Energy Disruption พลังงานไม่สะอาด ขายสินค้าไม่ได้

Share

Loading

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาห้ามการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งรถยนต์รถที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2030

นโยบายแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น แต่หลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ หรือแมะทั่งสิงคโปร์ ก็เริ่มมีกฎหมายในลักษณะเดียวกันออกมา เพื่อลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยหันไปสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทน

แม้กระทั่งในเมืองไทยก็มีการวางเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน

และเมื่อถึงปี 2040 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่ารถยนต์สันดาปภายใน

เท่ากับว่าเมื่อถึงปี 2540 หากมีการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน 2 ล้านคัน หรือ 2.5 ล้านคัน จะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า

ปั๊มน้ำมันที่เราเห็นเรียงรายตามสองข้างถนน จะเริ่มปรับตัวกลายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ หรือเปลี่ยนไปให้บริการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าแทนการเติมน้ำมัน

ผู้ให้บริการรายใหญ่ก็จะไม่ใช่ผู้ประกอบการน้ำมันอีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

นับจากนี้ เราจะเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง กฟผ. วันนี้ก็เริ่มปรับโมเดลธุรกิจ จากการให้บริการกระแสไฟฟ้าตามบ้าน โรงพยาบาล หรือ โรงงานอุตสาหกรรม เริ่มจัดทัพเพิ่มหน่วยธุรกิจใหม่เพื่อตอบสนองผลิตภัณฑ์และบริการรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ การสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า การสร้างแพลตฟอร์มค้นหาหรือจองแหล่งชาร์จไฟ การขายตู้อัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่ง กฟผ.ได้เริ่มดำเนินการและจะเปิดให้บริการในปี 2564 นี้ เป็นปีแรก

ขณะที่รถยนต์สันดาปภายในที่ใช้พลังงานฟอสซิลเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคนับถอยหลัง ลดน้อยลงเรื่อยๆ

ปัญหาพลังงานฟอสซิล ไม่ได้ดิสรัปต์เฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น แต่กำลังแทรกซึมไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เอาจริงเอาจังกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก โดยมีเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0% อย่างช้าภายในปี 2050 และหันมาใช้พลังงานสะอาด 100%

ในอนาคต “พลังงาน” จะกลายเป็นมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ใช่ภาษี สินค้าใช้พลังงานไม่สะอาด ใช้พลังงานฟอสซิล จะส่งออกไม่ได้ คล้ายๆ กับมาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ที่หากประเทศใดไม่ปฏิบัติตามกฎการทำประมงของประเทศผู้นำเข้าก็จะถูกห้ามนำเข้า ประมาณนั้น

ในอนาคตโรงงานที่ใช้เครื่องจักรพลังงานฟอสซิลปั่นอาหาร ขนม หรือ ตัดเย็บเสื้อผ้า จะไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีเงื่อนไขห้ามใช้พลังงานฟอสซิลได้

วันนี้หลายโรงงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เริ่มหันมาซื้อกระแสไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ หรือ โซลาฟาร์ม เป็นต้น เนื่องจากได้รับสัญญาดังกล่าวจากประเทศผู้นำเข้า

บริษัทขาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs จำเป็นต้องศึกษาและยอมรับเรื่องเหล่านี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงต้องเริ่มปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะสูญเสียตลาดไปในที่สุด

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/11/energy-disruption/