ระบบรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน ภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) คือหลักฐานสำคัญที่ใช้ประเมินวิเคราะห์เหตุการณ์หรือแม้แต่เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมากตามการขยายตัวของเมืองปริมาณข้อมูลก็มีมากขึ้นตามจำนวนของกล้องวงจรปิดปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา เช่น กรุงเทพมหานคร มีกล้องวงจรปิดประมาณ 57,000 ตัว (ณ ปี 2558) การส่งข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลและการค้นหาข้อมูลจึงเป็นปัญหาสำคัญ จากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบในการจัดการระบบขนาดใหญ่ ทำให้การใช้งานระบบกล้องวงจรปิดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การได้ข้อมูลเหตุการณ์ล่าช้า ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากในการสืบค้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นกัน จากมีถึง 4 วิทยาเขต ขนาดของพื้นที่ จำนวนคนและจำนวนรถ ขยายตัวเป็นปริมาณมาก การดูแลให้ทั่วถึงทำได้ลำบากขึ้น
เทคโนโลยีใหม่ที่รวดเร็วและแม่นยำ
ดังนั้นทางคณะ จึงได้พัฒนาระบบเครือข่ายกล้อง CCTV ปัญญาประดิษฐ์ ขนาดใหญ่ สายพันธุ์ไทยขึ้น เริ่มต้นจาก “ต้นน้ำ” ของข้อมูล คือ ภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อควบคุมเรื่องคุณภาพของภาพขนาดของข้อมูลให้เหมาะสม และเพิ่มความสามารถพิเศษให้กับกล้องวงจรปิด เช่น การวิเคราะห์ภาพภายในตัวกล้อง การส่งเสียงเตือน การควบคุมระบบพลังงานไฟฟ้าภายในกล้อง ทางทีมพัฒนาจึงเลือกที่จะพัฒนากล้องวงจรปิดโดยใช้ Platform Open Hardware และพัฒนาระบบปฏิบัติการของกล้องวงจรปิดขึ้นมาเอง มีการใช้ AI แบบ Deep Learning วิเคราะห์ภาพตั้งแต่ต้นทางที่ตัวกล้อง โดยทำหน้าที่เหมือนเป็น IoT แบบ Edge Computing คือคัดแยกประเภทวัตถุในภาพทำที่ตัวกล้อง เพื่อจะได้ลดภาระงานทางฝั่ง Server และส่ง Data ที่นอกเหนือจากการ Steam ส่งภาพ VDO มาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งประเภทวัตถุที่เจอในภาพพร้อมบอกชนิด พิกัด ขนาด สี ฯลฯ ออกมาด้วย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์เหตุการณ์และการจัดเก็บ นำไปสู่การค้นหาที่รวดเร็วและแม่นยำ
การประยุกต์การใช้งาน
ตั้งต้นด้วยข้อมูลจากภาพ เช่น การแยกประเภทของวัตถุภายในภาพ (รถยนต์ส่วนบุคคล, รถบรรทุก, จักรยาน, มอเตอร์ไซด์, คน ฯลฯ) การวิเคราะห์คุณลักษณะของวัตถุ (ใบหน้า, สีรถ, ทะเบียนรถ) การวิเคราะห์พฤติกรรมของวัตถุ (การเดิน, ความเร็วของรถ, ทิศทางของรถ ,นับจำนวนปริมาณรถแบบแยกประเภท) ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์เหตุการณ์ นอกจากการใช้งานด้านความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถใช้วิเคราะห์สภาพการจราจร ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎจราจร และสามารถประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตรได้ เช่น การตรวจโรคพืช นับปริมาณ ตรวจคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ
“ระบบกล้อง CCTV ของเราต้นทุนต่อตัวประมาณ 25,000 บาท เทียบกับกล้อง CCTV ภายนอกอาคารแบบมุมมองคงที่ราคากลางของกระทรวงดิจิทัลฯ 58,000 บาทต่อตัว (ยังไม่มี AI) ซึ่งในเมืองไทย ยังไม่สามารถออกราคากลางของกล้องที่มี AI ได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่ราคาตามท้องตลาดจะสูงมากระดับ 100,000 บาทขึ้นไป ยิ่งกล้องใด มี AI แยกวัตถุได้มากชนิดก็ยิ่งแพงตามจำนวน License Software แยกแยะเป็นชนิดๆ ยังไม่นับระบบคอมพิวเตอร์ การจัดเก็บ การวิเคราะห์ทางฝั่ง server ผมใช้คำว่า ระบบ CCTV ไม่ใช้คำว่า กล้อง CCTV เพราะคำว่าระบบ จะรวมทั้งกล้อง อุปกรณ์ Network อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ด้านฝั่ง Server ด้วย พวกนี้แพงๆ ทั้งนั้น โดยเฉพาะ Software ฝั่ง Server ก็แพงบวกเข้าไปอีก ซึ่งในต่างประเทศ Software เหล่านี้ระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป ยิ่งจำนวนกล้องเยอะเท่าไร ราคาก็จะถูกบวกตามจำนวนกล้อง แต่ Software นี้ เราทำเองได้แล้ว ราคาแค่ระดับ 1 ล้านบาท”
ความคืบหน้าขณะนี้ได้ติดตั้งระบบเสร็จหมดแล้ว ที่ ม.เกษตรฯวิทยาเขตบางเขน และศรีราชา รวม 200 กล้อง ยังเหลือวิทยาเขตกำแพงแสน และสกลนครที่จะทำต่อไป คาดโดยรวมจะเกือบ 1,000 กล้อง ที่ประดิษฐ์ทำกันเอง และกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ กล้อง CCTV ของเราสามารถทำเป็นระดับเมือง ระดับองค์กรได้ ปัจจุบันมีโรงงานติดต่อจะช่วยผลิตกล้องให้ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (งานจราจรและงานอาชญากรรม) กระทรวงกลาโหม กทม. และ จังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคง และบริษัทรักษาความปลอดภัยกำลังติดต่อประสานงานกันอยู่ในการติดตั้งระบบ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :