“มัลดีลฟ์” ประเทศหมู่เกาะปะการังในมหาสมุทรอินดียที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 28% ของจีดีพี กำลังเตรียมผุดเมกะโปรเจคท์หนี Climate Change ที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของประเทศนี้ ด้วยการใช้นวัตกรรมสร้าง “เมืองลอยน้ำ”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันว่าเหตุใดมัลดีฟส์ถึงตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก ข้อมูลล่าสุดจาก NASA Earth Observatory ระบุว่าด้วยเกาะปะการังมากกว่า 80% ของ 1,190 เกาะปะการัง ทั้งหมดของประเทศนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่ถึง 1 เมตร!!! และโดยรวมอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1.5 เมตรเท่านั้น มัลดีฟส์จึงเป็นประเทศที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดของโลก จุดที่สูงที่สุดของประเทศเหนือจากน้ำทะเลแค่ 2.3 เมตรเท่านั้นเอง ที่ผ่านมามีการอพยพประชากรหนีจากเกาะที่ถูกน้ำทะเลกล้ำกรายที่อยู่อาศัยมาแล้ว ปัจจุบันมีราว 200 เกาะเท่านั้นที่ตั้งถิ่นฐานได้
ขณะที่ สภาพอากาศของประเทศมีลักษณะเป็น “มรสุมเขตร้อน” โดยจะมีมรสุมเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อหมู่เกาะปะการังขนาดเล็กแห่งนี้ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังคุกคามแหล่งน้ำจืดที่หายากอยู่แล้วของมัลดีฟส์ให้เข้าใกล้วิกฤตขึ้นไปอีก
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลโดยเฉพาะด้วยระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 3-4 มิลลิเมตรต่อปี และอัตราดังกล่าวคาดว่าจะสูงขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า การศึกษาชิ้นหนึ่งสรุปได้ว่าเกาะที่มีพื้นที่ต่ำอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในปี 2593 เนื่องจากน้ำท่วมที่เกิดจากคลื่นกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นและน้ำจืดจะมีจำกัด คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change:IPCC) คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณครึ่งเมตรภายในปี 2643 แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างรวดเร็วก็ตาม หรือเพิ่มขึ้นถึง 1 เมตร หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่รัฐบาลมัลดีฟส์ได้วางแผนที่จะซื้อที่ดินบนพื้นที่สูงในประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเป็นการการันตีว่าผืนแผ่นเดินของมัลดีฟส์จะไม่ถูกทะเลกลืนกินจนหมดสิ้น แต่ขณะเดียวกันก็กำลังดำเนินการอื่นควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของหมู่เกาะในปัจจุบันของประเทศ ตัวอย่างหนึ่งคือ Hulhumalé ซึ่งเป็นเกาะเทียมที่สร้างขึ้นใหม่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง
มัลดีฟส์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2540
มัลดีฟส์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2563
ภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ด้านบนแสดงให้เห็นว่าพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดระหว่างปี 2540 ถึง 2563 การก่อสร้างเกาะที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาความแออัดในมาเลซึ่งเป็นเมืองหลวง เริ่มขึ้นในปี 1997 ในทะเลสาบใกล้สนามบิน ตั้งแต่นั้นมาเกาะที่สร้างใหม่แห่งนี้ก็เติบโตขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร และกลายเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของมัลดีฟส์ ประชากรของฮูลฮุมาเลเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน โดยคาดว่าในอนาคตจะมีประชากรอีก 200,000 คนจะย้ายไปอาศัยอยู่ที่นั่นในที่สุด
เกาะแห่งใหม่นี้สร้างขึ้นโดยการสูบทรายจากพื้นทะเลลงบนแท่นปะการังที่จมอยู่ใต้น้ำ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2 เมตร สูงกว่ามาเล เมืองหลวงประมาณ 2 เท่า ความสูงที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกาะนี้เป็นที่หลบภัยของชาวมัลดีฟส์ที่จำใจจะต้องหนีออกจากเกาะที่อยู่ต่ำกว่าเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลือกสำหรับการอพยพในช่วงพายุไต้ฝุ่นและคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ในอนาคต
กระนั้น Hulhumalé ไม่ใช่เกาะเดียวในมัลดีฟส์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นนี้ เพราะโครงการถมทะเลได้ขยายพื้นที่เกาะปะการังอื่นๆ หลายแห่งในลักษณะเดียวกันในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ Thilafushi ที่กลายเป็นหลุมฝังกลบขยะที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นที่ตั้งสำหรับการเผาขยะด้วย ส่วน Gulhifalhuea ก็เป็นที่ตั้งของโครงการถมทะเลอีกแห่งที่กำลังเปิดพื้นที่สำหรับการผลิตและอุตสาหกรรมแห่งใหม่
อย่างไรก็ตาม ในข่าวร้ายยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อพบว่ากระบวนการทางธรรมชาติบนปะการัง อาจทำให้หมู่เกาะนี้ทนต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลได้มากกว่าที่ระดับความสูงที่กล่าวมา การศึกษาหลายชิ้นจากการสังเกตของ Landsat แสดงให้เห็นว่าเกาะปะการังส่วนใหญ่ในมัลดีฟส์และที่อื่นๆ ยังคงมีเสถียรภาพหรือขยายตัวใหญ่ขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ณ ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาว่าเป็นเพราะสาเหตุใด แต่งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าพายุและน้ำท่วมที่พัดผ่านเกาะต่างๆ สามารถเคลื่อนตะกอนนอกชายฝั่งขึ้นสู่พื้นผิวเกาะได้ และสร้างเกาะขึ้นมาในกระบวนการนี้ ส่วนงานวิจัยอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าแนวปะการังที่แข็งแรง สามารถเติบโตขึ้นได้ แม้ว่าน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น
“สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือเกาะเหล่านี้ไม่ได้อยู่นิ่ง ไม่่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนกับการที่เรานั่งอยู่ในอ่างอาบน้ำและค่อยๆ ทิ้งตัวจมลงไป” Murray Ford นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์กล่าว “พวกมันถูกปรับรูปร่างใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการทางสมุทรศาสตร์และการทับถมของตะกอน”
สุดท้ายแล้ว เขาชี้ว่ากระบวนการทางธรรมชาติเหล่านี้อาจให้การป้องกันที่จำกัด โดยเฉพาะกับเกาะที่พัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสร้างกำแพงทะเล ได้ขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอน และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์มักทำให้สุขภาพของแนวปะการังเสื่อมโทรม สำหรับเกาะที่ไม่มีผู้คนอาศัยหรือมีประชากรเบาบาง ควรใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้รบกวนความสามารถตามธรรมชาติของเกาะ ในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล
เพื่อรับมือกับภัยคุกคามของ Climate Change ทำให้มัลดีฟส์ ประเทศที่มีพื้นที่เพียง 300 ตารางกิโลเมตร (ไทย 513,120 ตารางกิโลเมตร) กำลังสร้างเมืองลอยน้ำ โดยคาดว่านวัตกรรมที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ และเป็นโครงการนำร่องที่ทำให้ชาวมัลดีฟส์ที่มีอยู่กว่า 540,544 คน สามารถใช้ชีวิตอยู่เหนือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทุกคน
เมืองลอยน้ำของมัลดีฟส์ภายใต้ชื่อ Maldives Floating City (MFC) ได้รับการออกแบบโดยบริษัทเนเธอร์แลนด์นามว่า Dutch Docklands โดยรังสรรค์ให้มีที่พักอาศัยริมน้ำและบริการต่างๆ นับพันล่องลอยไปตามกริดที่ยืดหยุ่นและใช้งานได้บนทะเลสาบขนาด 200 เฮกตาร์ (2 ตารางกิโลเมตร)
ต้องใช้การออกแบบที่ยั่งยืน
Island City แห่งแรกของโลกในรูปแบบนี้ ได้รับการพัฒนาโดยรัฐบาลมัลดีฟส์ ตั้งอยู่ในทะเลสาบน้ำอุ่น ใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาที โดยเรือจากเมืองหลวงมาเล่ และท่าอากาศยานนานาชาติเวลานา โดย Dutch Docklands ซึ่งทำงานร่วมกับ Waterstudio บริษัทด้านการวางผังเมืองและสถาปัตยกรรม เพื่อสร้างโครงข่ายเมืองลอยน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศหมู่เกาะปะการังนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่า มัลดีฟส์เจริญรุ่งเรืองในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแนวปะการังเดียวกันนี้ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดและทริปท่องเที่ยวในฝันของคนทั่วโลก ยังเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาโครงการนี้ด้วย ชาวมัลดีฟส์จะหวนคืนสู่ผืนน้ำ ด้วยโครงการเมืองลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมืองนี้มีโครงสร้างตามธรรมชาติของถนน และลำคลอง ซึ่งคล้ายกับรูปลักษณ์ของปะการังสมอง (Brain coral) ที่สวยงามและมีประสิทธิภาพ พื้นที่ลอยน้ำรูปหกเหลี่ยมบางส่วนจำลองมาจากรูปทรงเรขาคณิตที่โดดเด่นของปะการังในท้องถิ่น เชื่อมต่อกับวงแหวนของเกาะปะการังต่างๆ ที่โอบล้อมอยู่ ทำหน้าที่เป็นเบรกเกอร์ใต้น้ำ จึงช่วยลดผลกระทบของคลื่นและทำให้เกิดโครงสร้างที่มั่นคงบนพื้นผิวได้
ด้วยการออกแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การเรียนรู้ที่จะปรับปรุง และเคารพปะการังธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงการนี้ ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของมัลดีฟส์ในการเป็นศูนย์กลางในการปกป้องปะการังโลก
“เมืองลอยน้ำในมัลดีฟส์ไม่จำเป็นต้องมีการถมทะเล ดังนั้นจึงส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อแนวปะการัง” Mohamed Nasheed อดีตประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ประธานรัฐสภาและ Ambassador for Ambition ของ Climate Vulnerable Forum (CVF) “ยิ่งไปกว่านั้นแนวปะการังขนาดยักษ์จะเติบโตขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวสะกัดคลื่น จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของเราให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องไม่ทำลายธรรมชาติ แต่ต้องทำงานร่วมกับมัน”
“ที่มัลดีฟส์เราไม่สามารถหยุดคลื่นไม่ให้ซัดซาดได้ แต่เราสามารถลอยละลองอยู่เหนือมันได้”
ชาวมัลดีฟส์จะหวนคืนสู่ผืนน้ำ ด้วยโครงการเมืองลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมืองนี้มีโครงสร้างตามธรรมชาติของถนน และคลอง ซึ่งคล้ายกับรูปลักษณ์ของปะการังสมอง (Brain coral) ที่สวยงามและมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยการเรียนรู้ที่จะปรับปรุง และเคารพปะการังซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงการนี้
MFC จึงไม่ใช่แค่เมืองลอยน้ำเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของมัลดีฟส์ในการเป็นศูนย์กลางในการปกป้องปะการังโลกอีกด้วย
สร้างบ้านราคาไม่แพง (มาก)
การเดินเรือในอดีตของหมู่เกาะปะการังแห่งนี้ ยังมีอิทธิพลต่อการออกแบบอาคาร ซึ่งทั้งหมดจะเป็นแนวราบและหันหน้าออกสู่ทะเล เครือข่ายสะพาน คลองและท่าเทียบเรือ จะช่วยให้เข้าถึงส่วนต่างๆ และเชื่อมต่อร้านค้า บ้านเรือนและบริการเรือข้ามฝาก
การก่อสร้างมีกำหนดจะเริ่มขึ้นในปี 2565 และการพัฒนาจะแล้วเสร็จเป็นระยะๆ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในที่สุดตามแผนการนี้ก็จะมีการสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน เพื่อทำให้เกิดเป็นเมืองอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันพลังงานหมุนเวียนจะขับเคลื่อนเมืองผ่านสมาร์ทกริด ส่วนบ้านจะมีราคาเริ่มต้นที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7,841,493 บาท) เพื่อดึงดูดผู้ซื้อที่หลากหลาย รวมถึงชาวประมงในพื้นที่ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่าบ้านมานานหลายศตวรรษ
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารโลกระบุว่า เมื่อปี 2019 มัลดีฟส์มี GDP per Capita อยู่ที่ 10,626.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 333,354 บาท) เมื่อเทียบกับไทย ที่มีตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 7,806.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 244,896 บาท)
ภารกิจปกป้องชีวิตริมชายฝั่ง จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หน่วยงานเฉพาะของสหประชาชาติ ที่รับผิดชอบในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์บรรยากาศ (Aulacodes caepiosalis) ภูมิอากาศ อุทกวิทยา และธรณีฟิสิกส์ เตือนว่ามหาสมุทรกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
จากการที่ประมาณ 40% ของประชากรทั่วโลก อาศัยอยู่ไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ศาสตราจารย์ Petteri Taalas เลขาธิการ WMO กล่าวว่า นี่คือ “ความจำเป็นเร่งด่วน” ในการปกป้องชุมชนจากอันตรายที่เกิดขึ้นตามชายฝั่ง เช่น คลื่นซัดพายุซัดฝั่ง และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ผ่านระบบเตือนภัยหลายจุด และการคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ประเทศหมู่เกาะปะการัง มีความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นเกาะ โดยมีมัลดีฟส์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกันกับคิริบาส ตูวาลู และหมู่เกาะมาร์แชลล์ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
ด้วย “KingTide” หรือ กระแสน้ำขนาดใหญ่ที่สูงเป็นพิเศษ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดและอยู่ในแนวเดียวกัน ก็จะก่อตัวขึ้นฝั่ง มีพลานุภาพในการกวาดล้างสรรพสิ่งบนเกาะให้ราบคาบเป็นหน้ากอง ไหนจะพายุที่โหมกระหน่ำและรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ…เหล่านี้คือสัญญาณแห่งหายนะ
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวในมัลดีฟส์ หลังจากที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มต้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนมกราคม 2563 นักท่องเที่ยวก็ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 และหายวับไปในพริบตาในไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว เนื่องจากมัลดีฟส์ปิดพรมแดนในวันที่ 27 มีนาคม เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจึงหดตัวลง 55.6% ในครึ่งปีแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดย “แขกแก้ว” ที่มาเยือนมัลดีฟส์ส่วนใหญ่มาจีน 162,538 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางไปเยือนมัลดีลฟ์ทั้งหมด 2,280,131 คน ในปี 2563 ส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเยือน “The last paradise on Earth” มีจำนวน 39,916 คน
ที่มา :
Preparing for Rising Seas in the Maldives
Threatened by rising sea levels, the Maldives is building a floating city
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/05/20/maldives-floating-city-climate-change-innovation/