สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากทุก ๆ ภาคส่วนและถือเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศก็ว่าได้ ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
อย่างที่ทราบกันว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) ได้มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเกิดห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกภาคส่วน
ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญคือเทคโนโลยีอัจฉริยะซึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และมีประสิทธิผลที่ดีกว่าเดิม โดยจะต้องทำงานภายใต้เทคโนโลยีระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งในไม่ช้านี้ 5G จะเป็นเทคโนโลยีอันสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดปัจจัยในการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาเมืองสู่ “เมืองอัจฉริยะ”
Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ ถือเป็นแนวคิดในการสร้างเมืองบนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดและเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาอันสลับซับซ้อนของเมืองใหญ่ ตลอดจนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและบริหารเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคประชาชน
ซึ่งแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนั้นจะประกอบไปด้วย 7 ปัจจัย ดังนี้
1. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
คือการเพิ่มประสิทธิภาพโดยสร้างความเชื่อมโยงและร่วมมือกันทางธุรกิจด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
2. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
คือการสร้างคนที่มีความรู้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการในสถานศึกษาหรือนอกสถานศึกษา ซึ่งจะต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ยุคใหม่ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
คือการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้าน ทั้งสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ เพื่อให้ผู้คนมีวิถีชีวิตที่มีความสุข
4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
คือการบริหารจัดการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นในด้านสุขภาวะ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
5. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
คือการสร้างความสะดวกสบายในการคมนาคม บนพื้นฐานของประสิทธิภาพและความปลอดภัย ตลอดจนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
คือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างระบบโครงข่ายการใช้พลังงานที่ชาญฉลาด ทำให้สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า
7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
คือการสร้างโครงข่ายหน่วยงานภาครัฐในภาคส่วนต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว และมีระบบการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ
และทั้งหมดนี้ก็คือแนวคิดในการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นกระแสการพัฒนาในระดับโลกเลยก็ว่าได้ สำหรับในประเทศไทยการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ก็ถือเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้
เรียบเรียงโดย SmartCityThailand.com