“CleanTech” เนื้อหอม ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

Share

Loading

CleanTech กำลังมาแรง และเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก ล่าสุด Generate Capital สตาร์ทอัพด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน เพิ่งระดมทุนได้ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น ทำให้การลงทุนล่วงหน้าที่มักมีค่าใช้จ่ายสูงในโครงการที่ยั่งยืนต่างๆ ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงเครื่องย่อยเศษอาหาร แล้วขายบริการดังกล่าวให้กับบริษัทอื่นๆ มีเส้นทางธุรกิจที่สดใส ทั้งยังขานรับเทรนด์ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่กำลังมาแรง

Generate Capital ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่แนวโน้มการลงทุน 2 ประการ กำลังร้อนแรง นั่นคือ “พลังงานสะอาด” และ “โครงสร้างพื้นฐาน” โดยนำทั้งความรู้ด้านเงินทุนและการดำเนินงาน แปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์มากกว่า 2,000 แห่งที่สตาร์ทอัพรายนี้เป็นเจ้าของทั่วโลก แพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนนี้ นำเสนอโซลูชันทรัพยากรที่เชื่อถือได้และราคาไม่แพง แก่เมือง ชุมชน บริษัทต่างๆ ตลอดจนสถานศึกษา ก่อตั้งโดย ซึ่งมีวิสัยทัศน์ชั้นนำในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ดำเนินการและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรที่ยั่งยืน 

เห็นได้ชัดโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ผ่านมาได้รับการขับเคลื่อนโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และมีการวางแผนจากส่วนกลาง มากกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

นี่คือช่องว่างและโอกาสทางการตลาดของ Generate Capital

ล่าสุดสตาร์ทอัพในซานฟรานซิสโกรายนี้กำลังเนื้อหอม เพราะเพิ่งประกาศความสำเร็จครั้งล่าสุดจากการระดมทุนครั้งใหม่มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 65,703 ล้านบาท) เป็นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังการระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 32,845 ล้านบาท) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้งบดุลของบริษัทฯ อยู่ที่ประมาณ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 328,475 พันล้านบาท) โดยผู้สนับสนุนเงินทุนนี้มีกองทุนบำเหน็จบำนาญจากออสเตรเลีย สวีเดน และสหราชอาณาจักรด้วย

“เราประสบความสำเร็จอย่างมากในการดึงดูดนักลงทุนสถาบัน เพราะนี่เป็นโปรไฟล์ผลตอบแทนการลงทุนที่น่าสนใจมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ดำเนินการ” Scott Jacobs ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Generate Capital ให้รายละเอียด

ที่ผ่านมา Generate Captial ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและผู้พัฒนาโครงการประมาณ 40 แห่ง โดยจัดหาเงินทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีสะอาดอื่นๆ แล้วขายบริการให้กับลูกค้า เช่น ผู้ค้าปลีก ธนาคาร หรือชุมชน

“ลูกค้าอยากจะกรีน แต่อุปสรรคในการปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งลูกค้าต้องการ อย่างแรกและสำคัญที่สุด ลูกค้าไม่ต้องการจ่ายเงินด้วยเช็คล่วงหน้าก้อนโต และประการที่สอง ลูกค้าไม่ต้องการดำเนินการเอง เพราะส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้จัดการโรงไฟฟ้าเราในฐานะแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืน เป็นบริการคล้ายกับซอฟต์แวร์ จึงตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวของลูกค้าได้”

Jacobs ยกตัวอย่างโครงการหนึ่งที่บริษัทเขาได้ร่วมมือกับ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อจัดหารถโดยสารไฟฟ้าให้กับลูกค้า เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัทเฟซบุ๊ก เป็นต้น

“ลูกค้าต้องการลดมลพิษ แต่ไม่ต้องการซื้อรถโดยสาร หรือไม่ต้องการสร้างและจัดการสถานีชาร์จ แต่พวกเขาจ่ายให้กับเรา ซึ่งทำให้ความต้องการเหล่านั้นของลูกค้าเกิดขึ้นได้” อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ร่วมมือกับสตาร์บัคส์เพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์ชุมชนในนิวยอร์ก เพื่อจัดหาพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับร้านค้าในท้องถิ่นและพื้นที่โดยรอบ

นอกจากนี้ Generate Capital ยังทำงานร่วมกับเขตการศึกษาขนาดใหญ่ในรัฐฟลอริดาเพื่อเพิ่มระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ และระบบอื่นๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน “เขตฯ ไม่จ่ายค่าอัพเกรด แต่จ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือนให้กับเรา ซึ่งต่ำกว่าที่เคยจ่ายค่าสาธารณูปโภคในท้องถิ่น และที่วอลมาร์ท เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อแทนที่รถยกดีเซลในโกดังสินค้าด้วยอุปกรณ์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ซึ่งทำงานบนเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ส่วนที่โชบานิ (ผู้ผลิตโยเกิร์ต) และเนสเล่ท์ เราจะนำเศษอาหารและดำเนินการผ่านระบบย่อยแบบไม่ใช้ออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานสะอาดและปุ๋ย”

แม้ว่าการทำงานในหลายๆ ด้านจะซับซ้อนอย่างเห็นได้ชัด แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีประเภทเดียว แต่ Jacobs ให้เหตุผลว่า ลูกค้าต้องการโซลูชั่นที่หลากหลายพร้อมๆ กัน เนื่องจากโซลูชั่นต่างๆ ทำงานร่วมกัน การทำงานกับระบบโดยรวมจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เช่น หากร้านค้าปลีกในเครือจะติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ควรเริ่มต้นด้วยการติดตั้งไฟส่องสว่างใหม่ และดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ก่อนที่จะคำนวณจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ที่จะติดตั้งบนหลังคา เป็นต้น

ทั้งนี้ เงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่บริษัทเพิ่งระดมทุนจากนักลงทุนสถาบัน จะนำไปใช้ในการลงทุนระยะยาว

สำหรับภาพรวมการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก พบว่า ในปี 2562 การลงทุนใหม่ทั้งหมดในด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 302 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2%  โดยจำนวนเงินทุนที่จัดหาให้สำหรับพลังงานสะอาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2547 การลงทุนด้านพลังงานสะอาดมีมูลค่ารวมต่ำกว่า 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,215 พันล้านบาท) และเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 331 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10,873 พันล้านบาท) ในปี 2560

เงินลงทุนด้านนี้ที่เพิ่มขึ้นมหาศาลบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาดเติบโตขึ้นอย่างมาก การสนับสนุนนโยบายสำหรับแหล่งพลังงานหมุนเวียน และการเกิดขึ้นของทั้งสตาร์ทอัพ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของสินทรัพย์พลังงานหมุนเวียน ได้ผลักดันให้การลงทุนด้านพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยจากที่ Statista ได้รวบรวมข้อมูลสถิติในเรื่องนี้ พบว่าจีนมีการลงทุนในด้านพลังงานสะอาดสูงที่สุดในโลก ในปี 2563 จีนทุ่มเงินจำนวน 83.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2,739.5 พันล้านบาท) ในการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีการลงทุนด้านพลังงานสะอาดสูงเป็นอันดับ 2 และ 3 ในปีนั้น ด้วยเม็ดเงินลงทุน 55.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,823 พันล้านบาท) และ 16.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (ราว 542 พันล้านบาท) ตามลำดับ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในการสำรวจนี้ (อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ชิลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เม็กซิโก สวีเดน ยูเครน และอาร์เจนตินา) ได้ใช้จ่ายเงินลงทุนรวมกัน 219.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7.200 พันล้านบาท) ในเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก โดย 3 ประเทศแรกนี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 71% ของการลงทุนด้านพลังงานสีเขียวทั้งหมด

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/07/19/cleantech-generate-capital-sdgs/