Virtual Reality (VR) พัฒนาสมอง

Share

Loading

Virtual Reality (VR) หรือ เทคโนโลยีความจริงเสมือน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่โดยความจริง ๆ แล้ว เทคโนโลยี VR ยังสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย

ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้มีการรับรองว่า เทคโนโลยี VR สามารถกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้มนุษย์มีความฉลาดมากขึ้นอีกด้วย

การทำงานของสมอง

ได้มีการเปรียบเปรยว่าถ้าก้อนสมองของมนุษย์คือโลกทั้งใบ เซลล์ประสาทต่าง ๆ ของสมองก็คือประเทศแต่ละประเทศ ที่มีรัฐบาล มีการทำงาน มีจัดการปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เช่น

  • เปลือกสมองส่วนการเห็น (Visual Cortex) ซึ่งมีหลายชั้นที่ค่อยๆ ประมวลผลสิ่งที่เราเห็น
  • คอร์เทกซ์สั่งการ (motor cortex) ทำหน้าที่ในการสั่งการและควบคุการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแต่ละส่วน
  • สมองส่วนฮิปโปแคมปัส จะประมวลผลความทรงจำ เป็นต้น

และแม้ว่าจะมีการแบ่งแยกพื้นที่การทำงานและควบคุมดูแลในส่วนที่แตกต่างกันไป แต่สมองจะมี “คลื่นไฟฟ้าสมอง” ซึ่งทำหน้าที่ในการนำพาข้อมูลจำนวนมหาศาลไปยังทั่วสมอง เพื่อประสานการทำงานของระบบประสาทที่อยู่ห่างกัน เปรียบเสมือนนักการทูตที่ค่อยประสานความรวมมือ ให้แต่ละประเทศสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา

โดยคลื่นสมองจะมีอยู่ 4 ประเภทหลัก ซึ่งจะแบ่งตามความรวดเร็วของการแกว่งที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น คลื่นเบต้าจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีสมาธิและรู้สึกมีส่วนร่วม คลื่นอัลฟ่าจะเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังผ่อนคลายบนโซฟา นั่งจิบชาอุ่นๆ เป็นต้น

แต่หัวใจหลักที่เราจะกล่าวถึงก็คือ “คลื่นธีต้า” ซึ่งเป็นคลื่นที่มีจังหวะค่อนข้างช้า ช่วยกระตุ้นสภาวะให้มีความคิดไหลลื่น โดยสภาวะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการเรียนรู้และจดจำของเรา และช่วยเรื่องความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแปลกใหม่ โดยคลื่นธีต้ายังทำงานร่วมกับคลื่นสมองอื่น ๆ เพื่อช่วยให้เราระลึกถึงความทรงจำส่วนตัว ที่ได้สูญหายไปจากโรคอัลไซเมอร์

คลื่นธีต้าจะทำงานเมื่อเราตื่น จะเพิ่มขึ้นเมื่อเราเดิน และจะหายไปเมื่อเราหลับ แต่จะกลับมาใหม่เมื่อเราฝัน โดยในงานวิจัยมากกว่า 70,000 ฉบับ พบว่าคลื่นธีต้ามีความสำคัญต่อความรู้ ความเข้าใจ การเรียนรู้ และความจำ รวมถึงคลื่นนี้จะมีจังหวะที่ผิดปกติในคนที่ป่วยเป็นโรคลมชักอัลไซเมอร์ โรคสมาธิสั้น และโรควิตกกังวล

เป็นเวลาหลายปีที่มีการใช้ยาเพื่อเพิ่มจังหวะของคลื่นธีต้า แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยสมอง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส หรือ UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบวิธีเพิ่มจังหวะของคลื่นสมองประเภทนี้ในหนู โดยการนำมันเข้าไปอยู่ในการจำลองเสมือนจริง (ผลการวิจัยของพวกเขาถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience)

ศาสตราจารย์ Mayank Mehta แห่ง UCLA ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยนี้ เชื่อว่าความก้าวหน้าครั้งนี้จะทำให้ VR สามารถนำมาใช้เพื่อปฏิวัติการรักษาโรคจิตเวช และยังสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเพื่อช่วยให้ผู้คนเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น

VR ทำให้คนเราฉลาดขึ้นได้อย่างไร

VR สามารถนำมาใช้สำหรับการรักษาโรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจ ในคนที่ผ่านพ้นประสบการณ์อันกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder) หรือสภาวะป่วยทางจิตใจ

รวมถึง VR ยังช่วยฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยได้อย่างยอดเยี่ยม โดยมีข้อพิสูจน์ได้ว่าจะก่อนให้เกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายใน ในผู้ป่วยติดเตียง

ศาสตราจารย์ Metha กล่าวว่า VR จะสามารถส่งผลดีต่อสมองเพราะทำให้เรารู้สึกว่ามีชีวิตในโลกเสมือนจริง เขาบอกว่ามีบางอย่างในกระบวนการทำงานของ VR ที่เกิดขึ้นในห้องทดลองของเขา ที่ศึกษาผ่านหนูทดลองระบุว่า VR อาจส่งผลกระทบต่อสมองในระดับลึก รวมถึงส่งผลต่อคลื่นธีต้า ซึ่งในที่สุดอาจส่งผลต่อการรักษาและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ในกระบวนการทดลองนั้น เขาจะนำหนูเข้าไปในอุปกรณ์เสมือนจริงขนาดเล็ก ซึ่งเขาพบว่า หนูได้วิ่งอยู่ในโลก VR ซึ่งมีความเหมือนจริงมากจนหนูชื่นชอบ และกระโดดโลดเต้นอยู่ในนั้น รวมถึงยังเล่นเกมอย่างมีความสุข โดยหนูที่วิ่งอยู่ใน VR จะมีจังหวะของคลื่นธีต้าที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับการวิ่งในโลกแห่งความเป็นจริง

ศาสตราจารย์ Mehta กล่าวว่า “เรารู้สึกทึ่งเมื่อเห็นผลกระทบมหาศาลของประสบการณ์ VR ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพจังหวะของคลื่นธีต้า และนี่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า VR สามารถ ฝึกสมองส่วนฮิปโปแคมปัสได้ นั่นหมายความว่าเราอาจลดความเสียหายในสมองที่พบในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้”

“อาจเป็นได้ว่า VR มี input ทางประสาทสัมผัสที่แตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเราสำรวจโลกจริงเราได้รับข้อมูลจากอวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ตา จมูก หู และประสาทสัมผัสอื่น ๆ มากมายที่ VR ไม่มี แต่ VR สามารถกระตุ้นคลื่นธีต้าได้ เพราะใน VR เราอาศัยแค่การมองเห็นก็เพียงพอแล้ว”

โดยเขาย้ำว่า “VR สามารถใช้ เพื่อรักษาความบกพร่องทางการเรียนรู้และความจำได้เป็นอย่างดี”

จากการรายงานดังกล่าว อาจจะเป็นการสะท้อนให้เราเห็นว่า โลกยุคใหม่กำลังหมุนไปอย่างน่าติดตาม กับสภาวการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ท่ามกลางโรคระบาดและการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ที่จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เทคโนโลยี VR อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการที่จะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดไปในปัจจุบัน

เนื่องจาก VR มีความสามารถในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานได้อย่างสมจริง และเหนือจริง ไม่ว่าจะเป็นภาพหรือเสียง โดยในอนาคตอาจจะพัฒนาไปถึงการได้กลิ่น หรือลิ้มรส อีกด้วย

ดังนั้น อุตสาหกรรม VR กำลังถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และมีความเติมโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเมินว่าขนาดตลาด VR ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็น 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567

เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine

เครดิตภาพ www.pexels.com