‘นวัตกรรม’ จะยกระดับประเทศ ‘เทคโนโลยี’ จะทำให้คุณภาพชีวิตสอดคล้องกับโลกยุคใหม่

Share

Loading

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 จำต้องมี ‘นวัตกรรม’ มาเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลง นำเครื่องมือมาพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพใหม่ ปรับจูนความคิด เติมฐานความรู้ที่พ่วงด้วย ‘เทคโนโลยี’ มาเสริมการดำรงชีวิต ผลักดันเศรษฐกิจทุกระดับให้แข็งแกร่ง และพัฒนาสังคมโดยรวมให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป

ศตวรรษที่ 21 โลกเคลื่อนไปด้วยความยากลำบาก

โลกยุคใหม่เคลื่อนไหวด้วย นวัตกรรม ที่ผสมผสานและสรรค์สร้างเพื่อการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยเป็นการผสานรวมความรู้ความสามารถของมนุษย์กับเทคโนโลยียิ่งกว่ายุคไหนๆ

มาถึงศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าของประเทศเคลื่อนไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น และถูกจำกัดด้วยทักษะ – ความรู้ – ความสามารถ และเมื่อก้าวไปข้างหน้าช้า ประเทศที่เคยโดดเด่นก็กลายสภาพเป็น ‘ผู้ตาม’ ในเวทีโลกที่ช่วงชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกันอย่างดุเดือด

อย่างไรก็ดี ความพยายามของรัฐบาลในยุคเปลี่ยนผ่านก็เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปรับตัวไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไร้พรมแดนและไร้ขอบเขตเวลาอย่างเต็มที่ โดยหนึ่งในนั้นคือ การประกาศให้ EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นพื้นที่การลงทุนใหม่ เพื่อทำให้คนไทย ประเทศไทยตื่นตัว ร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

EEC จึงเป็นหัวใจสำคัญในการ เชื่อมโลกให้ไทยแล่น ตามวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลวางไว้ พร้อมกับการเร่งสร้างความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นแก่สังคมโดยรวม และมุ่งดึงการลงทุนเข้าประเทศภายใน 5 ปี ให้มีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท รวมถึงเร่งการพัฒนาพื้นที่และเมืองให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดเป้าหมายชัดเจน ทั้งด้านพื้นที่ ด้านอุตสาหกรรม และด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งกำลังผลิดอกออกผลอย่างมีนัยสำคัญ!

ความเคลื่อนไหวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า EEC เป็นประตูบานใหญ่ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ได้แก่

1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อย่างรถไฟความเร็วสูง ที่ดึงดูดการลงทุนเข้ามามากกว่า 9 แสนล้านบาท สนามบิน – มหานครการบิน ท่าเรือขนาดใหญ่ 3 ท่า ระบบขนส่งแบบรางคู่ ฯลฯ

2) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 10 + 4 อุตสาหกรรม ตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนดไว้

3) การเร่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

4) การพัฒนาพื้นที่หลายรูปแบบ เริ่มจากการปรับผังเมืองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวทันโลกและเพียงพอที่จะรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งเส้นทางทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางราง และได้ประกาศ ยกระดับพื้นที่หลายแห่งเป็นเขตพัฒนาพิเศษ (ณ ปัจจุบันมี 31 แห่ง)

5) การมุ่งพัฒนาบุคลากรและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับทิศการศึกษาเป็นแบบ EEC Model ที่เปลี่ยนความล้มเหลว – ความสูญเปล่าทางการศึกษาให้กลายเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ – เรียนจบแล้วมีงานทำ – มีรายได้สูง ซึ่งการศึกษาแบบ EEC Model นี้ จะสร้างกระบวนระบบใหม่ของการศึกษาไทย – การฝึกอบรมทุกมิติ ครอบคลุมทั้งด้านการเรียนการสอน การสร้างหลักสูตร การจัดสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา และการบริหารจัดการศึกษาใหม่ รวมทั้งเชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อจัดการฝึกอบรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้าใหม่ให้ประเทศ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจะต้องลงลึกถึงระดับฐานราก!

นอกจากมิติความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าไปทุกขณะตามที่กล่าวมาแล้ว การพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ EEC ก็ดำเนินไปควบคู่ไปด้วย

ล่าสุด EEC ปักหมุดการเป็น ผู้นำอาเซียนในด้าน 5G ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ระยอง ให้เป็นเมืองที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ เพื่อยกระดับพร้อมกับการปรับพื้นฐานด้านคุณภาพชีวิต – เศรษฐกิจ – สังคมให้เชื่อมต่อกับโลกที่ผสานการพัฒนาอุตสาหกรรมการค้า – การบริการเอาไว้อย่างเป็นระบบ

บ้านฉาง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ มหานครการบิน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสนามบินอู่ตะเภา ที่มีการปักหมุด 5G เพื่อสร้างความก้าวหน้า – พัฒนาการให้บริการของรัฐ จะเชื่อมร้อยกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในยุคหลังโควิด-19 ตั้งแต่การสาธารณสุขไปจนถึงการยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น สู่ประเทศ และสู่โลกไร้พรมแดนอย่างมีนัยสำคัญ

ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่จะเป็นองคาพยพใหม่

ในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญหลายกลุ่ม EEC เดินหน้ายกระดับสนับสนุนให้ปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยมีความแข็งแกร่งในด้าน ‘ห่วงโซ่การผลิตที่ดีที่สุด’ ในอาเซียนและเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดย EEC ได้ประสานงบฯ จากโครงการชะลอการว่างงานของรัฐฯ มาสนับสนุนให้มีการรักษาการจ้างงาน และยกระดับการผลิตสู่ การผลิต 4.0 ที่กำลังเร่งเครื่องยกระดับทักษะบุคลากรทุกสาขาในอุตสาหกรรมนี้ รวมแล้วเกือบหมื่นคนภายในสิ้นปี 2564 เพื่อช่วยให้ห่วงโซ่การผลิตที่ส่วนใหญ่เป็นของคนไทย เชื่อมต่อกับสายการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยรักษาการจ้างงานและยกระดับภาคการผลิตไปพร้อมๆ กันได้

ขณะเดียวกัน หลายภาคส่วนก็กำลังยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างๆ สู่ ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งกลุ่มรถยนต์ เรือ รถโดยสาร โดยนำนวัตกรรมที่ใช้พลังงานสะอาดที่สอดคล้องกับกฏบัตรการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มาช่วยโลกจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และดันตัวเองออกจากความล้าหลังของการเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้รถยนต์ในโหมดเดิมๆ

การปรับตัวเข้าสู่โหมดร่วมดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานสะอาดนี้ เป็นงานที่ไทยตอบรับ ข้อตกลงปารีส และ ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ร่วมกับประชาคมโลก ซี่งจะช่วยให้ไทยมีเครดิตในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ คู่ขนานกันไปนั้นก็เร่งยกระดับการพัฒนา อุตสาหกรรมพาณิชยนาวี ไทยที่ถูกทอดทิ้งมานาน มีโอกาสปรับตัวแบบก้าวกระโดดออกจากกฎระเบียบที่คร่ำครึ ไม่ทันโลก และสามารถเป็น Hub หรือศูนย์กลางด้านพาณิชยนาวีของอาเซียนอีกขั้นหนึ่ง

นวัตกรรมและการยกระดับขับเคลื่อนความก้าวหน้าใน EEC ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ และนับจากนี้ไป จะเป็นห่วงโซ่ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจปีละหลายล้านล้านบาททีเดียว!

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/19/thailand-tech-innovation-economy/