Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24
Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25
Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26
เมื่อสถาบันการศึกษาถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทัศนคติมโนทัศน์ใหม่ของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการใบปริญญา แต่ต้องการเรียนรู้ทักษะที่จะสามารถทำให้พวกเขาเหล่านั้นนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง พร้อมสร้างรายได้กลับมาให้แก่ตนเอง นำมาสู่การศึกษารูปแบบ “ช็อตคอร์ส” สอนให้มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ อย่างแท้จริง จบแล้วทำงานได้ทันที กลายเป็นกับดักการศึกษาของระบบเก่าจนขับเคลื่อนลำบาก หรือขับเคลื่อนไม่ได้เลย
เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้คิดโมเดลการศึกษาใหม่ขึ้นมาชื่อว่า โครงการความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative Work Integrated Education : CWIE) เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในลักษณะร่วมผลิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ (ภาครัฐ เอกชน ชุมชน) เพื่อให้บัณฑิตพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริงได้ทันที มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดงาน สามารถพัฒนาอาชีพในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมรองรับตำแหน่งงานในอนาคต เป็นความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 กลุ่ม และได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่
1) นักศึกษา ค้นพบตัวเองจากการปฏิบัติงาน มีโอกาสได้งานทำก่อนจบ
2) สถาบันอุดมศึกษา เกิดเครือข่ายความร่วมมือพัฒนากำลังคนและต่อยอดงานวิจัย
3) สถานประกอบการ ร่วมสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะตรงตามต้องการ
4) ประเทศชาติ มี Smart citizen เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
CWIE เป็นการจัดการศึกษาในลักษณะร่วมมือกันผลิตระหว่าง Demand กับ Supply สิ่งสำคัญคือการตอบโจทย์ตลาดงาน สร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงกับการทำงาน เมื่อจบออกไปมีความพร้อมสามารถทำงานได้จริงทันที เพราะได้รับโอกาสเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับการมีประสบการณ์ทำงานจริงในสถานประกอบการ ซึ่งตอบโจทย์ในด้านการพัฒนาประเทศ และเป็นประโยชน์แก่สถาบันอุดมศึกษาในด้านการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับตำแหน่งงานในปัจจุบัน
ส่วนด้านผู้ประกอบการก็ได้รับประโยชน์ในเรื่องการได้กำลังคนที่มีสมรรถนะตรงกับงานและสามารถปฏิบัติงานได้จริงในสถานประกอบการ CWIE มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักศึกษา 2 เท่าภายใน 5 ปี จากจำนวน 102,510 คน เป็น 205,020 คน โดยใช้ EEC Model เป็นต้นแบบการศึกษาทั้งประเทศ
EEC Model คืออะไร
EEC Model เกิดจากแนวคิดของ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งมองว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) เป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนของอุตสาหกรรมยุคใหม่ หรือ S Curve ยึดโยงกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อรัฐบาลประกาศแนวคิดนี้ออกไป พร้อมกับโรดแมปการสร้างคน กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานพร้อมเข้ามาสนับสนุน ซึ่งอีอีซีก็พร้อมทำงานร่วมกับทั้งสองกระทรวง แต่ต้องเป็นการศึกษาในแนวทางที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากอีอีซีมีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว นำมาสู่การจัดตั้งคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) มี ดร.อภิชาต ทองอยู่ เป็นประธานคณะทำงาน ตามคำสั่งแต่งตั้งที่ 154/2561 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2561 โดยเลขาธิการอีอีซี
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
ดร.อภิชาต ทองอยู่
ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC)
โครงสร้างการดำเนินงานตามกรอบงาน EEC HDC คือการศึกษาและวิจัยความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี จากนั้นจึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ผลิตบุคลากรป้อนให้ตามความต้อองการภายใต้ EEC Model แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ EEC Model Type A กับ EEC Model Type B ทั้งสองกลุ่มจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ทำงานภายใต้หลักการ demand driven เช่นเดียวกัน เน้นแก้ปัญหา 3 ด้านคือ
1) แก้ปัญหาคนตกงาน
2) ผลิตบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี
3) ปั้นบุคลากรที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย หมายความว่าเรียนจบ ปวช. หรือ ม.3 ตามหลักสูตรที่กำหนดต้องได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท จบ ปวส. ต้องได้เงินเดือนขั้นต่ำ 20,000 บาท และจบปริญญาตรีได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาท เป็นต้น
การพัฒนาบุคลากรด้วยวิธีการนี้นอกจากจะทำให้ธุรกิจก้าวกระโดดจากอุตสาหกรรม 2.5 เป็นอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรจะลดลงเฉลี่ย 38% ด้วยระบบนิเวศการศึกษาสนับสนุนเมื่อเรียนจบมาแล้วทำงานได้จริง
อว. ยกนิ้ว EEC Model
ในการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ครั้งที่ 1/2563 กระทรวง อว.ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ได้รับปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (Degree) เป็นแบบ EEC Model Type A ให้มากที่สุด โดยให้ EEC HDC ประสานงานกับคณะทำงาน CWIE ให้แผนงานดังกล่าวบรรลุตามเป้าหมาย
คำถามคือ EEC Model Type A คืออะไร?
EEC Model Type A คือแนวทางการศึกษาแบบ EEC Model ที่เป็นข้อตกลงระหว่างสถาบันการศึกษา กับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี โดยสถาบันการศึกษาจะทำความตกลงร่วมกับสถานประกอบการว่าเด็กที่กำลังศึกษาในแต่ละรุ่นมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ละโรงงานต้องการเด็กจำนวนเท่าไหร่..แบบไหน..อย่างไร เมื่อคัดเลือกเด็กแล้ว โรงงานต้องจ่ายทุนค่าเล่าเรียน มีเงินเดือนระหว่างฝึกงาน จนถึงการการันตีรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษา แต่ถ้าโรงงานไหนไม่พร้อมเข้าสู่ระบบไทป์ A ก็มีตัวเลือกที่ 2 ไทป์ B คือนักศึกษาได้รับทุนการศึกษา มีรายได้ระหว่างฝึกงาน แต่ไม่การันตีรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษา คืออาจจะรับหรือไม่รับก็ได้ ขณะที่ปัจจุบันการศึกษาในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบไทป์ C คือจบแล้วไปฝึกงานตามสถานประกอบการต่างๆ เป็นการฝึกงานทั่วไป ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีค่าจ้างระหว่างการฝึกงาน ตรงสายบ้าง ไม่ตรงสายบ้าง
ในช่วงที่ผ่านมาการศึกษาในรูปแบบ EEC Model ได้กำหนดหลักสูตรร่วมกันระหว่างกระทรวง อว. กับอีอีซีใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ 12 S Curve ซึ่งภาคเอกชนที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี 2.5 เท่า ซึ่ง 12 S Curve จะขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยแรงงานฝีมือขั้นสูง แต่โรงงานก็ไม่มีศักยภาพดำเนินการได้ ต้องอาศัยสถาบันการศึกษาดำเนินการ จึงต้องจัดปรับการศึกษาให้เป็นแบบ Demand Driven คืออุตสาหกรรมต้องการแรงงานแบบไหนก็ผลิตบุคลากรแบบนั้นมารองรับ
ความสำเร็จของ EEC Model Type A สะท้อนได้จากค่าตอบแทนของนักศึกษาจบใหม่ในพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา) ถ้าเป็นโรงงานเกรด A บริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ เด็กจบใหม่ปริญญาตรีไม่มีประสบการณ์ให้ 2.5 หมื่นถึง 3 หมื่น ถ้าเป็น ปวช. ปวส. 2 หมื่นอัพ แถมส่งไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศ รวมค่าเบี้ยเลี้ยง เบี้ยขยัน เดือนหนึ่งประมาณ 3-4 หมื่นบาท
จึงไม่แปลกที่ EEC Model จะกลายเป็นหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ที่ อว.กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี ใช้ EEC Model Type A และ EEC Model Type B เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาบุคลากรในอีอีซีอย่างเต็มที่ รวมถึงมอบนโยบายให้ สป.อว. ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ได้รับปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (Degree) เป็นแบบ EEC Model Type A ให้มากที่สุด โดยความร่วมมือนอกพื้นที่ EEC นั้น CWIE จะนำแนวทางของ EEC Model ไปเป็นต้นแบบใช้กับทั้งประเทศ
เพื่อไม่ต้องเกิดปัญหาเด็กจบใหม่ตกงานในอนาคต!!
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/20/eec-model-master-modern-studies-thailand/