การลงทุนทางตรงในต่างประเทศ หรืออาจกู้เงินจากธนาคารในต่างประเทศแล้วชำระคืน
    • การนำเงินไปแลกเปลี่ยนอีกสกุลผ่านร้านค้า/บริษัทแลกเปลี่ยนเงินตรา
    • การซื้อกรมธรรม์แบบจ่ายเบี้ยประกันครั้งเดียว
    • การลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตรผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
    • การใช้บริการธนาคารนอกระบบ เช่น ประเทศไทยใช้วิธี ‘โพยก๊วน’ โดยไม่ทิ้งร่องรอย ทำให้ตรวจสอบได้ยาก

Choon กล่าวเพิ่มว่า ธนาคารจำเป็นต้องมีข้อมูลมากขึ้นเพื่อจัดการกับการเตือนภัยจำนวนมากซึ่งมาจากระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่รบกวนลูกค้าด้วยการถามคำถามเพื่อสอบทานธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสำหรับสูตรลับที่ใช้ในการลดความเสี่ยงจากอาชญากรรมทางการเงินให้สัมฤทธิผล คือ การใช้เทคโนโลยี AI ทำงานควบคู่กับระบบแบบ Rules-based

วิสัยทัศน์เรื่อง ‘เทคโนโลยีการปฏิบัติตามกฎ’

การเป็นองค์กรที่โฟกัสด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี FICO จึงเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูล สร้างงานวิจัยและเทคโนโลยี จนสามารถจดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ จำนวนกว่า 195 ฉบับ ทั้งๆ ที่ FICO เป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ แต่สามารถนำเสนอโซลูชันด้านการวิเคราะห์คาดการณ์ให้แก่องค์กรต่างๆ ใน 100 ประเทศ อาทิ โซลูชันที่ป้องกันการฉ้อโกงบัตรเครดิต/บัตรเดบิตได้ถึง 2.6 ล้านใบ โซลูชันที่ช่วยให้ผู้คนได้รับสินเชื่อ ไปจนถึงการรับประกันได้ว่า เครื่องบินและรถเช่าหลายล้านคันนั้นอยู่ถูกที่ ถูกเวลา

ย้อนไปดูที่ผลสำรวจ ร้อยละ 93 ของธนาคารทั่วเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายงบประมาณด้านเทคโนโลยีไปกับการอัปเกรด หรือไม่ก็ปรับปรุงระบบการปฏิบัติตามกฎที่ใช้อยู่เดิม

แต่สำหรับศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคอย่าง สิงคโปร์ และ ฮ่องกง กลับมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 2 ใน 3 ที่ระบุว่า ธนาคารของพวกเขาอาจจะ เริ่มการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีการปฏิบัติตามกฎ เมื่อพิจารณาจากการใช้จ่ายในด้านนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สำหรับในประเทศไทย ร้อยละ 100 ของธนาคารระบุว่า จะลงทุนในเทคโนโลยีการปฏิบัติตามกฎต่อไปในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า และร้อยละ 41 มีแผนจะเพิ่มการลงทุนด้านนี้อย่างมีนัยสำคัญในปี 2564

ทั้งนี้ คาดว่าระดับการลงทุนโดยรวมในด้านเทคโนโลยีปฏิบัติตามกฎของธนาคารในเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 49 ระบุว่าจะเพิ่มงบประมาณ ขณะที่อีกร้อยละ 34 คาดว่าจะเพิ่มงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ

Choon กล่าวเสริมว่า มีแนวโน้มที่จะมีการฟอกเงินมากขึ้น ดังนั้น การปฏิบัติตามกฎและการฉ้อโกงจึงเป็นความเสี่ยงด้านอาชญากรรมทางการเงินที่ยังพบได้ทั่วไป แต่ก็มีแนวโน้มในทางที่ดีเกิดขึ้น

“ถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ธนาคารในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักรก็อยู่ระหว่างการผนวกรวม ‘ส่วนงานด้านการปฏิบัติตามกฎ’ กับ ‘ส่วนงานด้านการป้องกันการฉ้อโกง’ เข้าด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรวมทีมงาน ผู้บริหาร และเทคโนโลยี เราจึงเชื่อว่า ธนาคารในเอเชียแปซิฟิกกำลังจะมองมาที่ตลาดเหล่านี้เพื่อดูว่าความพยายามดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ พร้อมทั้งมีแผนที่จะทำตามในอีก 24-36 เดือนข้างหน้า”

แม้เศรษฐกิจหลายประเทศตกต่ำเพราะโรคระบาด แต่ผลสำรวจฉบับนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ธนาคารยังคงมีแผนลงทุนเพิ่มแบบเล็งเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย AML ให้ได้มาตรฐานสากลและรอบคอบรัดกุมที่สุด

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.salika.co/2020/08/25/ai-anti-money-laundering-efforts-survey/