สวัสดีเพื่อนสมาชิกนิตยสาร Security Systems ที่เคารพ คำว่า “การ์ดอย่าตกนะครับ” ของ ท่านโฆษก ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เริ่มแผ่วลง เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศเหมือนจะอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ (หรือ “เอาอยู่”!!!) ในขณะที่สถานการณ์ของโลกกลับทวีความรุนแรงในการแพร่ระบาดรวมถึงบางพื้นที่ หรือบางประเทศเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 (Second Wave COVID-19) อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ขอให้ท่านผู้อ่านที่เคารพดูแลรักษาสุขภาพกาย และใจให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดและพิษเศรษฐกิจโลกให้ผ่านพ้นไปอย่างอยู่รอดปลอดภัยนะครับ
เอาล่ะครับ ฉบับที่แล้วได้เริ่มปูพื้นเรื่องความปลอดภัยการขนส่งทางน้ำได้รับทราบเบื้องต้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกิดจากความร่วมมือกันกับภาคีสมาชิกทั่วโลกกันแล้วนะครับ ฉบับนี้ขอย้อนหลังเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปเมื่อปี 2558 “สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2558 (Trafficking in Persons Report) หรือ TIP Report ปรากฏว่าไทยยังอยู่อันดับต่ำสุด หรือเทียร์ 3 (Tier 3) ตามเดิม ซึ่งเป็นอันดับที่ไทยถูกจัดอันดับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าเทียร์ 3 คือไอยูยู หรือการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน หรือไร้การควบคุม หลังจากเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้ใบเหลืองเตือนไทยในการแก้ปัญหาไอยูยู (IUU Fishing : Illegal Unreported and Unregulated Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการแก้ไข ซึ่งจะมาพิจารณาใหม่อีกครั้งใน เดือนตุลาคมนี้ ที่ไม่รู้ว่าไทยจะโดนใบเหลืองต่อ ถอดใบเหลือง หรืออาจโดนใบแดงที่มีผลระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทย หรือคว่ำบาตร ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี แถมองค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO) แจ้งผลการตรวจสอบมาตรฐานการควบคุมสายการบินของประเทศไทย ตามมาตรฐาน ICAO Universal Safety Oversight Audit Program หรือ USOAP ของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตการบินให้กับสายการบินต่าง ๆ ในเรื่องของการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล
ปรากฏกรมการบินพลเรือน สอบผ่านไปได้แค่ 21 รายการ ขณะที่ข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ “ยังสอบไม่ผ่าน” มีผลทำให้หลายประเทศที่เป็นสมาชิกของ ICAO มีคำสั่งห้ามสายการบินที่บินตรงจากประเทศไทย (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เข้าประเทศ สร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการและการท่องเที่ยวของประเทศ”
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลในยุคนั้น จำเป็นต้องกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของ IUU ทำให้ต้องมีการดำเนินการที่เกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยดังนี้
- การจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” (Command Center for Combating Illegal Fishing) เรียกโดยย่อว่า ศปมผ. (CCCIF) เป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.)
- ให้มีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (Port In – Port Out Controlling Center)
- ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) ซึ่งมีมาตรฐานสมรรถนะของอุปกรณ์และข้อกำหนดเชิงหน้าที่ (Performance Standards and Functional Requirements) โดยใช้ระบบดาวเทียม ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการที่กรมประมง ได้ดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเป็นไปตามหลักการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางทะเลรวมถึงเป็นการป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิด ควบคุมไม่ให้มีการประมงผิดกฎหมาย และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ขึ้น
ต้องถือว่าจากคำเตือนจากคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นการยกระดับความปลอดภัยทางทะเล (Maritime Safety and Security) ของประเทศไทยทางหนึ่งทำให้เรามีระบบเพื่อตรวจติดตามเรือประมงให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหา IUU และสามารถตรวจสอบการรุกล้ำของเรือต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาตที่เข้ามาในน่านน้ำไทยได้ด้วย
เรื่องความปลอดภัยการขนส่งทางน้ำ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยนะครับ ยกตัวอย่างฉบับนี้ยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องสังคมและเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย ฉบับหน้าพบกันใหม่กับเรื่องราวของ Transportation Security นะครับ
โดย เตชิต ทิวาเรืองรอง
ข้อมูลอ้างอิง
https://ec.europa.eu/fisheries/cfp/illegal_fishing/info_en
www.fisheries.go.th/management/marine-admin/vms58MAR.html
https://www.opsmoac.go.th/km-km_article-files-401591791793
https://thaienews.blogspot.com/2015/04/icao-iuu.html
http://www.aseanthai.net/english/ewt_news.php?nid=3110&filename=index