เทศบาลกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ

Share

Loading

ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม

www.facebook.com/monsaks

ผมกำลังทำงานเรื่องพัฒนา เมืองสมาร์ตน่าอยู่ (Smart City) ได้รับคำถามจากเทศบาลหลายแห่งว่า การลงทุนโครงการสมาร์ตต่างๆ ทำได้หรือไม่ อยู่นอกเหนือภารกิจหรือไม่ ก็ตอบไปว่า ให้ไปเช็ค พ.ร.บ.เทศบาล ว่ามีอำนาจหน้าที่หรือไม่ แล้วอ้างตามนั้น

ต่อมาเริ่มโดนคำถามซ้ำๆ เยอะๆ ชักรู้สึกว่าเป็น pain ของตัวเอง เลยต้องไปนั่งค้น พ.ร.บ.เทศบาล (ตาม [1] และ [2]) มาศึกษาวิเคราะห์ ว่าแล้วก็เอามาแชร์กันหน่อย ในประเด็นคำถามคาใจลักษณะ FAQ (คำถามที่พบบ่อย)

1. เทศบาลสามารถตั้งบริษัท จำกัด มาดำเนินกิจการในพื้นที่ได้หรือไม่?

คำตอบคือ ทำได้ โดยมาตรา 57 ตรี บอกว่า เทศบาลกระทำการร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทจำกัด หรือ ถือหุ้นในบริษัทจำกัดได้ โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ

1.1 บริษัทจำกัดนั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค

1.2 เทศบาลต้องถือหุ้นเกินครึ่ง โดยกรณีหลายเทศบาลถือหุ้นร่วมกัน หุ้นที่รวมกันนั้นต้องเกินครึ่ง

1.3 ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

  • การเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่เทศบาลถือ ต้องได้รับอนุมัติจาก รมว. มหาดไทย
  • กรณีไม่มีเอกชนมาร่วมถือหุ้น ข้อ 1.1 กับ 1.2 ไม่บังคับใช้
  • ข้อ 1.1 ตีความเพิ่มได้ว่า ถ้าไม่มีเอกชนมาร่วมถือหุ้น บริษัทจำกัดนั้นสามารถทำกิจการอื่นนอกเหนือจากกิจการสาธารณูปโภคได้ด้วย (โดยยังต้องอยู่ในขอบเขตภารกิจหน้าที่ของเทศบาล)

2. เทศบาลมีอำนาจกระทำการ “นอกเขตเทศบาล” ได้หรือไม่?

คำตอบคือ ทำได้ โดยอ้างอิงตามมาตรา 57 ทวิ ว่ามีเงื่อนไข 3 ข้อ ดังนี้

2.1 จำเป็นต้องทำ และเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่ในเขตตน

2.2 ได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาล คณะกรรมการสุขาภิบาล สภาจังหวัด หรือสภาตำบลแห่งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

2.3 ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

3. แล้วเทศบาลมีภารกิจอะไรบ้าง?

คำตอบ ใน พ.ร.บ.เทศบาล [2] เขาพูดถึงหน้าที่หลัก 9 ข้อ และยังให้ทำกิจการอื่นในพื้นที่ของตนได้อีก 9 ข้อ

3.1 รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

3.2 ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ

3.3 รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

3.4 ป้องกันและระงับโรคติดต่อ

3.5 ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง

3.6 ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม

3.7 ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

3.8 บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

3.9 หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล

และยังมีรายชื่อกิจการอื่นที่ทำในพื้นที่ของตนได้อีก 9 ข้อ คือ

3.10 ให้มีน้ำสะอาดหรือน้ำประปา

3.11 ให้มีโรงฆ่าสัตว์

3.12 ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม

3.13 ให้มีสุสานและฌาปณสถาน

3.14 บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร

3.15 ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้

3.16 ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น

3.17 ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ

3.18 เทศพาณิชย์

นอกจากนี้ยังมี เทศบาลเมือง กับ เทศบาลนคร ซึ่งอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้นอีก ให้ดูตามรูปที่แนบครับ 

อนึ่ง เทศบาลตำบลจะเล็กสุด เทศบาลเมือง (มีประชากรมากกว่า 10,000 คน) กับ เทศบาลนคร (มีประชากรมากกว่า 50,000 คน)

4. ภารกิจหน้าที่เหล่านั้น นำมาอ้างถึงเพื่อทำโครงการสมาร์ตต่างๆ สำหรับเมืองอัจฉริยะได้หรือไม่ อย่างไร

คำตอบ ความเห็นส่วนตัว อ้างได้ครับ โดยนำเทคโนโลยี หรือ Smart Solution มาเป็นส่วนเสริมกับกิจการนั้นๆ ตามภารกิจ เช่น

4.1 ให้มีน้ำสะอาดหรือน้ำประปา (Smart Payment, Smart Meter)

4.2 ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น (Smart Lighting)

4.3 ป้องกันและระงับโรคติดต่อ (Smart Health)

4.4 ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม (Smart Classroom, e-Learning)

4.5 ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ (Smart Parking)

4.6 บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร (อันนี้กว้างมาก จัดให้มีบริการระบบขนส่งสาธารณะก็น่าจะได้ Smart Mobility)

4.7 รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน (ติด CCTV)

4.8 อื่นๆ

การพัฒนาเมืองสมาร์ตน่าอยู่ เน้นทำงานขยายผลจากเล็กไปใหญ่ เคลมความสำเร็จทีละน้อย ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ลองไอเดียและปรับแนวทาง ไม่ยึดติดแบบแผนการทำงานแบบเดิมๆ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความตั้งใจและภาคีความร่วมมือในพื้นที่ มีเทคโนโลยีเป็นเรื่องรอง แต่แนวทางแก้ปัญหาต้องตอบโจทย์จริง

มาถึงตรงนี้น่าจะกระจ่าง ทำได้ มีทางไป แชร์ให้เทศบาลได้ครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
  • [1] พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขถึงฉบับที่ 14 ประกาศ ณ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2562
  • [2] พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขถึงฉบับที่ 13 ประกาศ ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552