‘แพลตฟอร์มข้อมูลแห่งชาติเชิงปัญญาประดิษฐ์’ พา Supercomputer พันธุ์ไทย ไปสร้างอิมแพ็คใน APAC

Share

Loading

ดูแล้วปีนี้เป็นอีกปีแห่งการสร้างความร่วมมือ – จับมือ – ลงนาม เพื่อก่อเกิดหรือสรรค์สร้างสิ่งที่มีอิมแพ็คต่อสังคมวงกว้างด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ก็เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI, Big Data ดังที่ SALIKA นำเสนอไปก่อนหน้า นั่นคือ ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ 2 องค์กรเอกชน มาในบทความนี้ จะพาไปดูความร่วมมือด้าน AI ระหว่าง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กับองค์กรเอกชนเช่นกัน แต่รูปแบบและวัตถุประสงค์นั้นต่างไปจากกรณีก่อนหน้า

CMKL University & TCC Technology ร่วมผลักดัน ‘แพลตฟอร์มข้อมูลแห่งชาติเชิงปัญญาประดิษฐ์’

แพลตฟอร์มข้อมูลแห่งชาติเชิงปัญญาประดิษฐ์ เป็นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับงานวิจัยแห่งชาติด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ขับเคลื่อนด้วย โซลูชั่นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีพลังการประมวลผลขั้นสูง โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) และ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) องค์กรเอกชนชั้นนำที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานไอทีและโซลูชั่นด้านการประมวลผลขั้นสูง

ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุกที่เน้นให้ผู้เรียนมีศักยภาพสูงในการพัฒนาตนเองให้เข้ากับลักษณะงานทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีพผ่านการเรียนและฝึกฝนทักษะในสถานประกอบการจริง รวมทั้งศึกษาข้อมูลความต้องการบุคลากรทางด้านวิศวกรรม และความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ส่งผลให้มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลมีความโดดเด่นในด้าน การสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างเป็นระบบและการเตรียมบุคลากรด้านนี้ให้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการทำงานได้ทันที

รู้เพิ่มเกี่ยวกับ CMKL UNIVERSITY

มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI Technology ระดับอาเซียน ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (CMU) สถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก จากสหรัฐอเมริกา และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมของประเทศไทย

“เพื่อความยั่งยืนในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน AI ในอนาคต เราจึงได้ผนึกกำลังกับเหล่าพันธมิตร ทั้งระดับโลกและผู้ให้บริการภายในประเทศอย่าง ทีซีซี เทคโนโลยี เพื่อสร้างขีดความสามารถระดับชาติในการขับเคลื่อนพลังการประมวลผลของ APEX และทำความเข้าใจรูปแบบการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์” ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าว

อธิการบดีอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับ APEX ว่า ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (PMU-C) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (NXPO) ในการสร้างศักยภาพใหม่ให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ โดย APEX จะช่วยปลดล็อกศักยภาพขั้นสูงให้แพลตฟอร์มสามารถรองรับงานด้านปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และช่วยเร่งความเร็วในการวิเคราะห์ ซึ่งจะส่งผลให้เวลาในการทำตลาดสั้นลง

ศักยภาพ AI ที่มากขึ้น จะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้อย่างไร

เหตุที่มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลเปิดกว้างและสนับสนุนให้ภาคการศึกษากับภาคธุรกิจทำงานร่วมกันมากขึ้น ก็เพื่อผนึกกำลังให้สามารถใช้ประโยชน์จากพลัง AI ได้อย่างเต็มที่ สำหรับความร่วมมือกับทีซีซี เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลนำโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการของทีซีซีที่ครอบคลุมตั้งแต่ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบควบคุม ระบบเครือข่ายที่มีความปลอดภัยสูง ระบบประมวลผลและจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีการประมวลผลสมรรถนะสูงมาใช้ประโยชน์

ทั้งยังนำโซลูชั่นที่ครอบคลุมการใช้งานแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งรวมถึงในส่วนของบริการด้านการบริหารจัดการ และการติดตามตรวจสอบสถานะการเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายความเร็วสูง ที่เชื่อมโยงสู่ศูนย์การแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลางของประเทศไทยมาร่วมประยุกต์ใช้ด้วย

ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการ Carnegie Mellon-KMITL มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า

“ด้วยพลังการประมวลผลด้าน AI สูงถึง 30 เพตาฟลอปส์* APEX คลัสเตอรที่ติดตั้ง ณ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงพลังที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ โดยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะกลายเป็นแพลตฟอร์มแห่งชาติในการอำนวยความสะดวกด้านคอมพิวเตอร์ AI แบบรวมศูนย์ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้”

APEX ยังทำหน้าที่เป็น ‘ที่เก็บส่วนกลางสำหรับคลังข้อมูลปัญญาประดิษฐ์และชุดข้อมูลการวิจัย’ ที่รองรับจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI) และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (PMU-C) เพื่อเป้าหมายในการผลักดันให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของธุรกิจได้อย่างแท้จริง

“ด้วยความเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูล ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จสำหรับโครงการปัญญาประดิษฐ์ โดยการประมวลผลประสิทธิภาพสูง หมายความว่า สามารถทำงานได้มากขึ้นและมีโอกาสมากขึ้นสำหรับนักวิจัยในการเปลี่ยนแนวคิดการวิจัย AI ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ”  

*เพตาฟลอปส์ คือ หน่วย peta หรือ 10 ยกกำลัง 15 เทียบเท่ากับจำนวน พันล้านล้าน

Apex-Goliath โครงการสำคัญภายใต้กรอบเศรษฐกิจ BCG

เชื่อมโยงมาที่ Apex-Goliath โครงการจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เชื่อมโยงไปสู่ระบบโครงสร้างของ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) โดย Goliath เป็นแพลตฟอร์มที่ให้นักวิจัยทั่วประเทศใช้จัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมทั้งต่อยอดชุดข้อมูลผ่านการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้งานวิจัย

ในด้านการทำงานของแพลตฟอร์ม Goliath แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ

  1. การจัดเก็บข้อมูล (Open Data)
  2. การแลกเปลี่ยนชุดข้อมูล (Data Exchange)
  3. การประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High performance computing)

Apex-Goliath จึงถือเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญ จากการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตาม โมเดล BCG ซึ่งจะช่วยเร่งอัตราการสร้างมูลค่าเพิ่มจากชุดข้อมูลและเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมไปถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์และพลังงานชีวภาพในประเทศไทย

ใช้โซลูชันสร้าง ‘กองบัญชาการด้าน AI’ นำงานวิจัยมาสร้างประโยชน์ให้ APAC

ธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า การร่วมพัฒนา ‘แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการวิเคราะห์ AI ระดับชาติ’ ภายใต้แผนการขับเคลื่อน BCG ของประเทศ ถือได้ว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบก้าวกระโดด ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับ Value–Based และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

“ในฐานะพันธมิตรที่น่าเชื่อถือด้านโซลูชั่น เราพร้อมให้การสนับสนุน CMKL ในด้านระบบศูนย์กลางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เปรียบเป็นกองบัญชาการสำคัญของโครงการนำร่องด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการงานวิจัยในมุมของภาคการศึกษาและธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พิพิธ จริยวัฒนวิจิตร Deputy MD – Commercial and Operation บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด กล่าวต่อจากกรรมการผู้จัดการ

ความร่วมมือที่มาพร้อมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทรงประสิทธิภาพนี้ จะทำให้การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลรวดเร็วขึ้นแบบติดสปีด ผลักดันประเทศไทยไปสู่ก้าวสำคัญจากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการเร่งการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ในวงการวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

อีกไม่นาน อิมแพ็คหรือผลกระทบสำคัญจากโครงการด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ริเริ่มขึ้นนี้จะทวีความสำคัญอย่างมาก ประเด็นสำคัญคือ จะพัฒนาทักษะให้คนไทยก้าวทันเทคโนโลยีที่รุดหน้าแบบก้าวกระโดดได้อย่างไร

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/03/27/thailand-national-ai-supercomputing/