สัมภาษณ์พิเศษ: BM กดปุ่มสตาร์ททรานฟอร์มธุรกิจสู่นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

Share

Loading

ย่างเข้าสู่ 26 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้ง บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก แต่วันนี้กำลังเดินหน้าทรานฟอร์มด้วยการใช้นวัตกรรมต่อยอดธุรกิจเดิมเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มสตาร์ทด้วยการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า หวังเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมขนส่งมวลชนแห่งอนาคต ก่อนก้าวสู่สเต็ปถัดไปคือการผลักดันรายได้รวมเติบโตขึ้นเท่าตัวแตะ 2 พันล้านบาท

BM เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กด้วยกัน 6 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย

(1) รางและท่อร้อยสายไฟฟ้า

(2) ตู้สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า และตู้โลหะ

(3) ตู้ควบคุมไฟฟ้าและโคมไฟฟ้า

(4) โลหะเชื่อมประกอบ

(5) แม่พิมพ์โลหะ เครื่องมือ และอุปกรณ์

(6) ชิ้นส่วนโลหะ

เปิดตัว “มินิ ตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า” ภายใน Q2/64

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ BM เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทมีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2/64 สำหรับ “มินิ ตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า” (Mini EV Tuk-Tuk) เพื่อใช้เป็นพาหนะรับ-ส่งผู้โดยสารส่วนบุคคล ซึ่งล่าสุดได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากผู้สนใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการใช้พาหนะขนาดเล็กภายในโรงงาน หรือ ใช้สำหรับให้บริการภายใต้วัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การรับ-ส่งผู้โดยสารเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน

จุดเด่นของมินิ ตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า มีราคาที่จับต้องได้ไม่สูงเกินไป เริ่มต้นที่ 85,000 บาท/คัน โดยหากประชาชนทั่วไปสนใจซื้อใช้งานไม่ต้องจดทะเบียน แต่อาจจะต้องมี พ.ร.บ.คุ้มครองบุคคลที่ 3 ซึ่งบริษัทจะต้องหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อหารือความเป็นไปได้ โดยบริษัทเชื่อว่าโอกาสในการขยายตลาด มินิ ตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า จะมีมากขึ้น เบื้องต้นตั้งเป้าหมายการผลิตเริ่มต้นที่ปีละ 300-400 คัน

“แม้ว่าวันนี้เรายังไม่คาดหวังว่าจะเติบโตจากธุรกิจตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ทีมงานเราก็ตั้งเป้า 1,500 คัน แต่จากประสบการณ์จากการทำธุรกิจยอดขายจะเข้ามาเองแน่นอน เพราะมีราคาที่ดี ตามสโลแกนเราคือ “สวย ถูก ทน” ขายไม่ได้ให้รู้ไป

ขณะที่บริษัทไม่ได้ยึดว่าจะต้องแข่งขันอย่างเดียว แต่ต้องการคู่ค้าเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้วย ดังนั้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทจะเป็นผู้ผลิตลักษณะ OEM ให้กับยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่นด้วยก็ได้ในอนาคต ถึงเวลานั้นคงไม่ต้องพูดถึงเป้าแค่ 1,500 คันแล้ว จะเติบโตไปมากกว่านั้นแน่นอน

ส่วนกลุ่มลูกค้าบริษัทมีแนวทางขยายเข้าสู่การเคลื่อนย้ายมวลชนจากที่อยู่อาศัยไปยังจุดต่างๆ ของสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น หลังจากประสำความเร็จการขยายตลาดแล้ว เชื่อว่าจะมีกลุ่มทุนเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจ”

นายธีรวัต กล่าว

ปี 64 เป้ารายได้โต 20% ชูกลยุทธ์คุมต้นทุนรับราคาเหล็กพุ่ง

สำหรับแผนปี 64 บริษัทวางเป้ารายได้จะเติบโต 20% มาที่ 1,218 ล้านบาท เป็นผลมาจากยอดขายสินค้า 6 กลุ่มหลัก โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ากลุ่มผู้รับเหมาฯกว่า 100 บริษัทเป็นลูกค้าประจำที่สร้างรายได้เฉลี่ย 500-600 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้รวม ที่เหลือเป็นการผลิตและจำหน่ายกับกลุ่ม B2B กลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้รวม ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมอัพไซด์จากธุรกิจใหม่ เช่น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และสินค้าใหม่ที่จะขยายเข้าสู่ภาคครัวเรือน

แม้ว่าราคาเหล็กที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่บริษัทปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มยอดขายสินค้า หลังจากลงทุนระบบออโตเมชั่นยกระดับประสิทธิภาพกำลังการผลิตเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่มีสัญญาเป็นโปรเจ็กต์ ทำให้เมื่อสิ้นสุดแต่ละโปรเจ็คต์ก็สามารถปรับขึ้นราคาขายได้ตามต้นทุน

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตใหม่บนที่ดิน 25 ไร่ เพื่อขออนุญาตเป็นเขตปลอดอากร (Free zone) รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท กรณีราคาวัตถุดิบในประเทศมีความผันผวนบริษัทก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตสินค้าเพื่อส่งออก 100% ทำให้บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะรักษาอัตรากำไรได้ดีระยะยาว

Step แรกขอแตะ 1.5 พันลบ.ใน 3-5 ปีก่อนเดินหน้าสู่ 2 พันลบ.

นายธีรวัต กล่าวต่อว่า แม้ว่าปีนี้บริษัทจะวางเป้าหมายรายได้จะเติบโตประมาณ 20% อยู่ที่ 1,218 ล้านบาท แต่สเต็ปแรกตามแผน 3-5 ปีข้างหน้าบริษัทมีเป้าหมายผลักดันรายได้แตะ 1,500 ล้านบาท หากดำเนินการสำเร็จก็มีเป้าหมายต่อไปคือรายได้จะต้องขึ้นไปแตะ 2 พันล้านบาท หรือเติบโตเท่าตัวเมื่อเทียบกับผลประกอบการปี 63 โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อบริษัทดำเนินการตามแผนขยายธุรกิจใหม่ๆ สำเร็จก็จะเริ่มเห็นความชัดเจนการเติบโตรอบใหม่ของบริษัทอย่างแน่นอน

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้รวม 281.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.76 ล้านบาท หรือเติบโต 27.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 13.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.52 ล้านบาท หรือเติบโต 22.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากยอดขายที่ปรับเพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าได้ดี ส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรในไตรมาสนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมตินำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติการออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (วอร์แรนท์) ครั้งที่ 2 (BM-W2) จำนวน 146,666,708 หุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิราคาใช้สิทธิ 1 บาทต่อหุ้นอัตราการใช้สิทธิ 1:1 โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิในวันที่ 28 พ.ค.นี้

แหล่งข้อมูล

https://www.infoquest.co.th/2021/91061