อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าเกมหมากรุกนั้นถือเป็นเกมการแข่งขันที่จะต้องใช้ไหวพริบและกลยุทธ์เป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการคิดอันสลับซับซ้อน และต้องใช้การวางแผนในเชิงลึก โดยอาจจะเรียกได้ว่าเกมนี้ถือเป็นตัวแทนของเกมการแข่งขันทางปัญญาก็ว่าได้ และเป็นรายการแข่งขันที่จัดแข่งกันในระดับโลกเลยทีเดียว
ซึ่งในปี 1997 ได้เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญของวงการหมากรุกและเทคโนโลยี โดยได้มีการจัดการแข่งขันระหว่าง AI และมนุษย์ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงแชมป์โลกผู้มีสถิติไม่เคยแพ้ใคร
คู่แข่งขัน
Gary Kasparov คือแชมป์โลกหมากรุกที่ได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักหมากรุกที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เคยมีเกมนี้มา และมีอิทธิพลต่อทฤษฎีการเล่นหมากรุกมาตลอดเวลากว่า 20 ปี โดยสไตล์การเล่นหมากรุกของ Kasparov นั้น จะมุ่งเน้นไปในทางการใช้กลยุทธ์ (tactic) ที่แยบยล พิสดาร ลึกล้ำเป็นหลัก รวมถึงเขายังเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องหมากรุกทุก ๆ แง่มุม รวมถึงยังเป็นผู้มีความรู้ด้านหมากรุก AI อีกด้วย ส่วนคู่แข่งขันของเขาก็คือ Deep Blue ซึ่งเป็นหมากรุก AI ของค่าย IBM
รูปแบบการแข่งขัน
ด้วยความที่ Kasparov นอกจากจะเป็นสุดยอดนักหมากรุกแล้ว เขายังเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับหมากรุก AI ด้วย ทำให้เขาสามารถที่จะวางแผนการเล่นได้โดยการวิเคราะห์จุดอ่อนของ AI และสามารถที่จะวางแผนกลยุทธ์จนเอาชนะ AI ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยได้แข่งกับ Deep Blue ซึ่งเป็นระบบหมากรุก AI ของ IBM มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1996 ซึ่งเขาก็เอาชนะ Deep Blue AI ได้ ต่อมาจึงได้มีการแข่งขันนัดล้างตาอีกครั้งในปี 1997
ซึ่งในการแข่งขันปี 1997 นั้น เป็นการแข่งขันกับแบบ 6 เกมส์ ซึ่งผลการแข่งขันคือ
- เกมที่ 1 มนุษย์ ชนะ
- เกมที่ 2 AI ชนะ
- เกมที่ 3 เสมอ
- เกมที่ 4 เสมอ
- เกมที่ 5 เสมอ
- เกมที่ 6 AI ชนะ
ซึ่งกติกาในปี 1997 นั้นระบุว่า Deep Blue มีสิทธิ์ที่จะปรับกลยุทธ์ระหว่างแข่งขั้นทั้ง 6 เกมส์ได้ รวมถึงยังสามารถเอาข้อมูลการเล่นของ Kasparov มาวิเคราะห์ได้ แต่ในฝ่ายของ Kasparov นั้นไม่สามารถนำเอาข้อมูลของ Deep Blue มาวิเคราะห์ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามฝ่าย Kasparov ก็ค่อนข้างมีความมั่นใจว่าเขาจะเอาชนะ AI Deep Blue ได้แน่นอน เพราะเขาเชื่อว่า AI มีจุดอ่อนก็คือการไม่สามารถอ่านกลยุทธ์ที่ลึกล้ำได้ เช่น การเล่นแบบยอมเสียสละหมากบางตัว เพื่อให้ได้เปรียบในการเล่นอีกหลายสิบตาข้างหน้า ซึ่งนี้จึงเปรียบเสมือนท่าไม้ตายของเขา ที่คิดว่าจะเอามาพิชิต AI ให้ได้เหมือนกับครั้งที่แล้ว แต่ทว่า Deep Blue กลับสามารถแก้เกมได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้ Kasparov ถึงกับประหลาดใจและลังเลใจ จนพ่ายแพ้ไปในเกมส์ที่ 2 และ 6
วิเคราะห์หลังการแข่งขัน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม Kasparov ก็ได้พยายามตั้งข้อสังเกตว่ามีความผิดปกติของ AI Deep Blue เพราะรูปแบบการเล่นคล้ายว่าเบื้องหลังอาจจะมีการควบคุมโดยมนุษย์ รวมถึงเขาได้ขอ log files ซึ่งเป็นการบันทึกการคำนวณต่าง ๆ ของระบบมาดู และยังขอแก้มืออีกครั้งด้วย แต่ทาง Deep Blue กลับปฏิเสธในการเปิดเผย log files และปฏิเสธที่จะมีการแข่งขันอีกครั้ง และได้ยุติ project เอาไว้เพียงเท่านี้
จนกระทั่งในปี 2012 หรือ 15 ปี ให้หลัง Murray Campbell หนึ่งใน 3 นักวิจัยจากทีม Deep Blue ก็ได้เปิดเผยถึงการแข่งขันในปี 1997 ว่า แท้จริงแล้ว ทีม Deep Blue ได้มีการปรับกลยุทธ์ระหว่างเกมส์การแข่งขัน ซึ่งก็เป็นไปตามข้อตกลง โดยการปรับกลยุทธ์ที่ว่านั้นเป็นการแก้ Bug ระหว่างเกมส์เท่านั้น ส่วนในการแข่งขันเกมส์ที่ 2 นั้น สิ่งที่ทำให้ Kasparov ตกตะลึงนั้นเกิดมาจาก Bug ของโปรแกรมนั่นเอง ซึ่งส่งผลให้การตัดสินใจของ Deep Blue กลายเป็นการเดินแบบ random ซึ่งส่งผลให้ Kasparov เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการเดินแบบมีแผนกลยุทธ์คล้ายกับมนุษย์ จนสุดท้ายเขาเสียสมาธิและแพ้ไปในที่สุด
ซึ่งหากฟังดูเผิน ๆ ก็อาจจะกลายเป็นว่า AI นั้นเอาชนะได้แบบฟลุ๊ค ๆ เพราะเป็นความผิดพลาดของตัวระบบ ซึ่งเผอิญกลับส่งผลดีต่อรูปเกม ทำให้สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ แต่ในเหตุการณ์นั้นก็ถือว่าสร้างความสั่นสะเทือนวงการหมากรุกและเทคโนโลยี รวมถึงได้ทำลายความเชื่อที่ว่า AI ไม่มีวันเอาชนะเกมแห่งปัญญา ที่ต้องใช้แผนกลยุทธ์อันลึกซึ้งได้
เหตุการณ์ให้หลัง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2003 ก็ได้มีการจัดแข่งขันหมากรุกระหว่าง AI กับมนุษย์อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ Kasparov ได้แก้มือกับ AI ที่มีชื่อว่า Deep Junior และ Fritz ซึ่งถือเป็นทายาทของ Deep Blue ก็ว่าได้ ซึ่งผลการแข่งขันก็คือเสมอทั้งสองรายการ
ต่อมาในปี 2002 ก็ได้มีการแข่งขันหมากรุกระหว่าง AI กับมนุษย์อีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการแข่งขันของแชมป์โลกคนถัดมา นั้นก็คือ Vladimir Kramnik ซึ่งแข่งขันกับ AI Fritz ซึ่งผลที่ได้ก็คือเสมอ และมีนัดล้างตาอีกครั้งในปี 2006 คือแพ้ไป 4-2 เกมส์ โดยในการแข่งขันครั้งนี้ กติกาได้ระบุว่าจะไม่มีการแก้โปรแกรมระหว่างการแข่งขัน รวมถึง Kramnik ยังมีสิทธิ์เข้าแข่งขันและวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นของ Fritz ก่อนที่จะมีการแข่งขันจริง ๆ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เองก็ไม่ได้ด้อยกว่า AI เสียทีเดียว เพราะการแข่งขันนั้นค่อนข้างสูสี แต่ในอีกมุมหนึ่งหลาย ๆ คนก็คาดการณ์ว่าในอนาคตนั้นเป็นการยากมากที่มนุษย์จะเอาชนะ AI ได้อีกบนระบบการคิดที่ซับซ้อนซึ่งพัฒนาไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังจะมีนวัตกรรมอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่รอการค้นพบนับจากนี้
เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://thaikeras.com
เครดิตรูปภาพ
www.pexels.com
บทความที่เกี่ยวข้อง ย้อนรอย 20 ปี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ AI เอาชนะแชมป์โลกหมากรุก (ตอนที่ 2)
0