จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 เราจะเห็นได้ว่า จำนวนของคนไข้ที่ต้องการเข้าสู่บริการด้านสาธารณสุขมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการเข้าถึงบริการในแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลานาน รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามที่ตนเองได้รับสิทธิ เพราะมีประวัติการรักษาอยู่แล้ว ทำให้ในกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลอื่นอย่างเร่งด่วน แพทย์ไม่สามารถทราบประวัติของคนไข้ได้ เพราะระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลประชาชนได้ครบถ้วนทุกมิติ
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ธนาคารกรุงไทย แพทยสภา และกรมการปกครอง จึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบ Health Link ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของคนไข้จากหลากหลายโรงพยาบาลไว้ในแหล่งเดียว ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลคนไข้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
บทบาทสำคัญในอนาคต
ระบบ Health Link จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนของการบริหารจัดการข้อมูลประวัติคนไข้ของประเทศไทย ให้มีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน และเข้าถึงได้ง่าย ทำให้แพทย์สามารถค้นหาข้อมูลประวัติคนไข้ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือหมดสติ ซึ่งความรวดเร็วในการสืบค้นข้อมูลประวัติคนไข้ จะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที เช่น ตรวจสอบได้ว่ามีประวัติแพ้ยาหรือไม่ ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากกระบวนการรักษา
โดยสามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งคนไข้เป็นผู้กำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตนเอง จึงไม่ได้แปลว่าแพทย์ทุกคนดูข้อมูลสุขภาพของคนไข้เมื่อไหร่ก็ได้ และการเรียกดูข้อมูลต้องเป็นแพทย์ภายในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ มีชื่อในระบบแพทยสภาเท่านั้น หากมีการใช้ข้อมูลที่ผิดปกติ สามารถแจ้งให้ระบบระงับบัญชีของแพทย์ได้ทันที
ซึ่งระบบ Health Link จะตั้งอยู่บนคลาวด์ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 27001 ใช้มาตรฐานข้อมูล Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จากองค์กร Health Level Seven (HL7) International ซึ่งเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกได้รับการอัพเดทอยู่อย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานรัฐบาลหลายประเทศนำไปใช้เช่น Centers for Medicare & Medicaid Services (CMS) ของสหรัฐอเมริกา
โดยชุดข้อมูลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ข้อมูลที่ระบุตัวตน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน กับอีกส่วนหนึ่งจะเป็นข้อมูลด้านสุขภาพ โดยชุดข้อมูลทั้งสองส่วนนี้จะต้องนำมาเข้ารหัสผ่านขั้นตอนที่ถูกต้อง เพื่อประกอบกันที่ปลายทางเมื่อแพทย์ต้องการดูข้อมูล ดังนั้น จะไม่มีใครสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้หากไม่ผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้อง
ปัจจุบันระบบ Health Link มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และสถานพยาบาลอื่น ๆ ตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลได้ที่ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า Health Link จะเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับระบบสาธารณสุขยุคใหม่ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น และผู้ป่วยสามารถที่จะเข้าถึงการดูแลได้อย่างทันท่วงที โดยระบบ Health Link จะเปิดให้สมัครผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตังฯ หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ healthlink.go.th หรือ e-mail ที่ gbdi-hie@depa.or.th
เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine