เป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี สำหรับโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้มีการการขออนุญาตถมทะเล 1,000 ไร่ ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) ผ่านเวทีประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย ตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมแสดงตัวชี้วัดให้ชาวบ้านในพื้นที่มั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในอนาคต
สำหรับผู้ชนะการประมูลก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์ ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท. (จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ทุนจดทะเบียน 3,500 ล้านบาท PTT Tank ถือหุ้น 30% GULF ถือหุ้น 70%) โดยการประมูลเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2562 แต่แผนการตอกเสาเข็มสตาร์ทโครงการยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มต้นได้เมื่อไหร่ จนล่าสุดได้รับคำยืนยันจาก วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือน ก.ค. 64 แน่นอน
โดยในส่วนของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) กนอ. ชี้แจงว่าได้มีการทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนเริ่มดำเนินงาน ประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน ผู้แทนชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลตำบลบ้านฉาง เทศบาลเมืองบ้านฉาง เทศบาลตำบลเนินพระ ผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากสถานประกอบการข้างเคียง ผู้แทนบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด รวมทั้งสื่อมวลชนท้องถิ่น ถึงผลกระทบทั้งจากในระยะที่กำลังมีการก่อสร้าง และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สอบถามถึงข้อกังวลในด้านต่างๆ ซึ่งทาง กนอ.และเอกชนคู่สัญญารับที่จะพิจารณาในส่วนของรายละเอียดต่างๆ อีกครั้ง เพื่อให้ครอบคลุม และเป็นไปตามที่ EHIA ได้กำหนดไว้
ปัจจุบันท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ถือเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย เป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย เนื่องจากการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ท่าเรือ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอนดิน 450 ไร่ แผนการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน งานขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือความลึก 16 เมตร งานระบบสาธารณูปโภค งานอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ส่วนที่ 2 เป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร ท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ 150 ไร่
เป้าหมายหลักของการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การขยายพื้นที่ของท่าเรือฯ เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนนโยบายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) รวมทั้งมีคลังและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับ LNG มีความได้เปรียบด้านความต้องการใช้ LNG ในประเทศที่มีปริมาณสูง โดยคาดว่าหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าด้านปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีกมากกว่า 15 ล้านตันต่อปี
ก้าวสู่ LNG Hub แห่งภูมิภาคอาเซียน
แหล่งข้อมูล