ปัจจุบันการถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบที่เกิดจากขยะทางกายภาพ แต่ผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมดิจิทัลกลับมีการพูดถึงกันน้อยกว่ามาก ทั้ง ๆ ที่หากเปรียบอินเทอร์เน็ตเป็นประเทศๆ หนึ่ง จะเป็นประเทศที่ก่อมลพิษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และอินเทอร์เน็ตคิดเป็นประมาณ 4% ของการปล่อย CO2 ทั่วโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนพอๆ กับอุตสาหกรรมการบิน
Cleanfox (เครื่องมือป้องกันสแปมในการกำจัดอีเมลและอีเมลขยะด้วยการคลิกเพียงครั้งเดียว) ระบุในรายงานฉบับล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เกี่ยวกับมลพิษทางอีเมลว่า อีเมลส่งเสริมการขายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากถึง 2 ล้านตันต่อปี ในสหราชอาณาจักร และปัจจุบันศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center (สถานที่ที่ใช้ในการวาง เซิร์ฟเวอร์, อุปกรณ์สื่อสารจำพวกเครือข่ายต่างๆ และระบบจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น) คิดเป็นสัดส่วน 2% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ภายในปี 2040 ตามรายงานของ GreenGeeks และจากการวิเคราะห์ล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่า Bitcoin ใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าที่อาร์เจนตินาทั้งประเทศใช้ในแต่ละปีราว 3.81เทอราวัตต์ชั่วโมง (Twh) และพลังงานไฟฟ้าที่เครือข่าย Bitcoin ทั่วโลกใช้เป็นประจำทุกปีสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ยาวนานถึง 732 ปี ซึ่งท่ามกลางการรับรู้ถึงผลกระทบจากกิจกรรมทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ออกแบบประสบการณ์ออนไลน์ของตนใหม่ เพื่อให้ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ตัวอย่างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ชัดเจน คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สูญเสียมูลค่าที่เกิดจากการนำอุปกรณ์เหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล การฝังกลบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทับถมจนเป็นภูเขาเลากา อีกทั้งปริมาณสารเคมีที่เป็นพิษจากขยะเหล่านี้ก็ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่มีการคิดค้นอินเทอร์เน็ตเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เติบโตขึ้นอย่างมากจนถึงขั้นกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดในชีวิตประจำวันของเรา เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น การสื่อสารโทรคมนาคม, Geolocalisation (หรือ Geolocationซึ่งเป็นการระบุพิกัดละติจูด ลองจิจูดในแผนที่ภูมิศาสตร์หรือพิกัดของโลก ด้วยคำสั่งจาวาสคริปต์โดยผ่านเครื่องมือที่สามารถต่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต) และหุ่นยนต์ได้ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพและการศึกษา เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันบรรดาโซเชียลมีเดียก็ทำให้การทำงานงานและกิจกรรมประจำวันของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของเราในประเด็นต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน
การศึกษาที่เผยแพร่โดย Digital Economy Compass เมื่อเร็วๆ นี้ได้รวบรวมกิจกรรมบางอย่างที่ดำเนินการบนอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลา 60 วินาที ซึ่งมีการอัพโหลดวิดีโอใน YouTube กว่า 500 ชั่วโมง มีเนื้อหาเกือบ 404,444 ชั่วโมงที่รับชมบน Netflix และมีการอัพโหลดสตอรี่ใน Instagram 347,222 ครั้ง หากเราเปรียบเทียบข้อมูลนี้กับข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์เดียวกันเมื่อ 5 ปีก่อนหน้า เราจะสังเกตเห็นว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลนี้พัฒนาไปเร็วเพียงใด
ข้อมูลจาก GreenGreeks ยังระบุว่า ศูนย์ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่่ทั่วโลก ยังมีส่วนสำคัญในการปล่อยมลพิษ เนื่องจากการใช้พลังงานสูงและระบบระบายความร้อนมักไม่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลใช้พลังงานไฟฟ้าราว 1.5-2% ของพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 12% ต่อปี และปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 140 พันล้านกิโลวัตต์ – ชั่วโมง/ปี ในปี 2020 ซึ่งเทียบเท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้า 50 ปี และสร้างการปล่อยคาร์บอนเกือบ 150 ล้านเมตริกตันคาร์บอน/ปี เลยทีเดียว
ในปี 2012 มีศูนย์ข้อมูล 500,000 แห่งทั่วโลก แต่ปัจจุบันมีศูนย์ข้อมูลมากกว่า 8 ล้านแห่งทั่วโลก เพิ่มขึ้นถึง 16 เท่าในระยะเวลา 7 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลหนึ่งที่ยืนยันว่าอินเทอร์เน็ตเป็นอุตสาหกรรมก่อมลพิษคาร์บอนที่เติบโตเร็วที่สุด และจะทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งหมดเกิดมลพิษทั่วโลกด้วย โดยมลพิษของศูนย์ข้อมูลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลก หรือเท่ากับก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยโดยสหรัฐอเมริกาภายในปี 2040นี่เป็นปัญหาใหญ่และมี แต่จะเลวร้ายลง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม บริษัทชั้นนำบางแห่งก็มีการดำเนินการด้าน Digital Sustainability ที่ก้าวหน้าอย่างมาก โดยบริษัท เทคโนโลยี 27 แห่ง ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินงานซึ่งรวมถึง Intel, SAP, Datapipe และ Motorola ส่วน Apple จัดหาพลังงานสะอาด 100% สำหรับศูนย์ข้อมูลแล้ว และเมื่อปี 2015 ได้ประกาศแผนการลงทุน 1,700 ล้านยูโร (ราว 71,560 ล้านบาท) ในการสร้างและดำเนินการศูนย์ข้อมูล 2 แห่งในยุโรปแต่ละแห่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% นอกจากนี้ Apple ยังลดการใช้พลังงานโดยรวมโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ Apple ลง 57% ตั้งแต่ปี 2008 ทำให้ลดค่าไฟฟ้าของลูกค้าและการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 350,000 เมตริกตันของ CO2 ใน 3 ปี
อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ Formafantasma สตูดิโอออกแบบในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังจัดลำดับความสำคัญของฟังก์ชันมากกว่ารูปแบบด้วยเว็บไซต์ใหม่ เว็บไซต์ใหม่ของสตูดิโอแห่งนี้เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้รับการออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงาน โดยมีรูปภาพขนาดเล็ก รูปแบบชุดตัวอักษรพื้นฐานและโลโก้ที่สร้างจากรหัสตัวอักษร ภาพที่เรียบง่ายนี้ช่วยลดพลังงานที่จำเป็นในการโหลดเว็บไซต์ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย “เป้าหมายหลักของเราไม่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมกราฟิกอะไร แต่เราสร้างงานออกแบบที่ยอดเยี่ยมและมีมาตรวัดที่ดีในแง่ของความยั่งยืน” Andrea Trimarchi และ Simone Farresin ผู้ก่อตั้ง Formafantasma กล่าวกับ Dezeenเว็บไซต์ที่รายงานความเคลื่อนไหวด้านการออกแบบ
ด้าน Volkswagen ประเทศแคนาดา สร้างเว็บไซต์อินเทอร์แอกทีฟใหม่เพื่อโปรโมตรถ SUV ไฟฟ้าทั้งหมด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา รวมถึงเพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเว็บไซต์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมันแห่งนี้ ได้เปิดตัว Carbon-Neutral Net ซึ่งเป็นการออกแบบเว็บไซต์ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแบรนด์ Volkswagen โดยลดจำนวนข้อมูลที่ฝังอยู่ในสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการลบสีทั้งหมดและแทนที่ภาพถ่ายด้วยภาพโมเสคที่สร้างจากอักขระข้อความที่มีข้อมูลน้อย
Digital Sustainability ของ Volkswagenลดปริมาณ CO2 ที่เกิดจากการเรียกดูเว็บไซต์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ผลลัพธ์ที่ได้คือเว็บไซต์ที่มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่สะอาดกว่า 99% ของเว็บไซต์อีกกว่า 2ล้านหน้าที่ทดสอบโดย Website Carbon ซึ่งเป็นเครื่องคำนวณการปล่อยคาร์บอนแบบดิจิทัล โดยเว็บไซต์เวอร์ชั่นรักษ์โลกของ Volkswagen สร้าง CO2 เฉลี่ยเพียง 0.022 กรัมต่อการดูหน้าเว็บ 1 หน้า ขณะที่เว็บไซต์โดยเฉลี่ยสร้าง CO2 จำนวน 1.76 กรัมต่อการดูหน้าเว็บ 1 หน้า
ทั้งนี้ Volkswagen เปิดเผยว่า ชาวแคนาดา 73% ไม่ทราบว่ากิจกรรมออนไลน์ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์ โดยเฉพาะการท่องอินเทอร์เน็ต คำค้นหา วิดีโอสตรีม และการประมวลผลแบบคลาวด์ ที่ถูกดำเนินการหลายพันล้านครั้งต่อวัน ทำให้ความต้องการพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นทในขณะที่ชาวแคนาดา 72% รู้สึกประหลาดใจที่ทราบว่าอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วน CO2 มากพอๆ กับอุตสาหกรรมสายการบิน และชาวแคนาดา 81% กล่าวว่าต้องการพยายามคาร์บอนฟุตพรินท์ที่เกิดจากกิจกรรมดิจิทัลต่างๆ
ขณะที่ Ecosia เป็นเสิร์ชเอนจินทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยทุกครั้งที่มีคนคลิกโฆษณาที่อยู่ถัดจากผลการค้นหา Ecosia จะทำเงินไม่กี่บาทเหมือนกับเสิร์ชเอนจินอื่นๆ แต่ความแตกต่างคือ 80% ของรายได้นั้นจะบริจาคให้กับโครงการปลูกต้นไม้ทั่วโลก โดยปลูกต้นไม้ไปแล้ว 120 ล้านต้น เช่น การปลูกต้นโกงกางตามแนวชายฝั่งในมาดากัสการ์ การปลูกไม้ผลและต้นถั่วทางตอนเหนือของกานา และการปลูกต้นอะคาเซียพื้นเมืองใกล้หุบเขา Golbo Kubis ในเอธิโอเปีย จนถึงปัจจุบันยอดบริจาคของพวกเขามีมูลค่าสูงมากกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90 ล้านบาท) ในช่วง 8ปีที่ผ่านมา
Ecosia เชื่อว่าวิกฤตสภาพอากาศทำให้ไม่อาจดำเนินธุรกิจตามปกติได้อีกต่อไป นั่นคือเหตุผลที่บริษัทฯ เริ่มสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของตัวเองในปี 2018 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เสิร์ชเอนจินสีแขียวแห่งนี้ได้เพิ่มพลังงานสะอาดให้เพียงพอในการขับเคลื่อนการสืบค้นทั้งหมดด้วยพลังงานหมุนเวียน 100%
กรณีศึกษาของ Digital Sustainability เหล่านี้ น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก เห็นดีเห็นงามในแนวทางนี้ ด้วยการตระหนักว่าอะไรคือ “แก่น” และอะไรคือ “เปลือก” และหนทางใดที่จะนำพาให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ที่มา :
- Digital Sustainability
- Did You Know The Internet Is One Of The World Largest Polluters? Largest
- Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/02/digital-sustainability/