รู้จัก Neuralink วิทยาการเปลี่ยนโลกครั้งใหม่ของมหาเศรษฐี Elon Musk

Share

Loading

Elon Musk เพิ่งจะให้สัมภาษณ์เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า บริษัท Neuralink ของเขานั้น ประสบความสำเร็จในการฝังชิปไร้สายบนสมองของลิง ซึ่งทำให้ลิงตัวนี้สามารถเล่นเกมได้โดยผ่านความคิดของมันเอง โดยหลังจากนี้พวกเขากำลังพยายามคิดหาวิธีให้ลิงเล่นเกม Pong แข่งกัน (หนึ่งในวิดีโอเกมตัวแรก ๆ ของโลก ที่มีลักษณะคล้ายเกมเทนนิส ที่ตีโต้ตอบกันระหว่างฝั่งซ้ายและฝั่งขวา) นอกจากนี้เขายังกล่าวเสริมอีกว่า ลิงไม่มีความรู้สึกอึดอัด หรือมีพฤติกรรมแปลก ๆ แสดงออกมาหลังจากที่ฝังชิปเข้าไปแล้ว นอกจากนี้คนทั่วไปก็แทบจะดูไม่ออกว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการฝังชิปไว้ตรงไหน

สำหรับวิทยาการใหม่นี้นั้น หากใครเคยได้ชมหนังไซไฟที่มีอายุ 20 ปีเข้าไปแล้วอย่าง The Matrix แล้วนึกถึงการเชื่อมสมองเพื่อเข้าไปสู่โลกเสมือนของ Neo ตัวเอกของเรื่องหรือการอัปโหลดวิธีการขับเครื่องบินเข้าหัวภายใน 5 วินาทีก็ขับเครื่องบินได้เลย หลายคนอาจจะคิดว่านั่นเป็นเพียงหนังที่ห่างไกลจากความเป็นจริง แต่ผ่านมาอีก 20 ปี วิทยาการเชื่อมสมองของมนุษย์เข้ากับเครื่องจักรนั้นกำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว ผ่านงานวิจัยของหนึ่งในบริษัทของ Elon Musk

การเชื่อมต่อสมองเข้ากับการทำงานของจักรกลเช่น โทรศัพท์มือถือ นี้ เป็นผลงานของบริษัทชื่อ Neuralink ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 โดย Neuralink เป็นบริษัทแรกของเขาที่ทำวิทยาการทางการแพทย์ จากที่ปกติจะเน้นการผลิตเครื่องยนต์เป็นยานพาหนะหรือใช้สำรวจอวกาศที่ดูเป็นเรื่องใหญ่โตอลังการมากกว่า บริษัท Neuralink ใช้เวลาราว 2 ปีกว่าจะเปิดตัวให้สาธารณะได้ทราบว่า ได้เริ่มทำการวิจัยไปแล้วในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา

อุปกรณ์ที่ Neuralink กำลังทำการวิจัยอยู่นั้น เป็นอุปกรณ์ชิปจะทำงานผ่านเทคโนโลยี Threads หรือสายสื่อประสาทเข้ากับสมองที่มีความยืดหยุ่นสูง มีขั้วไฟฟ้า (Electrodes) สำหรับรับสัญญาณประสาทจากสมองมากถึง 3,072 ขั้ว ในสายสื่อประสาท 96 เส้น (เทียบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดก่อน Neuralink ก็คือ ระบบเชื่อมสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ของ Brown University ในชื่อ “BrainGate” ซึ่งมีขั้วไฟฟ้าเพียง 128 ขั้ว) เชื่อมต่ออุปกรณ์โดยตรงไปยังสมอง

ทำให้สามารถอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปได้ หรือจะดาวน์โหลดข้อมูลจากสมองของมนุษย์โดยตรงเข้าไปที่เครื่องจักรเช่น คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนที่ต้องการก็ทำได้เช่นกัน กระบวนการนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า กระบวนการการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาทในสมอง (Brain-machine interface)

เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา Neuralink ได้ทำการเปิดตัวสินค้าต้นแบบการทดลองชื่อรุ่น LINK V.09 ซึ่งถูกนำไปใช้ทดลองรักษาโรคที่เกี่ยวกับสมองเช่น โรคความจำเสื่อม หูหนวก ตาบอด อัมพาต โรคนอนไม่หลับ อาการติดสารเสพติด ไปจนถึงโรคซึมเศร้า โดยนักวิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า หากสามารถกระตุ้นให้สมองส่วนที่ตอบสนองต่ออาการดังกล่าวซึ่งมีปัญหาอยู่ ให้สามารถกลับมาทำงานตามปกติได้ อาการผิดปกติต่าง ๆ เหล่านั้นก็อาจจะหายไปได้

คุณสมบัติพื้นฐานของอุปกรณ์ชนิดนี้ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับนาฬิกา Smart Watch เพียงแค่ไม่ได้ใส่ไว้ที่มือแต่ฝังเข้าไปไว้ในหัวสมองเลย ซึ่งชิปนี้จะสามารถจับอัตราการเต้นของหัวใจ รายละเอียดเล็ก ๆ น้อยเรื่องการทำงานของสมอง รวมถึงยังใช้จับ Sleep Tracking ก็จะสามารถทำได้แม่นยำมากขึ้นกว่าการสวมนาฬิกาที่ข้อมือ

รูปร่างหน้าตาของอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองรุ่น LINK V.09 ที่จะใช้ฝังเข้าไปใต้กะโหลกมนุษย์นี้ มีขนาดเล็กมาก ขนาดกว้างคูณยาวเพียง 23 มิลลิเมตรคูณ 8 มิลลิเมตร (หรือพูดง่าย ๆ ก็คือบางกว่าเส้นผมมนุษย์ 1 เส้นเสียอีกภายในชิปเล็ก ๆ ชิ้นนี้จะประกอบไปด้วย 1,024 ช่องทางส่งข้อมูลต่อ 1 ชิปอุปกรณ์ ซึ่ง 1 คนสามารถใส่ได้มากกว่า 1 ชิ้น ใช้ระบบจับการเคลื่อนไหวแบบ 6 แกน และใช้ความเร็วในการส่งข้อมูลระดับ Megabit

วิธีการทำงานของชิปอุปกรณ์นี้ก็คือ เราต้องฝังชิปเชื่อมต่อเข้าสมองผ่านสายเล็ก ๆ โดยอุปกรณ์นี้จะประกอบไปด้วยสายและแท่งสำหรับเชื่อมต่อเข้าสมองจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลออกมาสู่ตัวรับที่เป็นก้อน ทองแดงกลม ๆ ข้อมูลที่ไหลเข้าและออกจากสมอง โดยจะเห็นเป็นเหมือนภาพของคลื่นไฟฟ้าที่สามารถนำไปแปรผลเป็นข้อมูลต่าง ๆ ได้ และตัวรับก็สามารถส่งข้อมูลออกมายังอุปกรณ์อื่น เช่น สมาร์ตโฟน มีระยะทำการในการส่งสัญญาณประมาณ 5-10 เมตร

ชิปอุปกรณ์นี้จะต้องทำการชาร์จไฟเพื่อใช้งานอยู่เสมอ โดยชาร์จหนึ่งครั้งจะสามารถใช้งานได้ยาวนานตลอดทั้งวัน ส่วนวิธีชาร์จก็จะเป็นใช้สัญญาณแบบ Wireless เช่นเดียวเหมือนกับ Smart Watch ทั่วไป เพียงแค่แปะแท่นชาร์จเข้าที่ศีรษะของเราแล้วก็สามารถนอนหลับได้ยาวไปทั้งคืน

ส่วนการติดตั้งชิปจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Invasive หรือการผ่าตัดเปิดกะโหลกเพื่อฝังชิปในสมอง โดยจะเป็นการตัดชิ้นส่วนกะโหลกขนาดเท่าเหรียญออก แล้วติดตั้งตัวชิปผ่านหุ่นยนต์ที่มีหน้าตาคล้ายกับกล้องจุลทรรศน์ผสมจักรเย็บผ้าเจาะใส่ชิปเข้าไปสู่สมอง โดยหุ่นยนต์จะค่อย ๆ ฝังเอาสายเล็ก ๆ นี้จิ้มเข้าไปบริเวณต่าง ๆ ของสมองเพื่อรับสัญญาณ แล้วปิดช่องด้วยชิ้นส่วนรับสัญญาณกลม ๆ ตัวอุปกรณ์จะมีขนาดและความหนาใกล้เคียงกับกระโหลดที่ถูกตัดออกไป เมื่อปิดแผลแล้วจะเรียบเนียนจนทำให้หลังการติดตั้งแทบดูไม่รู้เลยว่าใครฝัง Neuralink อยู่ ขั้นตอนการผ่าตัดทั้งหมดจะเกิดขึ้นโดยหุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำสูง ใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง และหลังจากผ่าตัดแล้วก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ไม่ต้องค้างในโรงพยาบาลและไม่ต้องใช้ยาสลบแต่อย่างใด

ในงานเปิดตัวที่ผ่านมา Elon Musk ได้มาทำการโชว์สาธิต “หมู” ทดลองที่ฝั่งชิปเชื่อมต่อสมองรุ่น LINK V.09 เอาไว้นาน 2 เดือน ซึ่งจากคลิปวิดีโอที่นำมาเปิดโชว์นั้น ผู้ชมจะได้เห็นคลื่นสมองของหมูที่ทำงานขณะที่มันกำลังเดินบนลู่วิ่ง และยังได้เห็นตัวชิปตรวจจับปฏิกิริยาทางสมองเมื่อหมูขยับตัวทุกครั้ง รวมถึงเมื่อหมูนำจมูกไปสัมผัสกับวัตถุชนิดต่าง ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วิทยาการของอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองที่วิจัยได้ในตอนนี้ อาจจะยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ขายฝันเอาไว้ว่า จะเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลที่ไหลเข้าออกจากสมอง เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็ยังอยู่ในระดับตรวจจับคลื่นสมองอัตโนมัติเท่านั้น ข้อจำกัดจากการทดลองในตอนนี้อยู่ที่ยังไม่สามารถหาวิธีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในสมองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างตรงเป้าหมายตามที่ต้องการ และขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ว่าหากปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปจริง ๆ แล้ว สมองส่วนอื่น ๆ จะไม่ได้รับความเสียหายไปด้วย

Elon Musk ยังตอบคำถามในช่วงท้ายของการสาธิตว่า เขาเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานนี้ชิปเชื่อมต่อสมองของ Neuralink จะสามารถเชื่อมข้อมูลเข้าออกได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ตามเจตนารมณ์แต่แรกของเขาในการตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา ก็เพราะต้องการจะพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เชื่อมต่อกับมนุษย์ได้อย่างไร้รอยต่อและเกิดประโยชน์มากที่สุด ถึงขนาดขายฝันกันแบบเฟื่อง ๆ เลยว่า ผู้ใช้งานจะสามารถเรียกรถบริการของ Tesla ให้มารับได้เพียงแค่ “คิดในใจ” (จากปัจจุบันที่สามารถเรียกได้ผ่านสมาร์ตโฟน) รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหา ไม่สามารถใช้งานกระดูกสันหลังหรือสั่งการจากสมองไปยังอวัยวะต่าง ๆ ที่ใช้เคลื่อนไหวร่างกายได้ ก็จะสามารถรักษาหายได้จากโดยใช้ชิปอุปกรณ์ Neuralink บังคับการเคลื่อนไหวแทน

อย่างไรก็ดี Neuralink ก็ไม่ใช่บริษัทแรกที่วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ชิปเชื่อมต่อกับสมอง เพราะมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก (UCSF: University of California, San Francisco) ก็มีความพยายามในการสร้างสายสื่อประสาทที่มีขนาดเล็กมาแล้ว รวมถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเองก็พยายามสร้างสายสื่อประสาทขนาดเล็กมาก่อนแล้วและก็กำลังศึกษาและวิจัยอยู่ในปัจจุบันนี้เช่นกัน

นอกจากนั้นอุปสรรคของ Neuralink ก็คือคำถามที่ว่า คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA: Food and Drug Administration) จะอนุญาตให้มีการทดลองใช้ในคนหรือไม่? และถ้าได้ จะเป็นเมื่อไร? เพราะขั้นตอนการขออนุมัติต่าง ๆ ของ FDA นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทางด้าน Matthew MacDougall หัวหน้าศัลยแพทย์ของ Neuralink ก็ออกมายอมรับเมื่อปี 2019 หรือปีที่แล้วว่า บริษัทยังไม่ได้เริ่มขั้นตอนการขออนุญาตทดลอง และจนถึงปีนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่ากระบวนการขออนุญาตนี้ไปถึงไหนแล้ว?

ประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตและแสดงความกังวลก็คือ เรื่องการจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกส่งออกมาจากสมองเข้าไปที่ชิปอุปกรณ์รับข้อมูล องค์กรด้านความเป็นส่วนตัวนานาชาติ (Privacy International) ได้ตั้งคำถามว่าจะมีการจัดเก็บหรือควบคุมดูแลข้อมูลที่สมองเชื่อมต่อผ่านระบบเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนด้วยวิธีใด รวมถึงจะมีการส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ให้บริการหรือบุคคลที่สามโดยที่เจ้าของข้อมูลผู้ใช้ชิปอุปกรณ์นี้ไม่ยินยอมนั้น สามารถทำได้หรือไม่เพียงใด? และยังมีปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก ที่ขนาดในปัจจุบัน ข้อมูลที่ยังไม่ได้ดึงมาจากสมอง แค่เป็นข้อมูลที่กรอกหรือบันทึกกันในโลกออนไลน์เช่น ใช้ลงทะเบียนในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็ยังหลุดกันจ้าละหวั่นแล้วเลย

อ้างอิง

https://www.techtimes.com/articles/252105/20200828/fact-check-elon-musks-neuralink-still-missing-fda-approval.htm

https://www.ucsf.edu/news/2019/04/414296/synthetic-speech-generated-brain-recordings

https://www.nsmedicaldevices.com/news/neuralink-brain-controlling-elon-musk/

แหล่งข้อมูล
https://www.beartai.com/news/531550