Internet of Things หรือ IoT คือสิ่งที่มีการกล่าวถึงกันในประเทศไทยมาหลายปี และค่อย ๆ เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย IoT หมายถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้าง ให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย ทำให้สามารถเก็บบันทึกข้อมูล และควบคุมการทำงานจากระยะไกล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวมถึงยังสามารถนำเอาข้อมูลที่บันทึกไว้มาวิเคราะห์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย
โดยในโอกาสนี้ Security Systems Magazine ได้รับเกียรติจากคุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกและผลักดันให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทยจนมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
โดยคุณนิติ เมฆหมอก ได้เปิดเผยถึงกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต และทิศทางที่จะช่วยยกระดับวงการไอโอทีของประเทศไทยดังนี้…
สมาคมไทยไอโอที
สมาคมไทยไอโอที จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ด้วยจุดมุ่งหมายหลัก 4 ด้าน คือ สร้างความตระหนักรับรู้ สร้างคนที่มีทักษะ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และสร้างการใช้งานที่มีคุณค่า ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการทำให้เทคโนโลยี IoT สามารถที่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และภูมิภาค ASEAN ได้อย่างสมบูรณ์
แม้ว่าสมาคมไทยไอโอทีจะก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ก็ถือเป็นสมาคมที่มีแนวคิดก้าวหน้า และสอดรับกับกระแสการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของโลกได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ได้รับความสนใจจากผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง
“หากมองถึงเรื่องของ IoT ในแง่ของ Value Chain แล้วจะพบว่ากว้างมาก โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบ Chip ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ทำเรื่องนี้ ถัดจากนั้นก็จะเป็นกลุ่มที่ทำผลิตภัณฑ์ซึ่งกลุ่มนี้มีผู้ที่ทำอยู่พอสมควร ต่อจากนั้นก็จะเป็นกลุ่มที่ทำเรื่องของการเชื่อมต่อข้อมูล โดยจะอยู่ในส่วนของการสนับสนุนด้านเครือข่ายสัญญาณ เช่น AIS, True, dtac, CAT และ TOT เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการรับส่งข้อมูลแล้วก็ต้องมีการจัดเก็บ รวมถึงมีการคัดเลือกและกรองข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ โดยจะเป็นในส่วนของการสร้าง Platform ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ทำเรื่อง Platform ในประเทศมีอยู่ไม่มากนัก”
“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า IoT นั้น ในแง่ของ Value Chain จะกว้างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการร่วมกลุ่มหรือสร้างเครือข่ายกัน เพราะไม่มีใครที่สามารถทำได้สมบูรณ์แบบครบถ้วนทุกอย่างตามที่กล่าวมา โดยทางสมาคมไทยไอโอทีได้มีแผนที่มุ่งเน้นไปในการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือกันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การสร้างความร่วมมือกับสมาคมด้านการค้าและเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงต่างประเทศก็ได้มีการสร้างความร่วมมือเชื่อมโยงกับไต้หวัน จีน สิงคโปร์ เป็นต้น” คุณนิติกล่าว
Synergy Technology
บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด คือผู้ผลิตสินค้าและบริการด้าน IoT และ Smart City Solution อย่างครบวงจร โดยมีประสบการณ์ยาวนานกว่า 13 ปี และถือเป็น SME ที่มีความมั่นคงด้วยผลประกอบการหลัก 100 ล้านบาท ซึ่งยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 10-15 % ในทุก ๆ ปี
“ซีนเนอร์ยี่ เริ่มต้นจากการเป็นผู้ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เมื่อเราทำธุรกิจไปได้ 2 ปี ก็มีการประเมินว่าเราควรที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าเพื่อให้องค์กร เพื่อให้สามารถอยู่ได้บนกระแสการเติบโตของเทคโนโลยี จึงได้มีการขยายฐานธุรกิจออกไป โดยได้สร้างทีมวิจัยและพัฒนาเพื่อริเริ่มธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการด้านการออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ (printed circuit board: PCB) ขึ้นมา และต่อมาก็ได้เป็นผู้ผลิตด้วย โดยใช้ฐานการผลิตจากประเทศจีน ซึ่งซีนเนอร์ยี่มีโรงงานที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจอยู่ในจีน โดยได้ดำเนินธุรกิจร่วมกันมากว่า 10 ปีแล้ว ซีนเนอร์ยี่ รับงานโดยลงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์บนแผ่นวงจรพิมพ์ด้วย โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์”
หลังจากจุดเริ่มต้นในการออกแบบและผลิตแผ่นวงจร ต่อมาซีนเนอร์ยี่ก็ได้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำทั้งในส่วนของ Hardware และ Software ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการนำ AI เขามาใช้ อันเปรียบเสมือนสมองกลที่บรรจุอยู่ในผลิตภัณฑ์
ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่าซีนเนอร์ยี่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมากว่า 13 ปี และมีการขยายฐานธุรกิจครอบคลุมในส่วนของ IoT และ Smart City เกือบจะครบทุกด้าน
สถานการณ์และภาพรวม IoT ทั่วโลก
ผลกระทบจาก COVID-19 นั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลไปทั่วโลก แม้แต่ในส่วนของเทคโนโลยี IoT ด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจัยนี้ก่อให้เกิดการชะลอตัวของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์บางอย่าง ทำให้มีความล่าช้าออกไป แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็ได้เป็นแรงผลักดันอันสำคัญ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีกลุ่ม HealthTech จนมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
“เราพบว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทั่วโลกต่างมีการนำเสนอ Solution ที่เกี่ยวกับ HealthTech มาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการของตลาดมีสูงมาก จึงทำให้เทคโนโลยีในกลุ่มนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้เทคโนโลยีในกลุ่มอื่น ๆ จะชะลอตัวไปบ้างก็ตาม”
แนวโน้มด้าน IoT ของประเทศไทย
HealthTech ถือเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถเห็นการเติบโตได้อย่างชัดเจน แม้แต่ “ซีนเนอร์ยี่เองก็ได้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว จนสำเร็จลุล่วงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ นั้นก็คือหุ่นยนต์ UVC, UVC Sterilizer Station ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ โรงแรมระดับ 5 ดาวหลายแห่ง รวมถึงกลุ่มโรงเรียน, ผู้บริการสปาและสถานเสริมความงามต่าง ๆ ก็ได้มีการนำเอาไปใช้ด้วย”
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า HealthTech ถือเป็นกระแสการพัฒนาที่จะมองข้ามไปไม่ได้ในระยะนี้
“สำหรับแนวโน้มในปีหน้าถ้าหากสถานการณ์ COVID-19 ไม่ยืดเยื้อออกไปมากกว่านี้ และมีวัคซีนที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดการฟื้นตัวกลับคืนมาในกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อนอันสำคัญคือเทคโนโลยี 5G นั้นเอง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลจำนวนมหาศาล เช่น กลุ่ม VDO สตรีมมิ่ง AR VR ต่าง ๆ ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มนี้จะมีการโอกาสเติบโตในปีหน้า”
แนวทางการยกระดับวงการไอโอทีไทย
- ให้ความสำคัญคือเรื่องของทรัพยากรบุคคล นอกจากการที่เราจะมุ่งไปที่บุคลากรที่สำเร็จการศึกษาใหม่ ๆ แล้ว กลุ่มบุคคลากรที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นควรที่จะมีการ ReSkill – UpSkill ด้วย เพราะการหวังแค่บุคลากรที่จบใหม่อาจจะยังไม่เพียงพอ รวมถึงควรมีการส่งเสริมการเรียนทางด้านอาชีวะให้มากขึ้น เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรงงานสำคัญที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม
- ภาครัฐควรที่จะมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจด้าน IoT โดยเฉพาะกลุ่ม SME ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีนี้ เช่น ภาครัฐควรมีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านปัญหากระแสเงินสด โดยอาจจะให้มีการยืดหยุ่นในด้านการผ่อนชำระ ซึ่งจะช่วยให้ SME มีโอกาสเติบโตและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน
- ผู้ที่ดำเนินธุรกิจต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ ต้องมีการตื่นตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของระบบการตลาดและการบริหารงานยุคใหม่ ซึ่งถ้าหากใครไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ก็จะถูกกลืนหายไป
- มีการร่วมมือทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายของงานวิจัยของประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และเป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจ จนสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการได้
- รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้เกิดพลังทั้งในแง่ของการเรียนรู้ร่วมกัน ตลอดไปจนถึงสามารถสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีต่าง ๆ ร่วมกัน จนสำเร็จลุล่วงก้าวหน้าไปได้
สิ่งที่อยากฝากทิ้งท้าย
“ผมเชื่อว่าเรื่องความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ การรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมและทำความร่วมมือกัน จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และทำให้เราเข้าถึงโอกาสได้ดีกว่า ซึ่งสมาคมไทยไอโอทีมีความยินดีที่จะเป็นจุดประสานความร่วมมือของผู้ที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี IoT ของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจในภาคเอกชน หน่วยงานของภาครัฐ ตลอดจนอาจารย์และนิสิตในสถาบันการศึกษา บนพื้นฐานความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้วงการไอโอทีไทยมีความก้าวหน้าทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและวิทยาการ” คุณนิติ กล่าวทิ้งท้าย
สมาคมไทยไอโอที
1933 หมู่ 10 ซ.แบริ่ง 36 ถ.สุขุมวิท 107 ต.สำโรงเหนือ
อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10270
โทร. 02-743-2533, 092-690-9892
บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด
9/227, 9/230 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง ปทุมธานี 12120
โทร. 02-516-1594-5, 02-516-1596