รวมสุดยอดเทคโนโลยีโอลิมปิก 2020 จากโดรน จนถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ธรรมดา

Share

Loading

การแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาติหรือที่เรารู้จักกันในชื่อโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

อย่างที่ทุกคนทราบกันดี การแข่งขันต้องเลื่อนจากตารางการแข่งขันเดิม ด้วยมหันตภัยโควิด-19 ส่งผลให้ทัวร์นาเมนต์นี้ต้องเลื่อนช้ากว่ากำหนดหนึ่งปีเต็ม

การแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ครั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าจืดกว่าที่เคยเป็นมา อันเนื่องมาจากเจ้าภาพอย่างประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจให้มีการแข่งขันต่อไป เพียงแต่ไม่อนุญาตให้แฟนกีฬาเข้าไปยังสนาม โดยในหนังสือ The Playbook หรือคู่มือสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก ซึ่งมีความหนา 33 หน้า ระบุเอาไว้ว่านักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันจะรับชมได้เฉพาะกีฬาที่พวกเขาลงแข่งขัน ไม่สามารถไปดูกีฬาอื่นได้

ถึงกระนั้น ถ้าใครเป็นแฟนฟุตบอลก็คงคุ้นเคยกับบรรยากาศนี้ดี เพราะในฤดูกาล 2019-20 ลีกฟุตบอลต่างก็ลงแข่งด้วยสนามอันโล่งโจ้งไร้เงาของแฟนฟุตบอลแบบนี้เป๊ะ

ว่าไปแล้ว ถ้าหากโลกของเราไม่ต้องเผชิญกับภัยของโรคระบาดเราก็น่าจะได้เห็นการพูดถึงเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2020 อีกไม่น้อย เพราะอันที่จริงแล้ว เจ้าภาพอย่างประเทศญี่ปุ่น พวกเขาได้ทุ่มสรรพกำลังเนรมิตความไฮเทคเพื่ออวดนักกีฬาที่เปรียบดั่งแขกบ้านแขกเมืองนับหมื่นคนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย

เริ่มต้นที่โตโยต้า (Toyota) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งได้ให้การสนับสนุนการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ในครั้งนี้ด้วย โดยเข้ามาช่วยเหลือในด้านยานพาหนะ มีการนำรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งควบคุมสั่งการจากทางระยะไกลให้นักกีฬาได้ลองสัมผัส

การออกแบบรถยนต์คันนี้ของโตโยต้าคิดจากหลักการของรถยนต์สำหรับโลกอนาคต มีลักษณะคล้ายกับลูกบาศก์ เน้นความคล่องตัว ใช้งานได้ทั้งคนทั่วไปและคนที่ต้องใช้รถเข็น นอกจากนี้ รถยนต์คันดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากแบตเตอรี่ ไปจนถึงพลังงานไฮโดรเจน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิก จะเริ่มต้นขึ้นทางโตโยต้า ตัดสินใจยกเลิกโฆษณาต่างๆ พร้อมกับไม่เข้าร่วมในพิธีเปิดโอลิมปิก เนื่องจากมีความกังวลในแง่ภาพลักษณ์ หลังจากชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยต่อต้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิก เพราะประเทศญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดรุนแรง

แม้โตโยต้าจะถอนตัว แต่ทางฝั่งอินเทล (Intel) ผู้ผลิตชิปเซตรายใหญ่ของโลกก็ยังยืนอยู่ข้างโอลิมปิก โตเกียว 2020 โดยในช่วงของพิธีเปิด อินเทลได้มีการนำโดรนจำนวน 1,825 ตัว เพื่อประกอบกันให้มีลักษณะคล้ายกับลูกโลก ซึ่งปรากฏอยู่เหนือโอลิมปิก สเตเดียม

ก่อนหน้านี้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ 2018 อินเทล ก็เคยใช้โดรนจำนวนกว่า 1,200 ตัวมาแปรอักษรเป็นสัญลักษณ์ห้าห่วงของโอลิมปิกในช่วงพิธีเปิดมาแล้วเช่นกัน

ในส่วนความปลอดภัยของนักกีฬา ทางคณะกรรมการโอลิมปิกได้วางมาตรการความปลอดภัยที่ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยได้มีการนำ Fugaku ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่พัฒนาโดย RIKEN และฟูจิตสึ (Fujitsu) มาช่วยทำการวิเคราะห์โควิด-19 ผ่านการจำลองสถานการณ์การกระจายของละอองฝอยภายในหมู่บ้านนักกีฬา และสถานที่ต่างๆ ที่อาจเป็นจุดอับ แล้วนำไปคำนวณโอกาสในการแพร่กระจายของไวรัส ก่อนหน้านี้ Fugaku เคยถูกนำไปทดลองใช้ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อใช้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนเส้นทางอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยมาแล้ว

พร้อมกันนี้ นักกีฬาและทีมงานของแต่ละประเทศ หลังจากมาถึงโตเกียวเรียบร้อยแล้ว จะต้องติดตั้งแอปอย่างเป็นทางการของโอลิมปิก โตเกียว 2020 ร่วมกับแอปด้านสุขภาพ OCHA (Online Check-in and Health Report App) และ COCOA (Contact Confirming App) เพื่อดูรายงานด้านสุขภาพและการติดตามตัว

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกหยิบมาใช้ในครั้งนี้ก็คือเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) แม้ว่าจะไม่ได้นำมาใช้ในการแข่งขันโดยตรง แต่ก็ถูกนำมาใช้สำหรับการโปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศ (ในอนาคต เมื่อภาวะโควิดสิ้นสุดลง) ถ้าหากนักกีฬาคนไหนชื่นชอบศิลปะ ประวัติศาสตร์ ข้าวของโบราณต่างๆ คุณก็จะได้รับชมปราสาทโอซุที่สร้างจากไม้แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเอฮิเมะ, ปราสาทโอซากาอันโด่งดัง รวมถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียวพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติ และมิไรคัง (Miraikan) หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติ ก็มีให้รับชมแบบออนไลน์ มาบริการนักกีฬาเช่นกัน

ส่วนระหว่างการแข่งขัน โดยเฉพาะกีฬายิงธนู จะเป็นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิก ที่จะมีการแสดงข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจออกมาแบบเรียลไทม์ ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นกราฟิกบนหน้าจอ ผ่านการจับของกล้องจำนวน 4 ตัว และจะมีกล้องตัวหนึ่งโฟกัสไปที่หน้าของนักกีฬา เรียกได้ว่าในการแข่งขันครั้งนี้เราจะได้เห็นอะดรีนาลีนของนักกีฬาอย่างชัดเจนที่สุด

เช่นเดียวกับการแข่งขันกรีฑา ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยี 3D Athlete Tracking System พัฒนาโดยอินเทลและอาลีบาบา เริ่มจากกล้อง 4 ตัว เพื่อจับภาพให้ครบทุกมิติ จากนั้นอัลกอริทึมที่พัฒนามาจะประเมินรูปแบบ การเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เพื่อรายงานเป็นข้อมูลเชิงลึกต่อไป

นอกจากนี้แล้ว เหรียญรางวัลทุกเหรียญที่นักกีฬาได้จากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ทุกเหรียญล้วนผลิตมาจากโลหะของอุปกรณ์ไฮเทคประเภทต่างๆ แล้วมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล โดยคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการเปิดรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้งานแล้วมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2017 ซึ่งในท้ายที่สุดรวบรวมโลหะจำเป็นได้มากถึง 78,895 ตัน โทรศัพท์มือถือ 6.21 ล้านเครื่อง สุดท้ายสกัดออกมาได้เป็นทองคำจำนวน 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม รวมถึงยังมีความน่าสนใจของเสื้อแข่งของทีมชาติสวีเดน ซึ่งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สวีเดนมีสปอนเซอร์เป็นยูนิโคล่ (Uniqlo) ผู้นำด้านธุรกิจเสื้อผ้าลำลองของญี่ปุ่น ซึ่งเสื้อแข่งทุกตัวของทีมชาติสวีเดนได้ใช้โพลีเอสเตอร์ ที่รีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติก เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืนของโลกใบนี้ เรียกได้ว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2020 กรุงโตเกียว เป็นการแข่งขันที่มีมิติรอบด้าน ทั้งในสนามและนอกสนามเลยก็ว่าได้

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/news/tech/technology/2155301