ดีป้า เดินหน้าเสริมแกร่งเอสเอ็มอี ร้านค้า ชุมชน เกษตรกร ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับธุรกิจ เตรียมความพร้อมรับชีวิตวิถีใหม่ หลังโควิด-19 คลี่คลาย

Share

Loading

16 สิงหาคม 2564, กรุงเทพมหานคร – ดีป้า เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้า ชุมชนในชนบท และเกษตรกร เร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับธุรกิจ เตรียมความพร้อมรับชีวิตวิถีใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย ผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และคูปองดิจิทัล คาดช่วยสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมกว่า 5,200 ล้านบาท

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตามที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมาย ดีป้า เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้า ชุมชนในชนบท ตลอดจนเกษตรกร สามารถเข้าถึงและเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับบริบทของตนเองจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เชื่อถือได้ เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ และยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เตรียมความพร้อมรองรับชีวิตวิถีใหม่ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายนั้น

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนจึงได้มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ โดยเป็นมติเห็นชอบเพิ่มเติมจากโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมครั้งก่อนหน้าแล้ว 150 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Digital Platform 2 โครงการ และโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR และ Digital Contents 1 โครงการ ซึ่งประเมินว่าจะทำให้เกิดการลงทุนเฉลี่ย 3.96 แสนบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนคูปองดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 10 โครงการ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก หอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ หอการค้าจังหวัดตราด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สมาคมนักวิจัยชายแดนใต้ และสมาคมส่งเสริมดิจิทัลเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการต่าง ๆ จะช่วยผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวม 625 รายในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าและบริการ ธุรกิจการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Smart Living ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจอาหารแปรรูป ตลอดจนชุมชนในชนบท และเกษตรกรรายย่อย อีกทั้งช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ให้บริการดิจิทัลกว่า 6 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท จำนวน 8 โครงการ ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวน 5 โครงการ และจังหวัดหนองคาย จำนวน 3 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ด้านการเกษตรและปศุสัตว์อัจฉริยะ จำนวน 5 โครงการ และโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร จำนวน 3 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในชนบทให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนไปแล้ว 69 ชุมชน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 65 ชุมชนทั่วประเทศในปีนี้

“โครงการที่กล่าวมาทั้งหมดจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 5,200 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้า ชุมชนในชนบท ตลอดจนเกษตรกร สามารถฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างมั่นคง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของภาคประชาชน โดยการดำเนินงานของ ดีป้า มุ่งเน้นให้คนไทย ‘think faster and live better’ พร้อมเดินหน้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในที่สุด” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

แหล่งข้อมูล

https://www.depa.or.th/th/article-view/20210816_01