ยิ่งล็อกดาวน์นาน การ “สตรีมมิ่งผ่านสมาร์ตโฟน” ยิ่งท่วมท้น เห็นได้ชัดใน 8 ประเทศ

Share

Loading

หนึ่งในกิจกรรมสุดฮิตที่เกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ คือ การเสพคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย โดยเฉพาะคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ ที่เราสามารถดูหรือสตรีมได้แบบ OTT (Over The Top) คือใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องพึ่งสายแลนแบบแต่ก่อนนั่นเอง

สตรีมมิ่งวิดีโอ เทรนด์ฮิตที่อยู่ในแดนบวก

ในรายงานฉบับใหม่เอี่ยมเรื่อง การสตรีมผ่านสมาร์ตโฟน โดย Adjust แพลตฟอร์มวิเคราะห์การตลาดแอปพลิเคชันระดับโลกรวบรวมข้อมูลไว้ ระบุว่า ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดในปี 2020 หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลให้ 52.5% ของผู้บริโภคทั่วโลกใช้สมาร์ตโฟนเพื่อการสตรีมคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้น

รูปแบบการบริโภคคอนเทนต์ผ่านสมาร์ตโฟนกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งยังทำลายความคิดเดิมๆ ว่า การสตรีมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปหรือกลับจากที่ทำงาน โดย 84% ของผู้บริโภคใน 8 ประเทศที่เป็นเป้าหมายของการวิจัย บอกว่า ในช่วงของการระบาดนั้น เขาใช้สมาร์ตโฟนเพื่อสตรีมคอนเทนต์มากกว่าเดิม และมีเพียง 12% ของผู้บริโภคเท่านั้นที่สตรีมคอนเทนต์น้อยลง

รายงานเรื่องการสตรีมผ่านสมาร์ตโฟนปี 2021 ฉบับนี้ มีผู้ให้ข้อมูล 8,000 คน จากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ตุรกี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี และจีน รวม 8 ประเทศที่ทุกสิ่งอย่างในการดำเนินชีวิตสามารถเชื่อมต่อผ่านสมาร์ตโฟนได้

  • ผู้ให้ข้อมูลทุกช่วงวัยใช้สมาร์ตโฟนในการสตรีมชนิด “ติดหนึบจนเป็นนิสัย” โดย 90% ของ user ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปในประเทศจีน (89.8%) กับตุรกี (88.9%) บอกว่า สตรีมผ่านสมาร์ตโฟนทุกวันหรืออย่างน้อยก็สัปดาห์ละครั้ง
  • ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้สมาร์ตโฟนสตรีมคอนเทนต์อย่างน้อยวันละครั้ง โดย User ในประเทศจีน (93.8%) และตุรกี (91.9%) สตรีมบ่อยที่สุด คือตั้งแต่วันละครั้งหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เทียบกับสหรัฐอเมริกา 69.4%, ญี่ปุ่น 57.2% และสหราชอาณาจักร 45.7%

“ความเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือของกิจวัตรการสตรีมผ่านสมาร์ตโฟนซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกและเกิดในทุกช่วงวัย สร้างโอกาสอันมหาศาลในเรื่องการโฆษณาและบทบาทใหม่ๆ จากการวิเคราะห์กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนสมาร์ตโฟนได้” พอล เอช. มุลเลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CTO ของ Adjust กล่าว และสรุปหัวข้อที่น่ารู้จากรายงาน ดังนี้

  • User ทุกช่วงวัยและทุกพื้นที่ใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อการสตรีมแต่ละครั้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ชมไม่ได้แค่แวะชมคอนเทนต์สั้นๆ แต่ดูต่อเนื่องกันหลายตอน รวมถึงดูหนังเป็นเรื่องๆ
  • เจเนอเรชันที่สตรีมผ่านสมาร์ตโฟนมากที่สุด คือ เจน Millennial หรือ เจน Y ทั้งยังดูคอนเทนต์นานกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วยระยะเวลาเฉลี่ย 94.2 นาที ตามมาด้วย เจน Z ที่ดูคอนเทนต์ด้วยระยะเวลาเฉลี่ย 87.6 นาที
  • แม้ user ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปจะรั้งท้ายในข้อมูลชุดนี้ แต่ระยะเวลาเฉลี่ยในการสตรีม 65 นาทีต่อครั้ง ก็ไม่ถือว่าน้อย และสื่อได้ว่า พร้อมจะตามเทรนด์ของกลุ่มอื่นๆ
  • ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินไม่น้อยกับสตรีมมิ่งและบริการความบันเทิงแบบ on-demand โดยเกาหลีนำลิ่วที่เดือนละ 42.68 ดอลลาร์ (หรือราว 1,290 บาท) ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 33.58 ดอลลาร์ และสหราชอาณาจักร 34.82 ดอลลาร์

“เมื่อเราเข้าใจเหตุผลและเวลาที่ผู้บริโภคเลือกจะสตรีม และรู้ด้วยว่าช่องทางกับแคมเปญไหนที่ส่งผลกระทบทางการตลาดสูงสุด เราก็จะมีศักยภาพชนิดที่ไร้ขีดจำกัด ในการสร้างฐาน user ซึ่งภักดีและพร้อมที่จะจ่ายด้วยมูลค่าที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้ใช้งานตลอดชีพ”

อย่ามองข้าม “จอที่สอง” และ “ความหิว”

งานวิจัยของ Adjust ยังให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความแพร่หลายของการใช้งานจอที่สอง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วไป พร้อมกับการบูมของ ทีวีผ่านสตรีมมิ่ง (CTV) โดยเฉลี่ยแล้ว มากกว่าสามในสี่ หรือ 76% ของผู้ตอบบอกว่า ระหว่างที่ดูทีวีก็ใช้สมาร์ตโฟนร่วมด้วย

พฤติกรรมการดูแบบนี้ปรากฏชัดเจนในสิงค์โปร์และจีน โดยได้ 85% ทั้งสองประเทศ ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นตามมาติดๆ ที่ 83%

ในด้านทางเลือกของผู้ใช้งานจอที่สองคือ ใช้เล่นแอปโซเชียล 65.4% เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการใช้แอปธนาคาร 54.9% และแอปพลิเคชันเกม 44.9%

ในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก คนที่ใช้งานจอที่สองมักจะหิวและสั่งอาหารเดลิเวอรี

ถ้าดูจากเปอร์เซ็นต์การใช้งานจอที่สองมากที่สุดในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก อยู่ที่ประเทศจีน 65.2% อันดับสองคือ เกาหลี 36.6% และอันดับสาม สิงคโปร์ 48.2%

เทรนด์การใช้งานจอที่สองนี้มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและแบรนด์ คำแนะนำคือ ให้ใส่กิจกรรมประเภท call-to-action หรือกิจกรรมที่เรียกให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ เช่น ให้ดาวน์โหลดแอปผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อสร้างการรับรู้และดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานหรือเลือกซื้อ/จับจองสินค้าและบริการได้รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น และยังเก็บเป็น Data ได้อีกด้วย

การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างจอแรกกับจอที่สองจึงเป็นอีกช่องทางสำหรับผู้ประกอบการหรือแบรนด์ที่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงและตัดสินใจใช้บริการ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การบริโภคคล่องตัวขึ้น เม็ดเงินหมุนเวียนแล้ว ธุรกิจดีไวซ์และอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อมก็มีโอกาสเติบโตตามๆ กันไป

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/02/25/smartphone-streaming-growth/