ปลดล็อคไปอีกระดับ สวทช. สร้างแล็บเทสต์ ‘กัญชา กัญชง’ ช่วยวิสาหกิจชุมชน คัดเกรด เพิ่มมูลค่า

Share

Loading

เมื่อเร็วๆนี้ มีการจัดงานแถลงข่าว การลงนามการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิเคราะห์ทดสอบ กัญชา กัญชง  เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชน ระหว่าง วิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน (วพพ.) จ.บุรีรัมย์ กับ ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. หรือ NCTC (NSTDA Characterization and Testing Center)

โดยผลของการลงนามในครั้งนี้นับเป็นการยกระดับความร่วมมือกันในการวิเคราะห์ทดสอบกัญชา โดยการตั้ง แล็ปเทสต์ หรือ ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ กัญชา โดยเฉพาะ เพื่อหาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งต่อยอดไปสู่การพัฒนาทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า พัฒนาสินค้ามูลค่าสูงให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนได้

เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า กัญชา เป็นพืชที่มาแรง และเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากมีศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ ย่อมเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่จะนำพืชชนิดนี้ไปต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เปิดภารกิจ คัดเกรด เพิ่มมูลค่า กัญชา กัญชง ไทย ให้ได้มาตรฐาน พร้อมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

ภารกิจการตั้งศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ กัญชา กัญชง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชน มีเจ้าภาพสำคัญสองฝ่ายหลัก นั่นคือ ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. หรือ NCTC กับ วิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน (วพพ.) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งในโอกาสนี้ ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ โดยเกริ่นถึงภารกิจของ ศูนย์ฯแห่งนี้ก่อนว่า

ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช.

“ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC) อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเรามีภารกิจเป็นศูนย์กลางพัฒนาและส่งเสริมงานบริการวิเคราะห์ทดสอบ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคุมระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล”

“ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสนับสนุนกลุ่มงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ (National Quality Infrastructure) โดยศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ หรือ NCTC นั้นเป็นผู้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบและดูแลให้เป็นไปตามวิธีมาตรฐานสากล”

“และในครั้งนี้เอง ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ กัญชา กัญชง สารสกัดและผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง (Cannabis Analytical Testing Center) หรือ CATC ขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสินค้ามูลค่าสูงให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน”

จากนั้น ณฏฐพล ได้ขยายความต่อถึงภารกิจนี้ว่า เป็นการปฏิบัติภารกิจที่ได้ประโยชน์ถึงสองต่อ ต่อที่หนึ่ง คือ

“เราเปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบอย่างครบวงจรเกี่ยวกับกัญชา กัญชง สารสกัดและผลิตภัณฑ์ กัญชา กัญชง ภายใต้ระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025 มาตรฐานสากลทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณและตรวจสอบความปลอดภัย”

“อาทิ การหาปริมาณโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ตัวทำละลายตกค้าง สารพิษจากเชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน รวมถึงการหาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ให้ได้ค่ามาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และกำหนดราคาสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนด”

ส่วนต่อที่สอง การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ยังเป็นต้นแบบของการเพิ่มขีดความสามารถให้กับวิสาหกิจชุมชนของไทยด้วย

“เพราะการลงนามครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ให้ผ่านการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ให้สามารถจำหน่ายและควบคุมคุณภาพได้เทียบเท่าหรือในระดับเดียวกับผลิตภัณฑ์สากล”

“อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ช่วยให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และภาคอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ทดสอบที่มีคุณภาพภายในประเทศ ตลอดจนควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และกำหนดราคาสินค้าได้อย่างชัดเจนและเป็นมาตรฐาน ส่งผลให้ประชาชนในประเทศไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสม ปลอดภัย และได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานในระดับสากล”

“รวมถึงได้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูงในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชง ในด้านต่างๆ อาทิ การกระจายตัวของสารสำคัญ การหาชนิดและปริมาณสารสำคัญที่ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาและกัญชง เป็นต้น”

เผยต้นแบบการช่วยเหลือเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการสร้างมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าให้พืชเศรษฐกิจมาแรง

ด้าน ศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงการลงนามเพื่อเป็นศูนย์กลางรับส่งวัตถุดิบกัญชาในการนำไปวิเคราะห์และทดสอบประสิทธิภาพ ครั้งนี้ว่า

“นับเป็นการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทกัญชาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลจากเกษตรกรและวิสาหกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยแรกเริ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างรายได้จากการพึ่งพาตนเองและเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน จากการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร เพื่อผลิตสินค้าจากสมุนไพรต่างๆ การถ่ายทอดความรู้ของสมุนไพรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน อีกทั้งสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกสมุนไพรเพื่อให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มมูลค่าสินค้าแก่ชุมชน”

ศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์

“ต่อมาเราก็ได้รับโอกาสเป็นหนึ่งในวิสาหกิจที่ได้ทำหน้าที่ปลูกกัญชาทางการแพทย์ ด้วยการทำการเกษตรแบบมาตรฐานสูง และใช้รูปแบบโรงเรือนระบบปิด ซึ่งได้รับความร่วมมือที่ดีจากพันธมิตรภาคเอกชน และภาครัฐบาล จนทำให้สามารถควบคุมการปลูกกัญชาที่ใช้ในระดับการแพทย์ได้ค่าสารสำคัญคงที่ และนำไปใช้ผลิตเป็นยำรักษาทางการแพทย์ได้ และเป็นการยกระดับเพิ่มมูลค่าของพืชพันธุ์สมุนไพรด้านการเกษตรได้ดีเช่นกัน”

“กลไกสำคัญที่ทำให้เราได้รับความเชื่อถือในระดับการแพทย์ที่ผ่านมานั้นคือการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ร่วมกับระบบการปลูกที่ดี ตัวอย่างเช่น มีการตรวจสอบตั้งแต่ดินปลูกที่เราต้องมั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี หรือสารโลหะหนักที่ต้นกัญชาจะสามารถดูดซับได้ และมีแร่ธาตุที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสายพันธุ์ที่เราปลูก จวบจนถึงการตรวจสอบค่าสาระสำคัญ จากรอบการเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นยาของทางโรงพยาบาล และตรวจสอว่าไม่มีค่าสารอันตรายเจือปนในกัญชาที่เราเก็บเกี่ยว เพื่อส่งไปใช้ทำยาได้”

“จากความสำเร็จในวันนี้ ก็จะต่อยอดสู่การนำส่วนอื่นๆของกัญชาและกัญชงไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้จึงจำเป็นต่อวิสาหกิจฯอย่างมาก และถ้าทำได้อย่างเป็นระบบย่อมเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล”

“เพราะปัญหาที่หลายวิสาหกิจและกลุ่มธุรกิจขนาดย่อยที่ทำเกี่ยวกับการแปรรูปพืชชนิดนี้เจอ คือ การเข้าถึงการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้ได้ยาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และมีแล็บตรวจในประเทศค่อนข้างจำกัด ดังนั้น การที่ทางวิสาหกิจฯได้รับโอกาสในการร่วมมือกับทาง ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ครั้งนี้จึงเกิดประโยชน์อย่างมากต่อภาคต้นน้ำการปลูก และภาคการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน”

กัญชา กัญชง ปลดล็อกให้ใช้ได้ก็จริง แต่ใช่ว่า ใครๆ ก็ปลูกได้

เรื่องราวที่เกริ่นมาข้างต้น เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทกัญชาในระดับวิสาหกิจที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย แต่สำหรับในระดับประชาชนทั่วไป แม้การใช้กัญชา กัญชง จะได้รับการปลดล็อคแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในความควบคุมทั้งการปลูกและการใช้โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.

ถ้าผู้ได้รับอนุญาตปลูกกัญชารายอื่น ต้องการนำใบ หรือส่วนต่างๆ ที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ หรือจำหน่าย ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยยื่นขอแก้ไขแผนการนำไปใช้ประโยชน์ที่ อย. โดยยืนยันว่า ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชา กัญชง ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องมาจากผู้ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

แต่หากนำส่วนของกัญชา กัญชง ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย จะต้องขออนุญาตภายใต้กฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นด้วย ส่วนการขยายการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ทางสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ได้เปิดช่องทางการจับคู่ระหว่างผู้ที่สนใจ กับผู้ได้รับอนุญาตการปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ปลูก และผู้ที่ต้องการใช้ส่วนกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด

ขณะที่การขออนุญาตปลูกกัญชา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ระบุไว้ว่า ผู้ที่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด สภากาชาดไทย
  • ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์หรือแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
  • สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์
  • เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียน ตามกฎหมาย และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา

ดังนั้น ถ้าใครคิดจะปลูกกัญชา กัญชง ไว้ประกอบอาหารกินในบ้าน เป็นผักสวนครัว หรือตัดไปวางขาย ตอนนี้จึงถือว่ายังผิดกฎหมายอยู่

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/02/27/make-standard-for-cannabis-thailand/