ดัชนีเมืองปลอดภัย 2021 เป็นรายงานจาก The Economist Intelligence Unit ซึ่งสนับสนุนโดย NEC Corporation รายงานนี้จัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ด้วยการจัดอันดับเมือง 60 เมืองทั่วโลก จาก 76 ตัวชี้วัด ที่ครอบคลุมในหลากหลายด้าน ทั้งดิจิทัล สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยส่วนบุคคล และสิ่งแวดล้อม สำหรับปีนี้ 10 เมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก 10 อันดับแรก (อยู่ในเอเชียแปซิฟิก 6 เมือง ยุโรป 3 เมือง และอเมริกาเหนือ 1 เมือง) ได้แก่ โคเปนเฮเกน โตรอนโต สิงคโปร์ ซิดนีย์ โตเกียว อัมสเตอร์ดัม เวลลิงตัน ฮ่องกง เมลเบิร์น และสตอกโฮล์ม ตามลำดับ โดยแชมป์เก่าจากการจัดอันดับครั้งที่แล้ว คือ โตเกียว ร่วงลงมาอยู่อันดับ 5 ขณะที่โคเปนเฮเกน ทะยานขึ้นมาจากอันดับ 8 ขึ้นมายืนหนึ่งเหนือตาราง ส่วนกรุงเทพฯ อยู่อันดับ 43 ของโลก และอันดับ 16 ของเอเชียแปซิฟิก
Fang Zhao ศาสตราจารย์ด้านนวัตกรรมและกลยุทธ์ Staffordshire Business School กล่าวว่า “โควิด-19 นำไปสู่วิกฤตที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ได้เปลี่ยนแนวคิดทั้งหมดเกี่ยวกับความปลอดภัยในเมือง” โดยความปลอดภัยทางดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากในสำนักงานเป็น Work from Home หรือ Work from Anywhere และในแง่ของการทำธุรกิจที่มีการค้าทางออนไลน์มากขึ้น ผู้ที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรูปแบบการเดินทางและที่ที่ผู้อยู่อาศัยใช้สาธารณูปโภค หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล จำเป็นต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาชญากรรมในขณะที่มีการล็อกดาวน์ และการดูแลความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนี้”
“ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ The Economist Intelligence Unit ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก NEC ที่จะนำเสนอดัชนีเมืองปลอดภัยฉบับที่ 4 ดัชนีนี้ครอบคลุมเมืองใหญ่ 60 เมืองทั่วโลก และมี 76 ตัวชี้วัด ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในเมืองในด้านต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 5 ปัจจัยสำคัญได้แก่ ความปลอดภัยส่วนบุคคล สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล รวมถึงดัชนีชี้วัดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ คือ ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม”
อันดับด้านบนของตารางมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยที่โคเปนเฮเกนเป็นอันดับ 1 โดยมี 82.4 คะแนนจาก 100 คะแนน และโตรอนโตตามมาติดๆ 82.2 คะแนน แต่เมืองที่ปลอดภัยที่สุดใน “ดิวิชั่นแรก” ส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม ในรายงาน 3 ครั้งล่าสุด โตเกียว สิงคโปร์ และโอซาก้า อยู่ในลำดับต้นๆ เสมอ และแม้ว่าเมืองต่างๆ ของอเมริกาจะไม่อยู่ 10 อันดับแรกของตาราง แต่ก็ถือว่ามีความปลอดภัยทางด้านดิจิทัล โดยลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโก อยู่ใน 5 อันดับแรก ของหมวดหมู่นี้
Lars Weiss นายกเทศมนตรีเมืองโคเปนเฮเกน บอกถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้โคเปนเฮเกนเป็นเมืองที่ปลอดภัยอันดับ 1 ของโลกว่า “ทุกคนควรรู้สึกปลอดภัยในโคเปนเฮเกน ไม่ว่าเด็กหรือผู้สูงอายุ ชายหรือหญิง รวมถึง LGBTI+ หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ นั่นคือเหตุผลที่เราทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยสำหรับพลเมืองของเรา ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โคเปนเฮเกนเป็นเมืองที่ปลอดภัยคืออัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่าทศวรรษ เรามุ่งเน้นอย่างมากในการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุ หลายอย่างต้องอาศัยความร่วมมือในท้องถิ่นระหว่างโรงเรียน สโมสรเยาวชน หน่วยงานบริการสังคม และตำรวจ นอกจากนี้ โคเปนเฮเกนยังโดดเด่นด้านความสามัคคีในสังคมและความเหลืื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ โคเปนเฮนเกนป็นเมืองที่ผู้คนต่างสถานะอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เราจะเห็นพนักงานทำความสะอาดและซีอีโอบริษัทใหญ่ใช้บริการที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นและให้ลูกเรียนในโรงเรียนเดียวกัน นี่เป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญของวัฒนธรรมเดนมาร์ก ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อความไว้วางใจและความปลอดภัยที่เราทุกคนในเมืองนี้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน”
อย่างไรก็ตาม ต่อให้เมืองหลวงของเดนมาร์กจะยืนหนึ่งเหนือเมืองใดในโลก แต่พ่อเมืองโคเปนเฮเกนเห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่ “แม้ว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมจะลดลงทุกปี แต่เรายังคงมีความท้าทายจากการที่เยาวชนกระทำความผิดซ้ำๆ เราจึงต้องโฟกัสที่การจัดการกับแก๊งค์อันธพาลต่อไป ทั้งในแง่ของการปราบปรามและการป้องกัน สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่าเด็กที่อ่อนแอและเยาวชนได้รับการสนับสนุนในการป้องกันที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้พวกเขาเข้าไปพัวพันกับอาชญากรรม ขณะที่อีกพื้นที่หนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับจักรยาน เพราะประชากรเกือบครึ่งของเราปั่นจักรยานไปโรงเรียนหรือไปทำงาน ดังนั้น หนึ่งในความสำคัญหลักของเราคือ การดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับนักปั่นจักรยาน โดยเฉพาะพลเมืองที่อายุน้อยที่สุดของเรา ควรรู้สึกปลอดภัยในการปั่นจักรยานหรือเดินไปโรงเรียน”
ต่อคำถามที่ว่าแล้วโคเปนเฮเกนจัดการกับปัญหาความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร Weiss ให้คำตอบว่า “เราตั้งเป้าที่จะเป็นเมืองหลวงที่ปราศจากคาร์บอนแห่งแรกของโลก ภายในปี 2025 ซึ่งต้องใช้ 2 แนวทาง นัั่นคือเราหน้าที่รับผิดชอบทั้งในแง่ของการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนเมืองของเราให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตด้วย โดยในการบรรเทาผลกระทบ เรากำลังพยายามอย่างมากในการลดการใช้พลังงาน เราลงทุนในพลังงานสีเขียวและส่งเสริมการเดินทางที่ลดการสร้างมลพิษ (ปั่นจักรยาน/เดิน) ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาเมืองในทางที่ยั่งยืน นอกจากนี้ โคเปนเฮเกนกำลังดำเนินมาตรการปรับสภาพภูมิอากาศ ด้วยปรับปรุงความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีส่วนทำให้การอยู่อาศัยในเมืองหลวงดีขึ้น โดยเราได้สร้างสวนสาธารณะใหม่และพื้นที่สีเขียวในเมือง รวมถึงการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย”
ขณะที่ในแง่ของความท้าทายจากการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 Weiss บอกว่า “ในการป้องกัน เราได้ดำเนินการรณรงค์ด้านการสื่อสารอย่างกว้างขวางผ่านโซเชียลมีเดีย และในที่สาธารณะ เราก็มีการสื่อสารโดยตรงเฉพาะกลุ่มต่างๆ ผ่านองค์กรต่างๆ ด้วยการสื่อสารที่ใกล้ชิดกับพลเมืองมากขึ้น ทำให้เราจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเราได้ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ยังช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เช่น การจัดสรรเงินเป็นจำนวนมากสำหรับโรงเรียนเพื่อจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพิ่มเติม หลังจากโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง และโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือร้านอาหาร โรงแรม และร้านค้าต่างๆ ด้วย”
ส่วนกรุงเทพฯ อยู่อันดับ 43 ของโลก และอันดับ 16 ของเอเชียแปซิฟิก ด้วยคะแนน 60.2 เหนืออีก 17 เมืองในรายงานนี้ ที่อยู่อันดับต่ำกว่า ได้แก่ กีโต โฮจิมินห์ จาการ์ตา โจฮันเนสเบิร์ก นิวเดลี ริยาด มุมไบ มะนิลา บากู คูเวตซิตี้ (มะดีนะฮ์อัลกุวัยต์) ธากา คาซาบลังกา ลากอส ไคโร การากัส คาราจี และย่างกุ้ง ตามลำดับ
รายงานนี้ชี้ว่า รายได้และความโปร่งใสยังคงมีความสัมพันธ์อย่างมากกับคะแนนดัชนีที่สูงขึ้น เมืองที่มีคะแนนสูงกว่าในดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ก็มีผลลัพธ์เมืองปลอดภัยที่ดีเช่นกัน รายได้ของเมืองสามารถช่วยลงทุนในการเพิ่มความปลอดภัย แต่ขณะเดียวกันการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ได้รับประโยชน์จากความปลอดภัยในทุกๆ ด้านด้วย
นอกจากนี้ ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอาจมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ในบรรดาเมืองที่มีรายได้สูง คะแนนโดยรวมจะแตกต่างกันเล็กน้อย และมีความโดดเด่นในแต่ละด้านแตกต่างกันไป เช่น เมืองที่มีฐานะร่ำรวยในเอเชียแปซิฟิกมีคะแนนโดยเฉลี่ยของความปลอดภัยด้านสุขภาพดีกว่า ส่วนเมืองในยุโรปฉายแสงด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล ขณะที่เมืองในอเมริกาเหนือมาแรงในด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล โดยความแตกต่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยด้านต่างๆ อาจเป็นผลมาจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือระดับเมือง
สำหรับการรักษาความปลอดภัยด้านดิจิทัลในระดับเมือง ส่วนใหญ่ยังไม่เพียงพอสำหรับความต้องการในปัจจุบัน และในอนาคตความไม่มั่นคงด้านนี้จะยิ่งทวีคูณขึ้น เนื่องจากพื้นที่เขตเมืองต่างๆ กำลังเดินหน้าไปสู่เมืองอัจฉริยะมากขึ้น ข้อมูลจากรายงานนี้แสดงให้เห็นว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกำลังแพร่หลาย แม้กระทั่งในเมืองที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ ในขณะเดียวกัน 59 เมืองจาก 60 เมืองในการจัดอันดับนี้ ได้เริ่มกระบวนการการปั้นเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะหรือแสดงความกระตือรือล้นที่จะก้าวไปในทิศทางนี้ ซึ่งยิ่งจะทำให้ระดับความปลอดภัยดิจิทัลในปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่ากังวล
Gregory Falco ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและระบบ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ตั้งข้อสังเกตว่า “ความปลอดภัยทางดิจิทัลของเมืองโดยทั่วไปนั้นแย่มาก” การปรับปรุงให้ดีขึ้น จำเป็นต้องมีการทบทวนการรักษาความปลอดภัยดิจิทัลในหลายระดับ เมืองต้องมองว่าเป็นการลงทุน หรืออย่างน้อยเป็นนโยบายที่จำเป็น แทนที่จะเป็นต้นทุนที่เปล่าประโยชน์ และต้องเข้าใจว่าการรักษาความปลอดภัยดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ ต้องเกี่ยวข้องกับการจัดหาระดับความปลอดภัยที่ประชาชนคาดหวังและต้องการ เพราะเมืองอัจฉริยะจำเป็นต้องสร้างขึ้นตามสิ่งที่ชาวเมืองต้องการ มิฉะนั้นจะล้มเหลว
แม้ว่ารายงานนี้จะแสดงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในตัวชี้วัดความปลอดภัยด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญรายงานว่า โควิด-19 อาจส่งผลกระทบทำให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า และอาจทำให้การตัดสินใจบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของประชากรที่เปลี่ยนไป โดย Adie Tomer ผู้นำโครงการ Metropolitan Infrastructure Initiative ของ Brookings Institution อธิบายว่า การทำงานจากที่บ้านที่มากขึ้น การพาณิชย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น และความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นสำหรับชุมชนเมืองที่ยั่งยืนมากขึ้น ด้วยบริการต่างๆ ที่ทำให้สามารถเดินหรือปั่นจักรยานไปถึงได้ ล้วนมีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและแอฟริกา หมายความว่าในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชาวเมืองโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ที่มา : Safe Cities Index 2021, New expectations demand a new coherence
แหล่งข้อมูล https://www.salika.co/2021/08/29/safe-cities-index-2001-key-findings/