เทคโนโลยีด้าน “การกำจัดขยะและของเสีย”
ระบบกำจัดขยะมูลฝอย ขยะมูลฝอยและของเสียต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และควรเริ่มตั้งแต่การมีระบบจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้พลังงาน และจัดเก็บขยะแต่ละประเภทต่างช่วงเวลา อีกทั้งการคัดแยกประเภทขยะเพื่อสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ รวมทั้งให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ระบบการจัดการด้านเทคโนโลยีขยะ มีหลายเทคโนโลยี โดยจะกล่าวโดยสังเขป ดังนี้
1.1 ระบบคัดแยกขยะ
เทคโนโลยีการคัดแยกช่วยทำให้สามารถคัดแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและปริมาณสูงกว่าการใช้แรงงานคน เช่น เครื่องคัดแยกโลหะ โดยใช้แม่เหล็กคัดแยกสารอินทรีย์ คัดแยกด้วยน้ำ ทำให้สามารถแยกขวดแก้ว ขยะ พลาสติก ชิ้นส่วนโลหะ ซึ่งจะถูกส่งไปยังหน่วยรีไซเคิลต่อไป เมื่อได้ขยะอินทรีย์จะถูกส่งผ่านเครื่องสู่เครื่องย่อยหรือบด สำหรับส่งไปผลิตปุ๋ยหรือหมักก๊าซชีวภาพต่อไป
1.2 ระบบรีไซเคิล
พลาสติก แก้ว กระดาษ และโลหะ ที่ถูกคัดแยกจากขยะจะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลสำหรับหลอมและขึ้นรูปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าใหม่อีกครั้ง ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรและปริมาณขยะที่ต้องกำจัด
1.3 ระบบจัดการขยะมีพิษ
ขยะอันตรายหรือกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย เช่น สารไวไฟ สารกัดกร่อน สารพิษ สามารถกำจัดโดยวิธีทางชีวภาพ การเผา การปรับเสถียร หรือการฝังกลบ แต่ในอนาคตควรมีการพิจารณาด้านการลดหรือการเปลี่ยนวัตถุดิบเพื่อลดปริมาณขยะอันตราย การนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือการนำกลับคืนวัสดุและพลังงานออกจากขยะอันตราย รวมทั้งการสกัลป์ของมีค่าที่เป็นองค์ประกอบของขยะ วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้สามารถลดปริมาณและอันตรายจากขยะได้อย่างมาก สำหรับขั้นตอนการขนส่งจะต้องมีเอกสารหรือระบบติดตามขนส่ง เพื่อควบคุมขั้นตอนการทำงานอย่างถูกวิธี ไม่ก่อให้เกิดพิษต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม
1.4 การทำเชื้อเพลง (RDF)
การใช้ขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้เพื่อการเผาไหม้โดยตรง มักก่อให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งาน เนื่องจากความไม่แน่นอนในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นขยะมูลฝอย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามชุมชนและตามฤดูกาล อีกทั้งขยะมูลฝอยเหล่านี้มีค่าความร้อนต่ำ มีปริมาณเถ้าและความชื้นสูง สิ่งเหล้านี้ก่อความยุ่งยากให้กับผู้ออกแบบโรงเผาและผู้ปฏิบัติ และควบคุมการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ยาก การแปรรูปขยะมูลฝอยโดยผ่านกระบวนการจัดการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของขยะมูลฝอยเพื่อทำให้กลายเป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel; RDF) ซึ่งจะมีค่าความร้อนสูง และในหลายกรณีจะอัดเป็นแท่งให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่างข้างต้นได้
1.5 การทำปุ๋ยหมัก
ขยะที่มีสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบหลักยังสามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักสำหรับการเกษตรในชุมชน เนื่องจากมีสารอาหารต่าง ๆ สูงช่วยลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ซึ่งอาจตกค้างในพื้นดินและแหล่งน้ำ อีกทั้งยังช่วยลดพลังงานในการขนส่งปุ๋ยทางอ้อม เนื่องจากไม่ต้องมีการขนส่งจากแหล่งอื่น และเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
1.6 การฝังกลบ
ในอนาคตเมืองอัจฉริยะมุ่งเน้นในการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบ แต่บางเมืองที่มีพื้นที่จำนวนมาก การฝังกลบยังคงเป็นวิธีการที่ลงทุนน้อย จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการควบคุมและออกแบบหลุมฝังกลบให้มีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้วัสดุรองพื้น ปิดหลุมและการรวบรวมก๊าซและน้ำเสียที่เกิดขึ้น ข้อดีของการฝังกลบคือการทำงานไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับชุมชนที่มีพื้นที่มาก ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งขยะมาฝังกลบ และมีความเสี่ยงจากไฟไหม้ เนื่องจากการที่มีก๊าซมีเทนเป็นผลจากการฝังกลบ อีกทั้งยังอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและสัตว์พาหะ หากดำเนินการไม่ถูกหลักสุขาภิบาล
1.7 เตาเผาขยะ
การกำจัดขยะอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้เวลาสั้นและใช้พื้นที่น้อยคือการเผา เทคโนโลยีการเผาที่มีการพัฒนาสามารถควบคุมความร้อนและมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นได้จึงเหมาะกับเมืองที่มีพื้นที่น้อย ขยะที่นำมาเผาต้องมีการแยกประเภทอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันขยะมีพิษ ความร้อนของอากาศที่ปล่อยยังสามารถดึงกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกเช่นกัน เช่น ใช้ในการต้มน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ตัวอย่างเตาเผาขยะของประเทศไทยที่สามารถนำความร้อนที่ได้ไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้อยู่ที่ จ.ภูเก็ต
สำหรับรายละเอียดเทคโนโลยีจัดการขยะและของเสีย ยังไม่หมด เทคโนโลยีการจัดการขยะยังคงเหลืออีกหนึ่งเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการขยะอุตสาหกรรม ซึ่งตอนต่อไปจะได้ครบชุดของระบบนิเวศใหม่ใน Smart City
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.matichon.co.th/economy/news_2225873
ผู้เขียน : ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร