วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีเปิด CCTV Training Center ศูนย์เรียนรู้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในสถานศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย

Share

Loading

CCTV ถือเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา CCTV สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านความปลอดภัย รวมถึงยังนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสาขาอาชีพอย่างหลากหลาย จึงกล่าวได้ว่า CCTV ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในสังคมยุคดิจิทัล เป็นอุปกรณ์อรรถประโยชน์ที่ครอบคลุมทุก ๆ วงการ

แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันเรากลับพบว่ายังไม่มีสถาบันการศึกษาใดที่สอนองค์ความรู้ด้าน CCTV อย่างเป็นทางการ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ในสายงานช่างกล้อง CCTV มักจะเป็นบุคลากรที่ผันตัวเองมาจากสายงานด้านอื่น เช่น ช่างคอมพิวเตอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

แต่โอกาสนี้ Security Systems Magazine ได้รับเกียรติสำคัญจาก อ.เรวัช ศรีแสงอ่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ริเริ่มขับเคลื่อนการเรียนรู้เชิงวิชาการด้าน CCTV อย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ ศูนย์เรียนรู้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV Training Center)

วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี

“วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีถือเป็นสถาบันการศึกษาในลำดับต้น ๆ ของประเทศก็ว่าได้ โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 ตามนโยบายขยายการเรียนการสอนในสายอาชีพให้เข้าถึงส่วนท้องถิ่น ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีถือเป็นหนึ่งใน 4 เฟืองทอง อันได้แก่ ช่างกลปทุมวัน พระนครเหนือ ช่างกลนนท์ แล้วก็ช่างกลลพบุรี” อ.เรวัช กล่าว

สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีในปัจจุบันนี้ จะมีความหลากหลายถึง 22 สาขา ครอบคลุมทั้งในด้าน ช่างอุตสาหกรรม, พณิชยกรรม, คหกรรม, ศิลปกรรม, บริหารธุรกิจ, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาอยู่ประมาณ 5,000 คน

จุดเริ่มต้นของโครงการ CCTV Training Center

เดิมทีนั้นวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีได้มีการทำความร่วมมือกับสถานประกอบการภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากมองอย่างตรงไปตรงมา ในปัจจุบันเราจะพบว่าเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งในภาคเอกชนจะค่อนข้างมีความตื่นตัวและเท่าทันต่อเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าหากมีความร่วมมือกันระหว่างภาคสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่เท่าทันสำหรับนักศึกษาได้นั้นเอง

โดยในปัจจุบันจะมีสถานประกอบการประมาณ 200 – 300 แห่งที่วิทยาลัยฯ ได้มีการส่งนักศึกษาเข้าไปฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ตามสาขาอาชีพที่หลากหลายและเป็นไปตามหลักสูตรวิชาการที่นักศึกษาจำเป็นจะต้องเรียนรู้

แต่สำหรับ “โครงการ CCTV Training Center นั้น คงจะกล่าวได้ว่าเริ่มต้นมาจากทางกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นว่าวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีนั้นมีความพร้อม เนื่องจากเป็นวิทยาลัยขนาดใหญ่พิเศษ มีนักศึกษาจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้คือศักยภาพอันโดดเด่นที่จะสามารถทำโครงการดี ๆ ได้หลายเรื่อง และถ้ากลับมามองที่เรื่องของ CCTV ก็ถือเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจมาก และจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับนักศึกษาได้”

“เพราะในปัจจุบัน CCTV ไม่ใช่แค่เรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว แต่เรายังสามารถที่จะนำไปบูรณาการให้ใช้งานได้อย่างหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น ถ้าหากเป็นโรงงานกลึงโลหะ เดิมทีอาจจะต้องให้คนมายืนเฝ้าเครื่องอยู่ตลอดเวลาทำให้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและสิ้นเปลืองกำลังพล เราก็อาจจะเอา CCTV มาช่วยก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ เรื่อง CCTV นั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่แง่มุมของระบบรักษาความปลอดภัยอีกต่อไป”

กลุ่มเป้าหมายและสาธารณะประโยชน์

“สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก ๆ ก็จะเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี โดยที่ทุก ๆ สาขาวิชาจะได้มีโอกาสมาเรียนรู้เรื่อง CCTV เพราะเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างหลากหลาย เช่น เราเอาไปประยุกต์ใช้กับงานก่อสร้างก็ได้ โดยการติดตั้งกล้อง CCTV เอาไว้ เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถตรวจดูความคืบหน้าของการก่อสร้างได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องมาที่ไซต์งานก็ได้”

รวมถึงโครงการนี้เราตั้งใจที่จะให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยหวังว่าจะสามารถขยายผลให้เกิดประโยชน์ไปยังสถานบันการศึกษาที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย เพราะนอกจากที่ผมจะเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีแล้ว ผมยังดำรงตำแหน่งประธานอาชีวศึกษาภาคกลาง 14 จังหวัด ดังนั้น ผมจึงตั้งใจว่าอยากจะให้สถาบันอาชีวศึกษาอื่น ๆ กว่า 70 แห่งได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย”

โดยในปัจจุบัน สถาบันอาชีวศึกษาของภาครัฐมีอยู่ประมาณ 400 กว่าแห่งทั่วประเทศ ส่วนในภาคเอกชนก็มีประมาณอีก 400 กว่าแห่ง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็จะมีจำนวนเกือบ 1,000 แห่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ก็ได้มีการทำความร่วมมือด้านวิชาการกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีได้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน Automation และแขนกลให้กับสถาบันอื่น ๆ “เราเคยส่งบุคลากรไปสนับสนุนองค์ความรู้ด้าน Automation และแขนกลให้กับจังหวัดมุกดาหาร รวมถึงพื้นที่ทางภาคใต้มาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามองมาถึงเรื่องการจัดตั้ง CCTV Training Center ผมคิดว่าก็จะไม่ต่างกัน เพราะเราจะไม่ได้ทำอยู่คนเดียว แต่จะมีการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน”

นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีองค์กรต่าง ๆ ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีเคยทำงานร่วมด้วย เช่น องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันถือว่ามีบทบาทสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับงานด้าน CCTV รวมไปถึงในหน่วยด้านความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ “ซึ่ง CCTV Training Center จะถือเป็นศูนย์วิชาการด้าน CCTV ที่ทุกคนจะสามารถรับเอาองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ และจะไม่จำกัดเฉพาะในจังหวัดลพบุรีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงในจังหวัดใกล้เคียง อาทิ สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณชนอย่างกว้างขวาง” อ.เรวัช กล่าว

ผลสัมฤทธิ์คือความยั่งยืนของโครงการ

การจัดตั้ง CCTV Training Center ด้วยการสนับสนุนจากเอกชนและภาครัฐนั้น สำหรับในแง่มุมของสถานศึกษาเอง วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างยาวไกลในอนาคต ตราบใดที่แนวโน้มของเทคโนโลยียังไปในทิศทางแบบนี้ ก็สามารถที่จะคาดการณ์ได้เลยว่าเทคโนโลยี CCTV จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆดังนั้น วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีจึงได้ให้ความสำคัญกับ CCTV Training Center เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างประโยชน์อันคุ้มค่าและยั่งยืน

โดยในแง่ของการดูแลรักษา ทางวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จะมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้บุคลากรเพื่อให้มีความพร้อมและสามารถดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างถูกวิธี ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน รวมถึงยังจะมีการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความรู้ความชำนาญ ซึ่งในจุดนี้จะช่วยให้เกิดการอัพเดทเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

“ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีความยั่งยืนต่อไป ถ้าหากเราสามารถที่จะทำจนสำเร็จผล โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้รับในวงกว้าง ดังนั้น ความยั่งยืนของ CCTV Training Center จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะผลสำฤทธิ์ที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม และทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน”

CCTV คือรากฐานของเมืองแห่งความสุข

 “เรื่อง CCTV ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีความสำคัญ และเราก็ไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่เรายังมีเพื่อนครู มีเพื่อนผู้บริหารของสถาบันอื่น ๆ ที่มองเห็นประโยชน์ในจุดนี้ และมีความประสงค์ที่จะทำงานร่วมกัน ดังนั้นเราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานของเราให้แข็งแรง แต่ถึงกระนั้นก็ตามในช่วงก่อร่างสร้างตัวเมื่อแรกเริ่ม การสนับสนุนด้านงบประมาณต่าง ๆ ก็ถือว่ามีความจำเป็น ซึ่งผมก็เชื่อว่าทางผู้บริหารในระดับสูงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือทางกระทรวงศึกษาธิการ ท่านก็คงจะเห็นความสำคัญในจุดนี้”

“เพราะ CCTV Training Center จะไม่ใช่แค่ห้องปฏิบัติการด้านวิชาการ แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงสังคมในทุกภาคส่วน และเมื่อทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้าน CCTV สิ่งนี้ก็ถือเป็นการสร้างรากฐานสำคัญที่จะทำให้เมืองลพบุรีกลายเป็นเมืองแห่งความสุข เป็น Smart City ที่ประชาชนผู้อยู่อาศัยจะได้รับความสะดวกสบาย มีความทันสมัย ปลอดภัย และมีความเป็นไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากมาสัมผัสวิถีชีวิตและร่องรอยทางประวัติศาสตร์” อ.เรวัช กล่าวทิ้งท้าย