ก.ย. นี้ประมูลรถไฟฟ้าม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” 1 แสนล้าน

Share

Loading

  • มั่นใจไร้ปัญหาไม่ประกวดราคาประหลาดๆเหมือนสีส้ม
  • ยึดวิธีเดียวกับสายสีน้ำเงิน/เขียว/สีม่วง-ส้มตะวันออก
  • ไทม์ไลน์เริ่มก่อสร้างก.ย.ปีหน้า/เปิดบริการธ.ค.2570
  • วิ่งฉิวลอดเจ้าพระยาเชื่อมกทม.-ฝั่งธน-สมุทรปราการ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 1.01 แสนล้านบาทว่า  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างเร่งสำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวสายทางโครงการฯ และจัดทำร่างเอกสารรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โดย รฟม. ตั้งเป้าหมายเปิดประมูลภายในเดือน ก.ย.64 ได้ผู้ชนะการประมูลต้นปี 65 และเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ย.65 เปิดให้บริการเดือน ธ.ค.70

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งต่อว่า เบื้องต้น รฟม. จะเปิดประมูลงานโยธาด้วยวิธีประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฯ ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่, โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี 

จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  ที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตกติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถ และบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง(รวมช่วงตะวันออกมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม) ที่รฟม.ก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 81% เป็นเวลา 30 ปี  (ประมูลตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งอีกว่า ส่วนงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า และบำรุงรักษา คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในรูปแบบ PPP Gross cost (จ้างเดินรถ) ระยะเวลา 30 ปี เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในเวลานี้ยังไม่มีปัญหาใดที่จะเป็นอุปสรรคให้การเดินหน้าโครงการต้องหยุดชะงักลง สำหรับเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้น อยู่ระหว่างทยอยดำเนินการยังไม่พบปัญหาอุปสรรค ทั้งนี้ตามหลักกฎหมายด้านการเวนคืนที่ดิน ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนบริเวณพื้นที่ในโครงการอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ และพิจารณาค่าทดแทน โดยโครงการนี้มีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.59 หมื่นล้านบาท มีการเวนคืนที่ดิน 410 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลัง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทาง 23.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี มีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง และอาคารจอดรถไฟฟ้า โดยเป็นโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ

แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งไปตามถนนสาย ง 8 เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ  จากนั้นลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ  เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศฯ ผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดาฯ  เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ และเปลี่ยนเป็นทางยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกประชาอุทิศ สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/logistics.development.thailand.forum/posts/3156338984593447