ตามติดภารกิจเพื่อชาติ เปลี่ยนโรงแรมเป็น Hospitel (ฮอสปิเทล) รับมือการระบาดระลอกใหม่

Share

Loading

มาในการระบาดระลอกใหม่นี้เอง ที่พวกเราเพิ่งเริ่มได้ยินคำศัพท์ใหม่อีกหนึ่งคำกันบ่อยขึ้น นั่นคือ Hospitel (ฮอสปิเทล) ซึ่งหมายถึงโรงแรมที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นที่พักดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ทั้งที่แนวคิดการสร้าง ฮอสปิเทล นี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่การระบาดในระลอกแรกในเดือนเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว แต่ในตอนนั้น โชคดีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันชะลอการระบาดระลอกแรกได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงจนควบคุมได้ Hospitel ที่จัดเตรียมไว้จึงไม่ได้ใช้

โดยในครั้งนี้ แนวทางการสร้าง ฮอสปิเทล ได้รับการหยิบเอามาใช้อีกครั้ง เมื่อในวันนี้ ที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นรายวันทะลุหลักพันคนไปเรียบร้อยแล้ว โดยล่าสุด ในวันที่ 17 เมษายน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 1,547 ราย

ทั้งนี้ ในรายงานข่าวล่าสุดจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในตอนนี้นี่เอง ที่ทำให้โรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลสนามที่จัดไว้อาจมีไม่เพียงพอ นี่จึงเป็นสาเหตุให้ทางภาครัฐของความร่วมมือจากหลายโรงแรมให้เปิดโรงแรมเป็น Hospitel ซึ่งในตอนนี้ กระรวงสาธารณสุขได้อัปเดตแล้วว่า มีโรงแรมทั้งหมดกว่า 23 แห่ง ทั่วประเทศผ่านการตรวจประเมินและขึ้นทะเบียนเป็น Hospitel เรียบร้อยแล้ว

อัปเดต ความพยายามของ สธ. ในการขยายจำนวนและสร้างมาตรฐานให้ Hospitel (ฮอสปิเทล) ทั่วประเทศ

จากรายงานข่าว เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา โดย ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงถึงมาตรการ Hospitel ฮอสปิเทล รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ว่า

“ขณะนี้ ทาง สบส. ได้จัดหาโรงแรมมาเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว หรือ Hospitel ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือรักษาในโรงพยาบาลหลัก 3-5 วันแล้วอาการดี โดยมีการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม หากอาการเปลี่ยนแปลงจะย้ายกลับโรงพยาบาลหลักทันที”

“ดังนั้น ในตอนนี้ อยากให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐาน และในขณะนี้ มี Hospitel ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 23 แห่ง จำนวน 4,900 เตียง ดูแลผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 2 พันเตียง และต่อไปจะเตรียมเพิ่มให้ได้ 5-7 พันเตียง ซึ่งถ้าทำได้ จะช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลได้”

รวมทั้งขณะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เตรียมเตียงจากโรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ ตำรวจ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน รวม 6,525 เตียง ใช้แล้ว 3,700 กว่าเตียง ส่วนหนึ่งสำรองไว้สำหรับผู้ที่มีอาการมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ”

จากนั้น นายแพทย์ธเรศ ยังกล่าวต่อว่าในการขึ้นทะเบียน Hospitel กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะตรวจประเมินมาตรฐานอย่างรอบด้าน

“ทั้งด้านโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ น้ำเสีย ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน มีการจัดบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐาน โดยมีแพทย์ประจำ 1 คน พยาบาล 1 คนต่อ 20 เตียง เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่”

“และที่ผ่านมา ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการสมัครร่วม Hospitel ทางออนไลน์ได้ โดย สบส.จะอนุมัติทางออนไลน์ด้วย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจะใช้ประกันสุขภาพส่วนบุคคล และกองทุนสุขภาพตามสิทธิต่างๆ ด้วย”

“อย่างไรก็ดี ในตอนนี้ การดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ทุกรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาและควบคุมโรค แม้ขณะนี้ทั่วประเทศจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 พันรายต่อวัน แต่คิดว่ายังเพียงพอ จึงยังคงแนวทางนี้ โดยกรรมการวิชาการจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ”

จากแนวทาง สู่การปฏิบัติจริง ย้อนไปดูต้นแบบตั้งแต่การระบาดระลอกแรก

ดังที่ได้เกริ่นแล้วว่า แนวคิดในการเปลี่ยนโรงแรม ให้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราวนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในการระบาดระลอกแรก ซึ่งจากบทความเรื่อง “โควิด-19 : Hospitel (ฮอสปิเทล) แปลงโรงแรมเป็นโรงพยาบาล ทางรอดจากวิกฤตคนไข้ล้น” โดย ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ได้ให้ข้อมูลเรื่อง ฮอสปิเทล ต้นแบบที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่าการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลสนามมีการดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ โรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 (Hospitel) และโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง (Hotel Isolation) รวมทั้งเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการแยกกักตัวเองจากครอบครัว

ขณะนี้มีโรงแรมที่ถูกแปลงเป็นโรงพยาบาลสนามเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งใช้หอพักบุคลากรของมหาวิทยาลัย โรงแรมในกรุงเทพฯ ที่มีโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นศูนย์บริหารจัดการ และยังมีโรงแรมอีกแห่งหนึ่งที่รับผู้ป่วยพักฟื้นตามเกณฑ์กรมการแพทย์ประมาณกว่า 50 คน

ในต่างจังหวัดได้แก่ที่ จ.ภูเก็ต จ.นครราชสีมา โดยพื้นที่เหล่านี้ได้ถูกใช้เพื่อรองรับการกักตัวผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศที่ต้องกักตัว 14 วัน และผู้ป่วยที่ปลอดเชื้อแล้วแต่ต้องพักฟื้นเพื่อรอการส่งกลับบ้าน ตามแต่จุดประสงค์ที่พื้นที่ต้องการ

โดยในการระบาดระลอกแรก นพ.ธเรศ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่ามีโรงแรมทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมแล้ว 132 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ และคาดว่าจะขยายจำนวนห้องพักฟื้นผู้ป่วยและผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังได้มากกว่า 16,000 ห้อง

ทั้งนี้ นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา อธิบายเพิ่มเติมถึงความจำเป็นที่ต้องมี ฮอสปิเทล เพื่อรับมือการระบาดในตอนนั้น ซึ่งโดยหลักการแล้วก็ยังใช้อธิบายการระบาดระลอกใหม่ในตอนนี้ได้ ว่า

“เพราะร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเล็กน้อยจนถึงอาจไม่มีอาการเลย มีเพียงร้อยละ 15 ที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการต่างๆ เช่น ไข้สูง ปอดบวม ซึ่งโรงพยาบาลเล็กๆระดับอำเภอมีศักยภาพที่จะรักษาได้ ขณะที่อีกร้อยละ 5 เป็นกลุ่มที่อาการค่อนข้างหนัก มีภาวะโรคแทรกซ้อน จำเป็นต้องอยู่ที่โรงพยาบาลและใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น ห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ”

“ถ้าอัตราการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น ด้วยศักยภาพของระบบสาธารณสุขของประเทศคงรับไม่ไหว นี่จึงเป็นที่มาของแนวทางการจัด ฮอสปิเทล และอีกทางหนึ่ง การเปลี่ยนจากโรงแรม มาเป็น ฮอสปิเทล ยังเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและลูกจ้างอยู่รอดในสถานการณ์ที่ทุกประเทศยังล็อคดาวน์ การเดินทางและท่องเที่ยวหยุดชะงักทั้งหมด”

“หลักการของ ฮอสปิเทล คือ แทนที่เตียงอยู่ที่โรงพยาบาล แต่เตียงนี้อยู่ที่โรงแรม คนดูแลหลัก คือ พนักงานโรงแรม ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่พยาบาล เพราะเขาสามารถดูแลได้ นี่คือการแชร์ทรัพยากรของประเทศชาติ เพราะหมอพยาบาลควรจะดูแลเคสที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล”

เรียนรู้จาก สงขลาโมเดล กับการส่งมอบความรู้จากบุคลากรการแพทย์ถึงบุคลากรโรงแรม

บทความชิ้นเดียวกันจาก BBC ผู้เขียนยังได้หยิบยก “สงขลาโมเดล” ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทางโรงแรมที่กำลังจะผ่านมาตรฐานการเป็น Hospitel โดยบุคลากรทางการแพทย์จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้อุทิศเวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานและวันหยุดลงพื้นที่ตามโรงแรมที่อาสาเป็นสถาพยาบาลชั่วคราว เพื่อให้ความรู้กับบุคลากรของโรงแรมนั้น ในการดูแลผู้ป่วยที่เฝ้าสังเกตอาการให้ถูกต้องตามมาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุข

โดยได้จัดทำคอร์สออนไลน์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ส่งให้บุคลากรของโรงแรมศึกษา เช่น แพร่เชื้อได้อย่างไร ควรเว้นระยะห่างเท่าไหร่ การใช้หน้ากากอนามัย สารเคมีในการทำความสะอาด คอร์สถัดมา คือ การฝึกปฏิบัติผ่านออนไลน์ เช่น การสวมใส่ถุงมือ ขั้นตอนทำความสะอาด และขั้นสุดท้าย คือ ทีมแพทย์พยาบาลตระเวนไปตามฮอสปิเทล เพื่อดูในภาคการปฏิบัติ รวมทั้งดูความพร้อมขั้นสุดท้าย

และไม่ใช่แค่ความรู้เท่านั้น ที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนโรงแรมเป็นเหมือนโรงพยาบาลสาขา แต่คนทำงานและชุมชนรอบข้างต้องมีความเข้าใจและยอมรับในภารกิจเพื่อชาตินี้ร่วมกันด้วย

โดย นพ.สุวัฒน์ ยอมรับว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเริ่มคุยกับพนักงาน บางครั้งเจอคำถามที่ยาก แต่ต้องค่อยๆตอบทำความเข้าใจถึงความจำเป็นนี้ ซึ่งการสื่อสารในเรื่องแรก คือ การบอกว่า นี่ไม่ใช่การผลักภาระให้โรงแรม เพราะภารกิจนี้เริ่มต้นจากเราเชื่อมั่นในศักยภาพของโรงแรมที่จะช่วยโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ดังนั้น ทุกคนควรภาคภูมิใจ”

สมาคมโรงแรมไทย พร้อมประสานเครือข่ายโรงแรม พร้อมใจช่วยชาติเปิด Hospitel (ฮอสปิเทล)

ด้านตัวแทนของธุรกิจโรงแรมไทย สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า ยินดีจะให้ความร่วมมือกกับภาครัฐ ประสานกับโรงแรมในเครือข่าย เปิด ฮอสปิเทล เพื่อช่วยทางภาคการแพทย์ รับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอความร่วมมือมาทางสมาคมโรงแรมไทยให้ผู้ประกอบการโรงแรมร่วมเป็น Hospitel หรือ หอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้แจ้งและขอความร่วมมือไปยังสมาคมให้เข้าร่วมโครงการแล้ว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในวิกฤตครั้งนี้ เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลหลัก

ทั้งนี้ ฮอสปิเทล จะเน้นเปิดรับ ผู้ป่วยในกลุ่มไม่มีอาการ อาการน้อย ก่อนส่งกลับบ้าน และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์การระบาดที่รุนแรง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม

โดยโรงแรมที่เข้าร่วมเป็น ฮอสปิเทล ก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจหลัก คือ การเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อเหตุการณ์ปกติ เพราะถึงเวลานั้น ก่อนจะเปิดรับนักท่องเที่ยว ต้องมีการปิดสถานที่ฆ่าเชื้ออย่างละเอียดอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ในการดูแลผู้ป่วยก็จะมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาจากโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน อาทิ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลในเครือ BDMS เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม การเปิด ฮอสปิเทล นี้ โรงแรมนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในชุมชนด้วย โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรมสนับสนุนบริหารสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอทราบรายละเอียดในเรื่องนี้เพิ่มเติมได้

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/04/17/hospitel-fight-new-wave-covid-19-thailand/