แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของ 6 ประเทศ Emerging Market สู่การพัฒนาเมืองทั่วโลกอย่างยั่งยืน

Share

Loading

ขณะนี้รัฐบาลทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาหนักทั้งจากการเร่งฟื้นตัวจากโควิด-19 การสร้างและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรายงานของ Coalition for Urban Transitions พบว่าการนำเทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบันในเมืองหลักของ 6 ประเทศ Emerging Market ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโกและแอฟริกาใต้ สามารถลดการปล่อยมลพิษรายปีจากภาคธุรกิจต่างๆ ในเมืองได้โดยรวมถึง 87–96% ภายในปี 2050

นอกเหนือจากจะเป็นไปตามข้อผูกพันเบื้องต้นของประเทศต่างๆ ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ยังช่วยให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วยมูลค่ามากกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 374.23 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2050 โดยพิจารณาจากการประหยัดพลังงานโดยตรง และต้นทุนวัสดุ  ทั้งยังอาจรองรับการจ้างงานใหม่มากถึง 31 ล้านตำแหน่งในปี 2030 เลยทีเดียว

 โดย 6 แนวทางซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ 6 ประเทศดังกล่าวได้นำไปใช้แล้วจนประสบความสำเร็จ และอาจนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดเมืองยั่งยืนอื่นๆ ทั่วโลก  มีดังนี้

1. จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero) ระดับชาติ และกำหนดให้เมืองเป็นหัวใจสำคัญ

ไม่มีอะไรขัดขวางความก้าวหน้ามากไปกว่าแนวทางที่ไม่ปะติดปะต่อ เพื่อกระตุ้นการดำเนินการและการลงทุนในภาคส่วนและกระทรวงต่างๆ วิสัยทัศน์ระดับชาติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยุทธศาสตร์การพัฒนา Net Zero ระดับชาติ ช่วยให้แน่ใจว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ทั้งหมดในประเทศมีการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในระดับเดียวกัน และกำลังดำเนินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในฐานะที่เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ประมาณ 1 ใน 3ของ จีดีพีโลก และ 41% ของการปล่อย CO2 จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงคิดเป็น 42% ของประชากรทั่วทั้งโลก ดังนั้นแนวปฏิบัติที่ทั้ง 6 ประเทศ ได้ดำเนินการในเมืองต่างๆ ไม่เพียงแต่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน หรือมีความสำคัญเฉพาะกับบรรดาเมืองของประเทศเหล่านี้เท่านั้น แต่รวมถึงทั้งโลกด้วย นั่นหมายความว่า 6 ประเทศนี้จะต้องเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์นี้

รัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถเรียนรู้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยมลพิษในระยะยาว (SA-LEDS) ของแอฟริกาใต้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 รวมถึงการริเริ่มที่เกิดขึ้นทั่วประเทศแอฟริกาใต้ เช่น ยุทธศาสตร์การประหยัดพลังงานแห่งชาติซึ่งให้แรงจูงใจและกลไกสนับสนุนเพื่อผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น การมอบเครื่องทำน้ำอุ่นพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยในใจกลางเมืองหลักหลายแห่ง  แนวทางปฏิบัติที่ใช้ทั่วประเทศยังหมายความถึงโครงการริเริ่มที่ประสบความสำเร็จ เช่น Rea Vaya ระบบขนส่งด่วนด้วยรถประจำทางของโจฮันเนสเบิร์กที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2010 และปัจจุบันมี 48 สถานี เปิดให้บริการบนเส้นทาง 59 กิโลเมตร สามารถนำไปปรับใช้ในเมืองใหญ่อื่นๆ ได้

2. ดำเนินนโยบายระดับชาติ เพื่อสนับสนุนเมืองที่มีขนาดกะทัดรัด มีการเชื่อมต่อ สะอาด และยืดหยุ่น

การเปลี่ยนแปลงของเมืองไปสู่เมืองที่กะทัดรัด มีการเชื่อมต่อ สะอาด และยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถรองรับการพัฒนาที่หลากหลาย รวมถึงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น การสาธารณสุขที่ดีขึ้น มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น และมลพิษที่ลดลง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องออกนโยบายระดับชาติที่ป้องกันการการขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจาย (Urban Sprawl) ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินการของเทศบาล

อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ดำเนินนโยบายระดับชาติเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของเมือง พันธกิจแห่งชาติเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน ช่วยเมืองต่างๆ ในการจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการพัฒนาที่สะอาดครอบคลุม และยั่งยืน ในขณะเดียวกันกรอบการประเมินสภาพภูมิอากาศเมืองอัจฉริยะใหม่ (ClimateSMART Cities Assessment Framework) ของอินเดีย ที่ใช้ตัวชี้วัด 28 ตัว เพื่อประเมินความเปราะบางของเมือง และศักยภาพในการดำเนินการด้านพลังงานและอาคารสีเขียว การวางผังเมือง พื้นที่สีเขียว และความหลากหลายทางชีวภาพ ความคล่องตัว/ความสะดวกในการเดินทาง คุณภาพอากาศ การจัดการน้ำและของเสีย ขณะนี้เกือบ 100 เมืองทั่วอินเดีย ใช้แพลตฟอร์มการแบ่งปันความรู้ของเครื่องมือเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน และใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อสร้างเมืองที่กะทัดรัด มีการเชื่อมต่อ และสะอาดยิ่งขึ้น

3. จัดตั้งกองทุนและสนับสนุนการเงินโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของเมือง

การระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในเมืองที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น เช่น ระบบขนส่งสาธารณะและอาคารสีเขียว ทำให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมหาศาลแก่รัฐบาลของประเทศ อันเป็นผลมาจากการประหยัดพลังงานและวัสดุ ตัวอย่างเช่นในอินโดนีเซียการปล่อยมลพิษในเมืองอาจลดลงถึง 50% ในปี 2030 และ 96% ในปี 2050 โดยใช้มาตรการคาร์บอนต่ำที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล เช่น การสร้างระบบขนส่งสาธารณะ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินและปั่นจักรยาน การสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่าการใช้มาตรการคาร์บอนต่ำจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2050 แต่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV)  2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2050 โดยพิจารณาจากการประหยัดพลังงานและต้นทุนวัสดุเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ อาคารและการขนส่งผู้โดยสารช่วยลดการปล่อยมลพิษได้มากที่สุด ในอินโดนีเซีย มาตรการส่งเสริมการขยายตัวของเมืองขนาดกะทัดรัด และลดความต้องการในการเดินทางจ ะต้องใช้เงิน 24.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการลงทุนเพิ่มเติมภายในปี 2050 แต่จะให้ผลตอบแทนการประหยัดพลังงานและวัสดุโดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิถึง 731.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

4. สนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นในเมือง ผ่านการปฏิรูปกาากำกับดูแลของภาครัฐและการคลังที่ช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันและอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น

เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้นำท้องถิ่นและนายกเทศมนตรีสามารถดำเนินการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลกลางของประเทศสามารถผลักดันการปฏิรูปนโยบายและการคลัง เพื่อสร้างความมั่นคงในการลงทุนและสร้างหน่วยงานในส่วนกลางเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ตามแนวทางบูรณาการ

ตัวอย่างเช่นในแอฟริกาใต้การปฏิรูปกฎหมายควบคุมการไฟฟ้า ในไม่ช้าจะช่วยให้เทศบาลสามารถจัดหาพลังงานสะอาดของตนเองได้ ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น เทศบาลบางแห่งเช่น eThekwini ซึ่งครอบคลุมเมือง Durban ขณะนี้ก็วางแผนที่จะสร้างกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของตนเอง โดยส่วนใหญ่มาจากลมและแสงอาทิตย์ เพื่อลดการพึ่งพาจากส่วนกลาง

ในเม็กซิโกการปฏิรูปการการกำกับดูแลของภาครัฐ เช่น การสร้างสำนักงานนครบาล Guadalajara (เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเม็กซิโก รองจาก Mexico City) ได้ปรับปรุงการใช้ที่ดินและการวางแผนการขนส่งแบบบูรณาการ และขยายการจัดหาระบบขนส่งสาธารณะราคาไม่แพง การสร้างหน่วยงานนี้ในเขตเมืองยังช่วยสร้างขีดความสามารถของพนักงานในระดับท้องถิ่นอีกด้วย เนื่องจากการเติบโตของเม็กซิโกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ การสนับสนุนระดับชาติ ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือด้านเทคนิค การระดมทุน และการปฏิรูปการกำกับดูแล เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงต่างๆ สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าเมืองที่กำลังเติบโตเหล่านี้มีขนาดกะทัดรัด มีการเชื่อมต่อ สะอาด และมีความยืดหยุ่น

5. จัดลำดับความสำคัญของมาตรการที่สร้างความยืดหยุ่น และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนยากจน

รัฐบาลกลางไม่ควรกลัวว่าจะมีการสูญเสียงานเกิดขึ้น จากการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพราะเมืองที่มีการลดคาร์บอนมีศักยภาพในการสร้างงานใหม่หลายล้านตำแหน่ง และสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ การวิเคราะห์ล่าสุดจาก Vivid Economics for the Coalition for Urban Transitions พบว่าสามารถสร้างงานใหม่ได้ประมาณ 31 ล้านตำแหน่งในปี 2030 ในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้

มาตรการในเมืองคาร์บอนต่ำ เช่น อาคารที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมให้เป็นไปตามมาตรฐานสีเขียว สามารถสร้างงานได้ประมาณ 8-21 ตำแหน่ง ต่อเงินลงทุน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้ไปในมาตรการประหยัดพลังงาน เมื่อเทียบกับ 3 ตำแหน่งในภาคธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยรัฐบาลกลางจะต้องให้การสนับสนุนเมืองต่างๆ เพื่อให้แรงงานนอกระบบและประชากรอื่นๆ ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงภัยได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เมืองสีเขียว และไม่กลายผู้เสียเปรียบโดยไม่ได้ตั้งใจ ในการทำเช่นนี้รายได้จากภาษีคาร์บอนหรือการปฏิรูปเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาแผนการเปลี่ยนแปลงสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

6. ทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของเมือง

แม้ว่าการลงทุนในเมืองที่ยั่งยืนให้ครอบคลุมทั่วโลก อาจเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าอย่างน้อย 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2050 แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถส่งเสริมนโยบายที่จะกระตุ้น และลดความเสี่ยงในการลงทุนของภาคเอกชน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนได้

ผลตอบแทนจากการใช้มาตรการเหล่านี้จะมากกว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไป ตัวอย่างเช่น ภาคการขนส่งในบราซิลมีศักยภาพในการลดการปล่อยมลพิษในเขตเมืองถึง 45% จนถึงปี 2050 การเปลี่ยนการเดินทางจากรถยนต์ไปเป็นการขนส่งสาธารณะในบราซิลจะต้องใช้เงินลงทุนสะสม 29,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2050 แต่สามารถให้ผลตอบแทนในปัจจุบันคิดเป็นมูลค่าถึง 223.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ในทำนองเดียวกันการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถรองรับการจ้างงานประมาณ 128,000 ตำแหน่งในประเทศบราซิลในปี 2050 และขณะนี้เมืองต่างๆ ได้นำรถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกกำจัดขยะมาใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้แล้ว

รัฐบาลบราซิลอาจตามรอยรัฐบาลจีนที่เพิ่งอนุมัติมาตรการกระตุ้นทางการคลังมูลค่า 729 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเร่งการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการปรับปรุงอาคารและอัพเกรดทางรถไฟ อีกทั้งการที่จีนให้เงินสนับสนุนผู้บริโภคสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้บริษัทต่างๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และถือเป็นการดึงดูดการลงทุนเป็นอย่างมาก

ใช้ประโยชน์จากโอกาส

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ ความคืบหน้าในการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องไม่หยุดชะงัก และจำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามกรอบที่กำหนดไว้ก็เร่งเร้าเข้ามาทุกที ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลของนานาอารยประเทศจะต้องสร้างความเข้มแข็ง เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่าที่ผ่านมา

บทบาทของเมือง ในฐานะกลไกทางเศรษฐกิจเมื่อรวมกับความจริงที่ว่า คนยากจนในเมืองได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 นั่นหมายความว่าศูนย์กลางของเมืองต้องเป็นหัวใจของแผนระยะยาว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและทั่วถึง

รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงมีบทบาทสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่มากมายของเมือง และหากเดินตามแนวทางของเมืองใหญ่ใน 6 ประเทศ Emerging Market ได้สำเร็จ โอกาสที่จะเกิดเมืองยั่งยืนทั่วทุกหนแห่งในโลกก็ไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินเอื้อม

ที่มา : 6 ways that cities across the world can become more sustainable

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/04/17/sustainable-cities-emerging-market/