การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) จะเกิดขึ้นได้ ต้องวางแผนเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ภาคการผลิตในโรงงานที่ต้องปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไปจนถึงการแพทย์ การดำรงชีวิต ที่ต้องพัฒนาและเชื่อมโยงสู่ “ระบบอัจฉริยะ” เช่น การแพทย์อัจฉริยะ ระบบสุขภาพอัจฉริยะ โดยเฉพาะใน EEC พื้นที่ที่จะยกระดับการลงทุนและนำร่องในการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไปในทุกมิติ
กิจกรรมสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การพัฒนาเมืองด้วย “ระบบอัจฉริยะ”
หนึ่งในเป้าหมายของ EEC ณ วันนี้ คือ การยกระดับการพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพปรับตัวเปลี่ยนแปลงในโลกใบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างความก้าวหน้าให้ทุกภาคส่วน
หมายถึง EEC กำลังเชื่อมต่อการลงทุนจากทั่วโลก (โดยเฉพาะในกลุ่ม 13 อุตสาหกรรมเป้าหมาย) ให้เข้ามาพัฒนาและช่วยยกระดับประเทศไทย เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิมสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หนุนให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561 – 2580
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) เน้นให้ประเทศไทยสร้างห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และบริการ กระจายผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศ
ความคืบหน้าของงาน EEC ในวันนี้กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า ตั้งแต่ประสานจัดการโครงสร้างพื้นฐานหลายเรื่อง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภาและมหานครการบินการบิน การพัฒนาท่าเรือ 3 แห่ง ที่มาบตาพุด – จุกเสม็ด – แหลมฉบัง การคมนาคมทั้งทางถนน – ระบบรางคู่ การจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมยุคใหม่อย่าง 5G ก็ดำเนินการแล้วที่ บ้านฉาง เมืองหน้าด่านของ EEC ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง
โครงข่าย 5G เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนายุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ข้อมูล – การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิต การบริการ ไปจนถึงการสร้างเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการเชื่อมต่อสู่ระบบการเงินยุคใหม่ในระดับสากล
7 ข้อต้องเดินหน้า พัฒนาเมืองสู่ “เมืองอัจฉริยะ”
“เมืองอัจฉริยะ” หมายถึง เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน (ที่มา : https://smartcitythailand.or.th)
แต่การพัฒนาระบบอัจฉริยะหรือระบบสมาร์ทต่างๆ ต้องพัฒนาให้ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ดังนี้
1 เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจและนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
2 พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้–การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ด้วยการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาที่รองรับการฝึกอบรม การเพิ่มทักษะ Up-skill, Re-skill และการจัดการสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ – การเรียนรู้ยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ
3 การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
มุ่งเน้นความปลอดภัยและบริการที่เพียบพร้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย มีความสุขในการดำรงชีวิต แวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสันทนาการต่างๆ อย่างครบครัน
4 สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
มุ่งบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้สะอาด – ถูกสุขลักษณะ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ รวมทั้งกำหนดแนวทางเพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
5 การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
มุ่งสร้างความสะดวกสบายด้านการเดินทางและคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาที่จอดรถอัจฉริยะ และให้บริการรถประจำทางไฟฟ้าที่มีโครงข่ายเชื่อมต่อทางเดิน – ทางจักรยาน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกทางหนึ่ง
6 พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
มุ่งใช้พลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งและใช้โซลาร์เซลล์ การบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่าย Smart Grid เพื่อเชื่อมต่ออาคารประหยัดพลังงานภายในพื้นที่โครงการ ส่งเสริมให้ทุกคน ทุกภาคส่วนลดการใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
7 การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
มีโครงข่ายเชื่อมโยงหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ มีบริการแบบวัน สต็อป เซอร์วิส โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส ลดระยะเวลาในการติดต่อหน่วยงานต่างๆ
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/02/27/sustainable-development-in-smart-city/